posttoday

ม็อบอ่อนแรง พักยกข้ามปี แต่ระเบิดเวลา วิกฤตขัดแย้งยังไม่จบ

19 ธันวาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

***************

ม็อบราษฎรแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 เดือนสุดท้าย จนเพนกวิน แกนนำราษฎรประกาศว่า จากนี้จนถึงปีหน้าจะไม่มีการชุมนุม ให้มวลชนได้ออมแรงไว้ปีหน้า ซึ่งการชุมนุมจะเข้มข้นและยกระดับอีก

การชุมนุมของคณะราษฎรพีคสุดน่าจะเป็นเดือน ก.ย. – ต.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแยกราชประสงค์ หลังมีการสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำที่แยกปทุมวัน จากนั้นมา มวลชนสามนิ้วเข้าร่วมชุมนุมหลายหมื่นคนคึกคักแทบทุกนัด

กระทั่งช่วงปลายเดือนพ.ย. ที่มีการชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ พุ่งเป้าโจมตีไปที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปริมาณม็อบกลับไม่มืดฟ้ามัวดิน กระทั่งวันที่ 2 ธ.ค.นัดชุมนุมฟังคำตัดสินคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีบ้านพักในค่ายทหารก็ผิดคาดอีก มวลชนมาน้อย ทั้งที่ลดเพดานเป็นวาระโจมตี “บิ๊กตู่” โดยตรง

ความหวังที่จะเห็นมวลชนออกมาเต็มท้องถนนและต่อเนื่องทุกวันเพื่อกดดันพล.อ.ประยุทธ์ ลาออก รวมถึง ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่ว่าม็อบแพ้แล้วเพราะข้อเรียกร้อง 3 ข้อยังอยู่ 1. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2. พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกไป และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีเพียงการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่กำลังเดินหน้า เข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมานูญ ส่วน 2 ข้อที่เหลือ เชื่อว่า ไม่มีทางเกิดขึ้น

หากประเมินแล้ว มวลชนที่เข้าร่วมม็อบส่วนใหญ่ไม่เอา ระบอบ คสช. ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ในตำแหน่งมานานเกือบ 7 ปี ไม่เอากติกาเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม แต่เมื่อมีการชุมนุมหลายครั้ง หลากยุทธวิธีรบก็ได้บทสรุปตรงกันว่า ม็อบเดินมาทุกทางแล้วหรือไม่ อีกทั้ง มวลชนเป็นคนรุ่นใหม่ใจร้อนอยากปิดเกมให้เร็ว ไม่ชอบการยืดเยื้อ

โดยปกติแล้ว ธรรมชาติของการชุมนุม ไม่มีทางที่จะชนะน็อคผู้มีอำนาจ แม้จะยาวนานกี่เดือน ประสบการณ์ม็อบเสื้อสีก็เห็นชัด ขนาดชุมนุมเกือบปี ยังล้มรัฐบาลไม่ได้ ถ้าทหารไม่ออกมาใช้อำนาจนอกระบบยืนข้างม็อบ หรือ ฝ่ายรัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรง ปราบประชาชน หรือ เกิดปรากฎการณ์มือที่สามสร้างความวุ่นวาย รัฐบาลเองก็รู้ดี พยายามปิดจุดอ่อนไม่ใช้ความรุนแรงหลังจากได้รับบทเรียนจากการฉีดน้ำใส่ม็อบจนรัฐบาลเกือบล้ม แต่แน่หละการชุมนุมย่อมเปิดแผลความไม่ชอบธรรมต่างๆ ความไม่โปร่งใสของฝ่ายผู้มีอำนาจได้

กลับมาที่ ปัจจัยทำให้ม็อบดูอ่อนแรงในทางกายภาพ มีการประเมินจากหลายสาเหตุ 1. ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ทะลุเพดานเกินไป ถึงแม้จะมีมวลชนจำนวนหนึ่งสนับสนุนก็จริง แต่ไม่สามารถดึงแนวร่วมที่เหลืออีกจำนวนมากได้ เป็นการชุมนุมที่ตีกรอบตัวเอง ในทางการเมืองหรือในระบบรัฐสภา มีเพียงพรรคก้าวไกลที่สนับสนุน ส่วนพรรคฝ่ายค้านอื่น เพื่อไทยก็ไม่เห็นด้วย ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน จึงไม่ถูกกดดันขยายผลในระบบ

สังเกตุได้ว่า การชุมนุม 19 ก.ย.ที่สนามหลวง เริ่มเห็นจำนวนคนลดลงแล้ว เป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการส่งสัญญาณออกมาเพราะเนื้อหาพุ่งไปที่การล้อเลียน เสียดสี สถาบันเสียมาก แต่หากลดเพดานมากดดันที่ระบอบคสช. ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ปัญหาของกองทัพ น่าจะตรึงมวลชนได้ ตรงกันข้ามคณะราษฎรกลับเดินหน้า ล็อคเป้าไปที่สถาบันกษัตริย์ทั้งการเดินทัพชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน และสำนักพระราชวัง

2. ปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มการ์ด– ช่วงแรกคณะราษฎรใช้ระบบการ์ดอาสาที่มาจากกลุ่มอาชีวะเป็นหลัก แต่ก็มาทะเลาะกันเองนำมาสู่คำถามที่เกิดความรุนแรงในม็อบหน้า SCB หลังเลิกชุมนุมมีการยิงและบาดเจ็บ ปัญหาการ์ดมีมาก จนแนวร่วมที่จัดการเรื่องการ์ดบ่นผ่านโลกโซเชียลว่า พวกการ์ดอาชีวะมีปัญหาเรื่องอีโก้เพราะมาจากต่างสถาบัน และยังทะเลาะกับการ์ดเสื้อแดง จนเพนกวิน ประกาศยุติบทบาทของหน่วยงานการ์ดอาสาทั้งหมด และจะจัดทีมงานมืออาชีพมาแทน

3.เป้าหมายที่เป็นปริศนา – แม้คณะราษฎรจะบอกว่า ไม่มีแกนนำ เป็นการเคลื่อนไหวแนวราบ แต่อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นการสั่งการผ่านระบบแกนนำนักศึกษาหลายสิบรายและจากกลุ่มภาคีเยาวชนต่างๆ เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประชาชนปลดแอก เยาวชนปลดแอก กลุ่มนักเรียนเลว แต่ทั้งหมดล้วนมีแนวคิดเด่นชัดเรื่องการปฏิรูปสถาบัน เพียงแต่มากน้อยแตกต่างกัน

กระทั่ง การส่งสารของกลุ่ม Free Youth เยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จัดตั้งม็อบราษฎร ชูแนวคิดผ่านเพจของกลุ่มที่มีผู้ติดตาม 1.5 ล้านคน ให้ความรู้เรื่องการปกครองระบอบสาธารณรัฐ เปลี่ยนสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวใหม่ เป็น RT รูปค้อนเคียว และยังเผยแพร่บทความเยินยอลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เชื่อจะเป็นทางออกของประเทไทยเพราะ ยึดหลักเท่าเทียมกันระหว่างนายทุน ชนชั้นนำ แรงงาน ทำให้ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากมวลชนจำนวนมาก บางรายประกาศเลิกสนับสนุนม็อบ ทำนองว่า มาล้มล้างเผด็จการทหาร แต่ได้คอมมิวนิสต์กลับบ้าน เหมือนหนีเสือปะจระเข้ หลอกลวงมวลชนพาประเทศถอยหลังหนักกว่าเดิม ฯลฯ

ถึงแม้ว่า แกนนำราษฎรบางรายจะออกมาปฏิเสธกันชุลมุนว่า ไม่ใช่แนวคิดของคณะราษฎร แต่ก็สร้างความคลุมเครือถึงเป้าหมายลึกๆ ของแกนนำว่า เป้าหมายปลายทางการต่อสู้คืออะไร แค่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไปไกลถึงล้มล้างเปลี่ยนระบอบการปกครองหรือไม่ พ้องกับการณรงค์ก่อนหน้าที่มีการติดแฮทแท็ก ReplublicofThailand ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์เทรนอันดับหนึ่งของไทย เมื่อปลายเดือน ก.ย.ในช่วงเคลื่อนไหวที่คึกคักที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ม็อบจะอ่อนแรงในช่วงนี้ เกิดคำถามมากมาย แต่ก็ต้องบอกว่า ในด้านบวก พลังของม็อบได้สร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง จนกดดันให้รัฐบาลและสว. ต้องยอมปลดล็อคแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากมากเพราะใส่กุญแจล็อคไว้ 10 ชั้น และยังเปิดเพดานให้คนมาพูด ถกเถียงข้อเสนอ 10 ประการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งในเวทีวิชาการ หรือในรายการโทรทัศน์ แม้อาจจะพูดได้ไม่เต็มที่ แต่ถือเป็นทลายข้อห้ามในเชิงจารีต ที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมในโลกสมัยใหม่

กระนั้น ในปี 2564 ยังมีปัจจัยล่อแหลมที่ท้าทายต่อปัญหาความขัดแย้งอยู่ ม็อบยังไม่จบง่ายๆ ข้อเสนอของคณะราษฎรเรื่องการปฏิรูปสถาบันยังไม่หายไป และไม่ได้ถูกนำพูดคุยอย่างจริงจังในเวทีทางการว่า ทำได้หรือไม่ ยิ่งมีการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 กับแกนนำราษฎรเหมาเข่งเกือบ30 รายเพื่อให้อ่อนแรง แต่ก็อาจเป็นแรงเหวี่ยงมุมกลับ จุดไฟให้เรื่องนี้ปะทุขึ้นมาอีก

ม็อบแค่พักยก แต่ยังมีเวทีให้ขับเคลื่อนได้หลายกิจกรรม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปีหน้าที่จะเป็นวาระแห่งชาติ และปัญหาการบริหารงานของรัฐบาลที่อาจเปิดแผลความไม่ชอบมาพากลโครงการต่างๆ ที่เชื่อว่าจะมีมากขึ้นและง่ายต่อการเรียกแขกที่มีทุนเดิมอยู่แล้ว

--- -