posttoday

ถุงดำปฏิรูปตำรวจ เลี้ยงอำนาจสีกากี รักษาฐานการเมือง

11 กันยายน 2564

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

****************

จาก คดีบอส สู่ คดี ผู้กำกับโจ้ คำถามถึงการปฏิรูปตำรวจที่ไม่มีความคืบหน้าในรัฐบาล สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาลประยุทธ์ในช่วง 7 ปี ที่อยู่ในอำนาจ สุดท้ายเป็นเพียงลมปากที่ถูกครอบด้วยถุงดำ

คดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.โจ้ แห่ง สภ.เมืองนครสวรรค์ กับลูกน้องใช้ถุงพลาสติกครอบหัวทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต สร้างความอื้อฉาวและรอยด่างในวงการตำรวจ กล้องวงจรปิดตีแผ่พฤติกรรมดิบ ก่อน อดีตผกก.โจ้จะถูกตั้งข้อหาทารุณโหดร้ายคลุมถุงฆ่ามียาเสพติดไว้ในครอบคครอง ก่อนมีการขยายผลปม อดีตผกก.โจ้ พบเรื่องราวสั่นสะเทือนวงการสีกากี อายุเพียง 39 ปี แต่มีทรัพย์สินมากมาย ซูปเปอร์คาร์ในครอบครองหลายสิบคัน ยังอาศัยช่องโหว่กฎหมายที่ได้จากรางวัลนำจับรถหรูเถื่อนจากกรมศุลกากรอยู่ที่ร้อยละ 45 ของราคาประมูล ประเมินว่า มีเงินเข้ากระเป๋า อดีต ผกก.โจ้ 400-500 ล้านบาท จน ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบปมร่ำรวยผิดปกติ

กรณีผู้กำกับโจ้ เป็นตัวอย่างตำรวจนอกรีตที่ใช้อำนาจส่อหาประโยชน์ จนร่ำรวย เชื่อว่าไม่ได้มีเพียงรายเดียวในสตช. ที่ผ่านมา เราเห็น คนมีสี ผันตัวเป็นผู้มีอิทธิพลประพฤตินอกลู่นอกทาง หากินกับเงินใต้ดิน รับส่วย บ่อน ตู้ม้า ค้าของผิดกฎหมาย ยาเสพติด แหล่งอบายมุข อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

เรื่องราวของนายตำรวจรายนี้ ครบเครื่องทั้งพฤติกรรมซ้อมทรมานผู้ต้องหา ส่อว่าใช้อำนาจหาประโยชน์ ร่ำรวยผิดปกติ เติบโตในหน้าที่การงานรวดเร็ว ท่ามกลางเสียงวิจารณ์มีตั๋วพิเศษ เส้นสายดี เข้าหานายเก่ง ถือเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งใต้ฐานรากของปัญหาในวงการตำรวจที่สะสมมายาวนาน

สังคมเองก็ไม่เชื่อมั่นในความโปร่งใสขององค์กรตำรวจว่าจะใช้อำนาจรักษากฎหมายอย่างเที่ยงธรรม เสมอภาค ไม่ช่วยพรรคพวก ไม่สองมาตรฐานเมื่อเทียบกับประชาชนตาดำๆ ที่ต้องคดีมากมาย การสอบสวนคดี อดีตผกก.โจ้เองยังถูกตั้งคำถามว่า ตำรวจจะช่วยเหลือกันเองอีกหรือไม่

โดยเฉพาะการที่ผบ.ตร.นำ อดีตกก.โจ้มาแถลงข่าววันแรกที่มอบตัว เกิดข้อวิจารณ์มากมาย การตัดบทไม่ให้ผู้สื่อข่าวตั้งคำถาม การไม่ใส่กุญแจมือทั้งที่โดนตั้งข้อหารุนแรง หรือ การไม่พยายามสืบสวนคนที่นำ อดีตผกก.โจ้มามอบตัวเพราะเข้าข่ายให้ที่หลบซ่อนผู้ต้องหา

