posttoday

นับถอยหลัง20 ธค.7 ปี เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกวัดกระแส"เปลี่ยน"ได้หรือไม่

17 ธันวาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*****************

20 ธค.เป็นวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่งและสมาชิกอบจ.พร้อมกันทั่วประเทศ ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นนำร่องรูปแบบแรกในรอบ 7 ปี จาก 7,852 แห่งทั่วประเทศ ที่ผู้บริหารและสมาชิกสภาหมดวาระพร้อมกัน ทั้ง กทม. เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หลังจากในยุครัฐบาล คสช. ได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่นทั่วประเทศเพราะกลัวความวุ่นวายทางการเมือง

ความน่าสนใจของการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ คือ กระแสความตื่นตัวของประชาชนจะมากน้อยแค่ไหน บ้างคาดว่า อาจมาใช้สิทธิ์มากเป็นครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ กกต.ประเมินว่า จะมีผู้ไปใช้สิทธิ์สูงถึง 70-75% จากเฉลี่ยการเลือกตั้งอบจ.อยู่ที่ 60% กว่าๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกจำนวนหลายล้านคน จะสร้างกระแสเปลี่ยนในการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ได้หรือไม่ ซึ่งหลายพื้นที่มักถูกผูกขาดโดย “บ้านใหญ่” กลุ่มผู้มีอิทธิพลประจำจังหวัดมาช้านาน ขณะที่คณะก้าวหน้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กระโดดมาเล่นสนามท้องถิ่นหลังจากประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง สส. สนามระดับชาติ ครั้งนี้ส่งผู้สมัครชิงชัยนายกอบจ.42 แห่งสร้างสีสันให้การเลือกตั้งครั้งนี้

รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ จาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งใน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานวิเคราะห์ว่า หากให้ประเมินจากกระแสจนถึงขณะนี้คิดว่า ไม่น่ามีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงอย่างที่คาดการณ์ไว้ ที่สุดแล้วอาจมาแค่ 50% บวกลบ ไม่มาก เพราะเราเห็นการรณรงค์เลือกตั้งนายกฯอบจ. จากกกต. และรัฐบาล น้อยมาก ซึ่งน่าแปลกทั้งที่ห่างหายมาหลายปี

ปัจจัยสำคัญ คือ การที่รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ที่ 20 ธค. ซึ่งเป็นช่วงคร่อมหยุดยาวระหว่างเทศกาลสิ้นปี กับ ช่วงหยุดยาวที่เพิ่งมีขึ้น (10-13 ธค.) อาจทำให้คนที่ทำงานนอกพื้นที่ไม่ว่า ในกรุงเทพ หรือ ต่างจังหวัด หรือวัยรุ่นซึ่งเป็น new voters ไม่กลับไปใช้สิทธิ์แน่ เพราะมองว่าไม่คุ้มกัน อีกทั้งเขามองว่า อบจ.ห่างไกลกับวิถีชีวิตคน หรือ ไม่รู้ว่า กระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างไร และถ้าสุดท้ายมีคนมาใช้สิทธิ์น้อยจริง รัฐบาลก็ไม่ควรเอามาเป็นข้ออ้างที่ว่า กระจายอำนาจไม่สำเร็จ นำไปสู่การไม่สนับสนุนงบประมาณหรือโครงการลงพื้นที่

ทั้งนี้เขามองว่า การที่รัฐบาลเลือกวันที่ 20 ธค. ที่สุดแล้ว อาจเป็นแผนของรัฐบาลก็ได้ เพราะหากคนตื่นตัว เยาวชนรุ่นใหม่ไปใช้สิทธิ์มาก คนที่เสียประโยชน์ก็อาจจะเป็นรัฐบาลก็ได้

