posttoday

"ทองหล่อ"ฉาว ทำรัฐบาลเสียแต้มแก้โควิด

10 เมษายน 2564

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

******************

การระบาดของโควิดรอบสามรุนแรงกว่าทุกครั้ง ต้นเหตุกจาก คลัสเตอร์ย่านทองหล่อ แหล่งสถานบันเทิงของเหล่าไฮโซ นักธุรกิจ ผู้มีอำนาจ เจ้าของกิจการ ที่ล้วนไม่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่สนมาตรการรัฐที่คุมการเที่ยวสถานบันเทิงอย่างเคร่งครัดในช่วงโควิด

ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งกระจาย ทำลายสถิติหลายจังหวัด ที่น่าตกใจคือ พบสายพันธุ์อังกฤษครั้งแรก หลังสงกรานต์ เราอาจได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นเป็นประวัติศาสตร์วันละ1,000 คน

กรณี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีรายแรกของไทยที่ติดโควิด และกำลังถูกตรวจสอบว่า ติดโควิดเพราะไปเที่ยวผับดังย่านทองหล่อช่วงต้นเดือนเม.ย หรือไม่ ผลจากการติดโควิดของเจ้าตัวสะเทือนวงการเมือง ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทั่ง กระทรวงคมนาคม

เบื้องต้น ทีมงานของศักดิ์สยามติดโควิดไป 7 คน ยังมี สส.พรรคภูมิใจไทย ติด 1 คน คือ กิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วน รมต.ของพรรคภูมิใจไทย รวมถึง รมต. จากพรรคประชาธิปัตย์ บางส่วนที่เดินทางไปอวยพรวันเกิดพรรคภูมิใจไทยวันก่อนที่ศักดิ์สยามเข้าร่วมด้วย ต้องลาประชุมครม.และกักตัวเกือบ 10 ราย สส.ของพรรคภูมิใจไทย 61 คน ลาประชุมรัฐสภา กระทั่งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ต้องกักตัว 14 วัน เพราะมาเข้าร่วมพิธีวันครบรอบพรรค

กระแสติดโควิดเพราะเที่ยวผับกันอย่างลั้นลา แหกกฎที่รัฐบาลตั้งไว้ ทำให้สังคมถามถึง ความรับผิดชอบต่อผู้ที่เป็นรัฐมนตรี หากไปสถานบันเทิงจริง เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างสูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในการปฏิบัติตนช่วงสถานการณ์โควิดอย่างนี้

สังคมเองไม่เชื่อคำปฏิเสธสั้นๆ ของ ศักดิ์สยาม ว่า ไม่ได้ไปผับทองหล่อ การเปิดไทม์ไลน์ของเจ้าตัวโดยสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ที่ระบุว่า ศักดิ์สยาม ติดจาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ กระทรวงคมนาคม ที่ชอบไปเที่ยวย่านทองหล่อหลายครั้ง ยังเป็นที่กังขายิ่งนัก

ไม่เฉพาะสื่อมวลชนที่ตรวจสอบสัมภาษณ์พนักงานในผับ อ้างว่า มีรัฐมนตรีไปผับจริง ชูวิทย์ กลมวิศิษฐ์ จอมแฉ สำทับว่า มีภาพถ่ายรัฐมนตรีจริง และมีมากกว่า 1 รายด้วยซ้ำ ในวงน่าจะมีการคุยธุรกิจสัมปทานหมื่นล้าน พร้อมด้วย เหล่าสาวๆ หน้าใส มาอำนวยความสะดวก

นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลด้วยกัน รวมถึงฝ่ายค้าน นำกรณีศักดิ์สยามเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในสภา สิระ เจนจาคะ สส.พรรคพลังประชารัฐ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ กทม. ผู้ประกอบการ และรัฐมนตรีที่ปรากฏตามข่าวมาชี้แจงต่อ กมธ. ที่เจ้าตัวเป็นประธานอยู่ เพราะหลายประเด็นสังคมสงสัย เช่น สถานบันเทิงดังกล่าวเปิดเกินเวลาหรือไม่ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานบันเทิงประเภท ส่วนฝ่ายค้านบอกว่า ศักดิ์สยาม ทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ไม่รับผิดชอบต่อสังคม

“ศักดิ์สยาม” เป็นรัฐมนตรี ย่อมต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าประชาชนทั่วไป เขาเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆที่แก้ปัญหาโควิดของประเทศ มีอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็นรองนายกฯและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าทีมแก้วิกฤตโควิด ซึ่งมักเตือนคนไทยอย่าการ์ดตก อย่าทำผิดกฎหมาย ทุกคนจะได้รอดจากโควิด ทั้งยังเคยออกมาวิจารณ์ หมอที่ไปติดเชื้อโควิดเพราะไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ว่า ข้าราชการสาธารณสุข ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเห็น เพราะมาตรการที่ออกไปให้ประชาชนปฏิบัตินั้น เป็นมาตรการที่ทางกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น ย้อนไป เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หากจำกันได้ กรณี “ดีเจมะตูม” ที่เป็นข่าวใหญ่ติดโควิดในกทม.ต่อมา ศบค.ระบุว่า เขาเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์เนื่องจากมีผู้ติดโควิดที่เชื่อมโยงกับงานปาร์ตี้แล้ว 24 ราย แต่ดีเจมะตูมปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์ และให้ข้อมูลเท็จ

