posttoday

ตั้ง ศบค.ปราบบ่อน- แรงงานเถื่อน อย่าซื้อเวลา... ซ้ำรอย “คดีบอส”

16 มกราคม 2564

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**************

ปัญหาที่ท้าทายรัฐบาล คือ การจัดการขบวนการขนแรงงานต่างด้าวเถื่อน กับ บ่อนการพนัน ธุรกิจสีเทาและการคอรัปชั่นอันเป็นต้นเหตุการระบาดไวรัสโควิดรอบสอง ทำให้ประชาชนต้องแบกรับผลกระทบอีกรอบทั้งที่สถานการณ์ต่างๆ กำลังดีขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีความหาญกล้า กระชากหน้ากากผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการเหล่านี้ ถึงขั้นเอาเข้าคุกเข้าตารางได้แค่ไหนหรือไม่ หรือ จะยอมให้สิ่งเหล่านี้อยู่เหนือกฎหมาย จนรัฐบาลที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย ไม่กล้าแตะ

ทั้งสองขบวนการมีคนมีสี เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร เข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะบ่อนการพนัน รับรู้กันช้านานว่า มีการจ่ายส่วยเป็นลำดับ บ่อนจึงตั้งตระหง่านอยู่รอดได้ทุกยุคสมัย เจ้าหน้าที่ไม่กล้าจัดการเพราะได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้า

กว่าที่ “บิ๊กตู่” จะกดดันให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)เด้งผู้บังคับการจังหวัดชลบุรี และ ผู้บังคับการจังหวัดระยอง ตามด้วย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ตะวันออกให้มาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ สตช. จากปัญหาบ่อนการพนัน ก็ต้องให้สื่อออกมากระทุ้ง

แต่การโยกย้าย ก็ใช่ว่า บ่อนจะหมดไป เพราะโครงสร้าง ปัญหาในระบบยังเป็นรากเหง้า แค่เปลี่ยนคนใหม่มารับผิดชอบแทน

ขบวนการขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านก็เช่นกัน ต้นเหตุการแพร่ระบาดไวรัสโควิด เป็นธุรกิจเถื่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง นายหน้า นายทุน สมคบคิดกันเป็นระบบ ใช้จุดโหว่ช่องทางธรรมชาติขนแรงงานมาต่อเนื่อง จะเรียกร้องให้รัฐบาลมาตรวจสอบ ก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ก็เพราะเจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นรับผลประโยชน์ จึงปราบไม่หมดซักที

ทั้งบ่อนและแรงงานเถื่อน กว่าข่าวจะซาลงว่า ก็ต้องให้ประชาชนก่นด่าว่า นายกฯไร้ประสิทธิภาพ จนผู้คนแม้แต่กองเชียร์ประยุทธ์ก็ไม่พอใจประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

ไม่ว่า จะมีการแฉลากไส้ ขบวนการขนแรงงานเถื่อน ตามพื้นที่ต่างๆ ค่าหัวผ่านนายหน้ากี่ครั้ง รัฐบาลก็นิ่งเงียบ ไม่คาดโทษผู้เกี่ยวข้อง กระทั่งทนายดังยื่นข้อมูลขบวนการแรงงานเถื่อนที่จ.กาญจนบุรีมาฟ้องสื่อ องค์กรสีกากี โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องรีบสรุปผลทันทีว่า ขณะนี้ สตช. ตรวจพบ ขบวนการขนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริงจำนวน 33 คน

ที่สำคัญ ขีดเส้นใต้ว่า ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 คน ตั้งแต่ระดับสัญญาบัตรจนถึงชั้นประทวน สูงสุดระดับรองผู้บังคับการ ที่เหลืออีกกว่า 10 คนเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ทั้งหมดมีพฤติการณ์ทั้งปล่อยปละละเลย บางคนมีส่วนร่วมในขบวนการลำเลียงแรงงานผิดกฎหมาย

นี่เฉพาะกาญจนบุรีที่ต้องยอมตรวจสอบก็เพราะถูกภาคประชาชนไล่บี้ แต่พื้นที่รอยต่ออื่นกับประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายจังหวัด ขบวนการขนแรงงานเถื่อนกระจายอยู่ทุกจุด ก็ยังไม่มีการลงดาบฟันเจ้าหน้าที่

รัฐบาลโดย “บิ๊กตู่” ยอมตั้ง คณะกรรมการกลางขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรก ปราบปรามบ่อน มอบหมายให้ ชาญเชาวน์ ไชยนุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ชุดสอง ดูเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย มี ภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ปปช.เป็นประธาน ทั้งสองชุดมีภารกิจ ขีดวงตรวจสอบเฉพาะช่วงเวลาที่โควิดเริ่มระบาดรอบสองเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้ต้องไปจัดการบ่อนทั่วประเทศ หรือ แรงงานเถื่อนทั้งหมดอย่างที่หลายคนคาดการณ์ คำสั่งตอนหนึ่งยังบอกว่า เพื่อชี้แนะให้นายกฯดูว่า เจ้าหน้าที่รัฐคนใดปฏิบัติมิชอบ หรือ ทุจริต

โครงสร้างของคณะกรรมการทั้งสองชุด ประกอบด้วยบิ๊กข้าราชการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแล้ว เหมือนเป็น “ศบค.ปราบบ่อน” กับ “ศบค.ปราบแรงงานเถื่อน” ทำนองเดียวกับ ศบค.เศรษฐกิจ และ ศบค. โควิด

แต่ไม่มีใครเชื่อว่า คณะกรรมการทั้งสองชุด จะมาจัดการได้ หรือเอาคนที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ เพราะมันเห็นบทเรียนเดิมๆ ที่รัฐบาลมักตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อลดกระแสความไม่พอใจของประชาชนว่ารัฐบาลแก้ปัญหาล่าช้า ที่สุดก็เข้าอีหรอบเดิม หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น คนก็จะลืม บ่อน แรงงานเถื่อนจะกลับมาเย้ยสังคมอีก

บทเรียนที่ชัดเจน คือ การแก้ปัญหาคดีบอส....