คดี อดีตกก.โจ้ ไม่ต่างจากคดีบอส วรวุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ตำรวจชั้นผู้น้อย สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 แต่อัยการกลับสั่งไม่ฟ้องบอส ขณะที่ตำรวจช่วยเหลือ ไม่ทำความเห็นแย้งอัยการ สร้างความอับอายให้กับวงการยุติธรรม แถมยังฉาวโฉ่ไปทั่วโลก สังคมก่นด่าทั้งเมืองว่าเป็นเพราะอำนาจเงินที่พยายามช่วยให้ทายาทมหาเศรษฐีผู้นี้พ้นผิด ผ่านมา 9 ปี ยังเอาตัวบอสส่งฟ้องไม่ได้ เพราะหลบหนีในต่างแดน ขณะที่ ตำรวจและอัยการ รวมถึงนักการเมือง สนช. ในยุคนั้น ที่เข้าข่ายต้องถูกเอาผิดเพราะร่วมทำเป็นขบวนการช่วยเหลือบอส ตามผลสรุปของคณะกรรมการ ชุดวิชา มหาคุณ ที่นายกฯตั้งให้เป็นประธานเมื่อปีที่แล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่รับผลสรุปชุดวิชามาดำเนินการต่อเพื่อเข้าสู่กระบวนการตั้งเรื่องส่งฟ้องอาญา บอกว่า ต้องใช้เวลาสอบสวนตั้งสำนวนใหม่ หากจะส่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ อัยการ หรือ นักการเมือง ก็อาจไม่เกิน 1 ปี ครึ่งตามอำนาจที่ให้ไว้ในกฎหมาย ฟังแล้วประชาชน หมดหวังกับ ป.ป.ช. และกระบวนการยุติธรรมไทยที่อยากเห็นมีการลงโทษขบวนการช่วยเหลือบอสอย่างรวดเร็ว

ส่วน องค์กรอัยการ สัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาความผิดของนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ที่เป็นผู้ลงนามคำสั่งไม่ฟ้องบอส สรุปผล นายเนตร เพียงแค่ ไม่มีความผิดร้ายแรง จนบอร์ดอัยการที่จะต้องชี้ชะตา นายเนตร ในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (8ก.ย.) ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป อ้างว่า เอกสารเยอะ อ่านไม่ทัน

อย่าลืมว่า ผลสอบของชุดวิชา ตีแผ่องค์กรตำรวจ อัยการ ต่อการทำคดีบอสว่า มีกระบวนการทำสำนวนสมยอมโดยไม่สุจริตตามทฤษฎีสมคบคิดร่วมกันเป็นขบวนการ ทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ ฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องที่มีความไม่ชอบมาพากลทำสำนวนเสียตั้งแต่ต้น พร้อมเปรียบเปรยว่าต้นไม้พิษย่อมให้ผลเป็นพิษ ดังนั้นต้นไม้พิษต้องฟันทิ้ง คดี "บอส" แม้สุดท้ายมีการตั้งเรื่องเอาผิด "บอส" ขึ้นมาใหม่เพื่อไม่ในคดีขับรถชนคนตายโดยอ้างมีหลักฐานใหม่คือ บอสเสพยาเสพติดโคเคน ดังนั้น คดียังเดินหน้า แต่การเอาคนช่วยเหลือบอส มาลงโทษยังล่าช้า หลายคนเชื่อว่า ที่สุดคงไม่มีสำเร็จแน่เว้นแต่ ต้องอาศัยกระแสสังคมจับตา ไม่ให้องค์กรตรวจสอบออกนอกลู่นอกรอย

คำถาม คือ เมื่อไร การปฏิรูปตำรวจเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้จะสำเร็จเสียที ทำไมมันยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาทั้งที่ทุกฝ่ายเห็นปัญหาร่วมกัน...