ครั้งนั้น อนุทิน รมว.สาธารณสุข บอกว่า เคสดีเจมะตูมควรใช้กล้องวงจรปิดจากโรงแรมตรวจสอบงานเลี้ยง ว่ามีใครเป็นเจ้าของงานปาร์ตี้ ผู้ร่วมงาน จะได้รู้ข้อเท็จจริง ส่วนความผิดก็มีระดับอยู่ ทั้งจำและปรับดีเจมะตูม เพราะดีเจจัดปาร์ตี้วันเกิดซึ่งอยู่ในช่วงที่ภาครัฐขอความร่วมมืออย่าจัดงานเลี้ยง ทั้งยังดื่มสุรา จึงเป็นการละเมิดชัด และถ้าปกปิดไทม์ไลน์ถือว่า ให้การเท็จกับเจ้าพนักงาน ผิดกฎหมาย ต้องดำเนินคดี เพราะไม่มีใครใหญ่กว่าหมอ ถ้าใครไม่บอกไทม์ไลน์ เราก็ต้องใช้กฎหมายจัดการ

กระทั่งต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ฟ้องดีเจมะตูมว่า ทำผิด พรก.ฉุกเฉิน ศาลสั่งจำคุก “ดีเจมะตูม” 2 เดือน ปรับเงิน 2 หมื่นบาท แต่สารภาพลดโทษเหลือติดคุก 1 เดือน ปรับ 1 หมื่น

กรณีดีเจมะตูม เทียบเคียงกรณีครั้งนี้ รัฐบาล เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องแข็งขันเหมือนอย่างที่ทำกับดีเจมะตูม ขอเปิดกล้องวงจรปิดจากสถานบันเทิงเพื่อสร้างกระจ่างว่า ไม่มีใครอยู่นอกกฎเกณฑ์ และไม่จริงอย่างที่ถูกกล่าวหา ประชาชนจะได้เกิดความเชื่อมั่นมาตรการของรัฐว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ซ้ำรอยการระบาดรอบแรกจาก สนามมวย และรอบสอง บ่อนการพนัน สินบนแรงงานต่างด้าว

อย่าลืมว่า หากผู้ป่วยปกปิดข้อมูลเจ้าพนักงานสามารถดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ส่วนการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ฝ่าฝืนกิจกรรมที่มีความเสี่ยงกับการแพร่โรค ผิด พรก. ฉุกเฉิน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

การใช้กฎหมายเข้าตรวจสอบจึงไม่ควรเลือกปฏิบัติ ระหว่างประชาชน และผู้มีอำนาจ ต้องเท่าเทียม ไม่สองมาตรฐาน

ในต่างประเทศ มีบทเรียน และความรับผิดชอบกับผู้มีอำนาจที่ฝ่าฝืนกฎคุมโควิดประเทศตัวเอง สังคมทวงถามความรับผิดชอบจนต้องแสดงสปิริตลาออก

ล่าสุด เมื่อต้นปี นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกมาแถลงขอโทษ หลังจากที่ สส.รัฐบาลได้ออกไปเที่ยวไนท์คลับ 2 แห่ง ในกรุงโตเกียว ขัดคำสั่งที่รัฐบาลขอประชาชนงดพบปะสังสรรค์ เลี่ยงออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด กระทั่งชาวญี่ปุ่นรับไม่ได้ ก่นด่า ส.ส.รายนั้นไม่ควรจะเป็นผู้แทนของประชาชนอีกต่อไป

หรือที่ไอร์แลนด์ รัฐมนตรีเกษตร ต้องลาออกจากตำแหน่งแสดงความรับผิดชอบที่ละเมิดมาตรการของรัฐบาล จากการไปร่วมงานเลี้ยงมื้อค่ำของสมาคมกอล์ฟในรัฐสภา ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งประกาศมาตรการคุมการแพร่ระบาดได้เพียงหนึ่งวัน อีกที่ คือ นิวซีแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกวิจารณ์ว่า ละเมิดมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลตัวเอง เนื่องจากได้ลูกเมียไปเที่ยวทะเล

ที่เปรู รัฐมนตรีสองคนลาออก เพราะใช้อภิสิทธิ์แซงคิวฉีดวัคซีนโควิดก่อนทั้งที่ประเทศยังไม่เริ่มโครงการ ในอาร์เจนตินาก็เช่นกัน รมว.สาธารณสุข ลาออกกรณีให้อภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มลัดคิวฉีดวัคซีนโควิด

และไทยหล่ะ ......? สุดท้าย ประชาชนจะเชื่อมั่นกฎกติกาของรัฐบาลได้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พูดปาวๆ เตือนประชาชนต้องร่วมมือไม่งั้นแก้ไม่ได้ แล้วคนในรัฐบาลที่กำหนดกติกาเองเมื่อมีข่าวอื้อฉาวอย่างนี้ จะนิ่งเงียบทำไม่รู้ไม่เห็นหรือ ขนาด ดีเจมะตูม ปกปิดไทม์ไลน์แจ้งเท็จ ยังถูกดำเนินคดี จนศาลลงโทษ ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างมาแล้ว