เดือนก.ค.ปีที่แล้ว “บิ๊กตู่”ลงนามตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอันสืบเนื่องจากคดี บอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555” คดีระดับชาติ เขย่ากระบวนการยุติธรรม โดยมี วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน

แรกๆ สังคมคาดหวัง คณะกรรมการชุดนี้จะเอา บิ๊กตำรวจ อัยการ ที่ช่วยเหลือบอสให้พ้นผิด มาลงโทษ คณะกรรมการใช้เวลา 1 เดือนสอบสวนเสร็จ วิชาส่งผลสรุปให้นายกฯ พร้อมกับ แถลงชำแหละความฟอนเฟะกลไกช่วยเหลือบอส ชี้เป้าว่า ใคร หน่วยงานไหน ทำผิด เป่าสำนวน ไม่ได้นำตัวมาฟ้องศาล ทำกันเป็นกระบวนการใหญ่โตระดับชาติ ทั้งสนช. ตำรวจ อัยการ นักการเมือง

นายกฯ ส่งผลสรุปชิ้นนี้กลับไปอีกทอดให้ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 9 ก.ย. หลักๆ คือ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปรับปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้จัดการเอาผิดต่อ แต่ผ่านมาเกือบครึ่งปี การส่งฟ้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ อัยการคนใด กลับมีความล่าช้า

เมื่อเรื่องเงียบ กระแสเบาลง คดีบอสที่ผู้คนเชื่อว่า เงินมหาศาลซื้อความถูกผิดได้ กำลังจะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูภาคสอง คงต้องรอให้สังคมกดดันอีกรอบแล้วค่อยมาจริงจังกัน อย่างนี้มันไม่ไหว

การตั้งคณะกรรมการปราบปรามบ่อนและแรงงานเถื่อนนี่ก็ไม่ต่างกัน ไม่ต้องไปพิเคราะห์ถึงโครงสร้างคณะกรรมการที่ดึงอดีตปลัดยุติธรรม และ อดีตกรรมการปปช. เป็นประธาน และให้รายงานผลต่อนายกฯทุก 30 วัน ซึ่งถือว่า ใช้เวลานาน ทั้งที่ข้อมูลต่างๆ ถ้าจะสืบกันจริงๆ แค่ 1-2 วัน ก็รู้แล้ว

ความจริงการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหา สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวหรือความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่แก้ปัญหาโดยตรง ในที่นี้หนีไม่พ้น องค์กรตำรวจ แก้ปัญหาธุรกิจนอกระบบไม่ได้ ยังเข้าไปพัวพันเสียเอง เป็นโอกาสที่ “บิ๊กตู่” ยึดอำนาจการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ แทนที่จะรายงานตรงกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กลับให้รายงานตรง แสดงถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเอง

สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไร คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนความหมดหวังไว้เนิ่นๆว่า คงปราบบ่อนอะไรไม่ได้แน่ “รัฐบาลทำเต็มที่แล้วในเรื่องการพนัน เพราะยังมีคนแอบไปเล่นอยู่ ไม่เข้าใจพวกนี้ทำอาชีพอะไร หรืออาชีพเล่นการพนัน จับกุมได้อยู่ทุกวันทั้งรายย่อย และพวกเล่นตามโรงแรม รีสอร์ต สิ่งสำคัญที่สุดต้องร่วมมือกัน ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการใด ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือก็ทำไม่ได้ ขอร้องช่วยกันแบ่งเบาปัญหาลงบ้าง ไม่มีใครทำสำเร็จได้เพียงคนเดียว ต่อให้ 100 นายกฯ ก็ทำไม่ได้ถ้าไม่ร่วมมือกัน”

ถ้าปัญหาบ่อนแก้ไม่ได้ ปล่อยให้ธุรกิจสีเทาอยู่เหนือกฎหมายหล่อเลี้ยงวงจรสีกากี และประชาชนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ตาสีตาสา คนเล็กคนน้อย ทำงานซื่อสัตย์สุจริต ได้รับผลกระทบจากโควิดที่มีบ่อนเป็นตัวแพร่กระจายจะรู้สึกอย่างไร ถ้านายกฯรู้และยังปล่อยให้คนทำผิดอยู่เหนือกฎหมายได้ หนำซ้ำ หากเป็นคนใกล้ตัวผู้มีอำนาจรัฐอย่างที่พูดกัน ผู้นำประเทศไม่จัดการ แล้วเราจะมีนายกฯไว้ทำไม

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ตำหนิม็อบราษฎรว่า จะจัดการอย่างเด็ดขาดเพราะรัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มิฉะนั้นบ้านเมืองจะไม่มีใครเคารพกฎหมาย ก็ควรเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ และผู้ที่ต้องรักษากฎหมายและคนในเครือข่ายอำนาจรัฐเช่นกัน

******************