พล.อ.ประยุทธ์ ขึงขังว่าต้องเดินหน้าปฏิรูปองค์กรยุติธรรมให้ได้ โดยเฉพาะองค์กรตำรวจ จนถูกบรรจุเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศเร่งด่วน ก่อนจะมีการออกร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติเข้าสภา หลายคนตั้งความหวังว่าจะเป็นทางออกเพื่อผ่าตัดปัญหาในวงการสีกากีทั้งเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง การเลื่อนขั้น ตั๋วช้าง เป็นต้นเหตุให้ต้องมาถอนทุน สุดท้ายผ่านมา 4 ปี นับแต่มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นทางการและเริ่มทำต้นร่างเค้าโครงกฎหมายฉบับนี้ แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ขณะนี้อยู่ในชั้นการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาในชั้นรัฐสภา พิจารณาไปเพียง 14 มาตราจาก 172 มาตรา

ทั้งที่ ร่างกฎหมายดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยว่า ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ เช่นเดียวกับ กฎหมายปฏิรูปการศึกษา แต่จนขณะนี้เลยมา 3 ปีการปฏิรูปตำรวจเพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ ไม่อยู่ใต้อาณัฐอื่นใด ปรับปรุงกระบวนการสอบสวนคดีอาญา ก็ยังไม่เสร็จ ที่สำคัญ ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจถูกยกร่างมา 3 ครั้ง 3 ร่าง เปลี่ยนไปมาเพราะเกรงใจองค์กรตำรวจ โดยเฉพาะร่างฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ได้รับขานรับว่า ทลายปัญหาการผูกขาด การใช้อิทธิพลในองค์กรตำรวจ และ ลดการซื้อขายตำแหน่ง ก็ถูก ครม.รื้อใหม่ เพื่อประนีประนอมกับฝ่ายตำรวจ กลายเป็นร่าง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่เข้าสภาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่พิจารณาในปัจจุบัน

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เปรียบเทียบว่า ร่างกม.ปฏิรูปตำรวจแห่งชาติที่รัฐบาลเสนอมา ไม่เห็นความหวังที่จะปฏิรูปได้ เพราะร่างกม.ที่รัฐบาลเสนอมา มีจุดแตกต่างหลายประการเช่น องค์ประกอบ ก.ตร. หรือ บอร์ด สตช. ไปเพิ่มสัดส่วนของกรรมการจากตำรวจมากขึ้น การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. ก็กลับมาให้ ก.ตร.จัดเลือกเอง แทนที่จะเป็นองค์กรภายนอก เกณฑ์การแต่งตั้งให้รองผู้กำกับหรือผู้กำกับก็เปลี่ยนไป การบริหารภายในสายงานสอบสวน ก็ให้กลับไปขึ้นกับผู้บังคับบัญชาทั่วไปเหมือนเดิม แทนที่กำหนดใหม่ให้เป็น ให้มีผู้บังคับบัญชาของสายงานสอบสวนโดยตรง

องค์กรภาคประชาชนที่ตามติดการปฏิรูปตำรวจ ระบุว่า เหตุที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จริงใจในการปฏิรูปตำรวจเพราะแท้จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการให้บิ๊กๆสีกากีที่อยูในอำนาจปัจจุบันซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล รับใช้อำนาจของตนเองเพียงกลุ่มเดียว กล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กลัวการปฏิรูปตำรวจ กลัวคุมตำรวจไม่ได้ เพราะตำรวจเป็นอำนาจใหญ่ที่มีส่วนได้เสียทั้งผลประโยชน์ ทั้งอำนาจการเมืองและอำนาจรัฐและเกื้อหนุนความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง จึงต้องเลี้ยงอำนาจสีกากีไว้ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป จะได้ไม่เกิดแรงต่อต้านรัฐบาล เหมือนกลัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่อำนาจต้องตกไปอยู่กับประชาชน เพราะถ้าแก้แล้ว ไม่มี สว.250 คน มาช่วยพรรคพลังประชารัฐ

วาทะเรื่อง "ปฏิรูปประเทศ" จึงเป็นแค่ลมปากให้ดูดี แต่ภายนอกถูกคลุมด้วยถุงดำ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่มา 7 ปี ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเดินหน้าการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง เพราะยังใช้การเมืองเก่า ใช้กติกาที่ได้เปรียบ ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับ การปฏิรูปการศึกษา ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค การแย่งชิงทรัพยากร กลุ่มทุนขนาดใหญ่ยังยึดกุมทำลายทุนขนาดเล็ก ปัญหาเศรษฐกิจไทยอีกนานที่จะพ้นคำว่า "รวยกระจุก จนกระจาย"

*******************