รศ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ภาพการส่งผู้สมัครนายกอบจ. และการหาเสียงในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ภายในพรรคใหญ่ขัดแย้งกัน เช่น พรรคประชาธิปัตย์ใน 3-4 จังหวัดภาคใต้ ส่งผู้สมัคร 2 กลุ่มชนกันเอง หรือ พรรคเพื่อไทย ที่เห็นชัดในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้สมัครนายกอบจ.แข่งกันดุเดือด 2 คน คนหนึ่งถูกมองว่า เป็นเพื่อไทยเก่าที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯหนุนหลังอย่างออกหน้า กับผู้สมัครอีกคนคือ เพื่อไทยใหม่ ที่มีจตุพร พรหมพันธ์ สนับสนุน เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การชิงชัยครั้งนี้มีเรื่องการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากกลุ่มเก่า เป็นกลุ่มใหม่ในพรรค ซึ่งพลังการเมืองกลุ่มเก่าในพื้นที่อาจดูอ่อนแรงลง กลุ่มใหม่ก็อาจมายึดแทน สุดท้ายอาจนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งในพรรคก็ได้

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ว่า ผลจะออกมาอย่างไรก็ไม่ได้สะท้อนว่า การกระจายอำนาจมีความก้าวหน้า หรือถดถอย เพราะท้องถิ่นถูกจำกัดบทบาทจากกรอบกฎหมายเดิมๆ ที่ อบจ. ไม่สามารถ หรือไม่มีอำนาจ ทำโครงการใหญ่ๆ เพื่อพัฒนา อำนวยความสะดวก ยกระดับวิถีชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเองต้องอาศัยรัฐบาลส่วนกลาง

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การเลือกตั้งนายกฯอบจ. ไม่ได้ผูกกับกระแสการเมืองระดับชาติจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และผู้สนับสนุนคณะก้าวไกล ขณะที่คณะก้าวหน้าของธนาธร แม้จะส่งผู้สมัคร 42 คน แต่อาจได้รับเลือกเพียงแค่ 1-2 คน ซึ่งถ้าได้แค่นี้ก็เก่งแล้ว เพราะเชื่อว่า คณะก้าวหน้าเองก็ไม่ได้หวังในสนามท้องถิ่นเท่าไร ที่ต้องส่งลงเพราะเป็นกลยุทธ์เลี้ยงกระแสการชุมนุม และการเมืองระดับชาติมากกว่า อีกทั้ง นโยบายที่ใช้หาเสียงไม่ได้หวือหวาแต่เน้นเรื่องนามธรรม คือ สนับสนุนความโปร่งใสในพื้นที่ สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในท้องถิ่น รวมถึง สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้วย เทคโนโลยี

รศ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า บทสรุปคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ยังคงเป็นแค่การเปลี่ยนผู้เล่นในสนามอบจ.เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น อาจสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนไม่สนใจการเลือกตั้งท้องถิ่นในรูปแบบอบจ.เท่าที่ควร เพราะไกลตัวไม่เหมือนการเมืองระดับชาติ แต่ถ้าเป็นสนามเลือกตั้งผู้ว่ากทม. อาจจะตื่นตัวกว่านี้ เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมือง

ด้าน รศ.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มเยาวชน อายุ 18-25 ปี ที่มีสิทธิ์ครั้งแรกจะออกไปใช้สิทธิ์กันมากแค่ไหน เพราะเลือกตั้งท้องถิ่นถูกดองมา 7 ปีแล้ว และคนกลุ่มนี้ได้ตื่นตัวจากการไปใช้สิทธิ์การเลือกตั้งผ่านการเมืองระดับชาติ สร้างการเปลี่ยนผ่านโดยเลือกพรรคอนาคตใหม่ถล่มทลาย แต่ส่วนตัวเห็นว่า คนอาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอบจ.ไม่มาก เพราะการเมืองท้องถิ่นห่างจากการเมืองระดับชาติ และกลุ่มเยาวชนอาจยังไม่เข้าใจว่า ลึกๆ ว่าแล้วเลือกนายก.อบจ.ไปทำอะไร แต่อาจจะรู้หลักการประชาธิปไตยกว้างๆ

อีกปัจจัย คือ การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า หรือ เลือกตั้งนอกเขตเหมือนเลือกตั้ง สส. จึงไม่มีแรงจูงใจให้คนนอกพื้นที่ เยาวชนกลับบ้านไปใช้สิทธิ์ เพราะแค่วันเดียว แล้วก็ต้องเดินทางกลับมาทำงานใหม่ ซึ่งความจริงควรจะเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องนี้ได้แล้วต้องทำให้เหมือนเลือกตั้ง สส. ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจไม่เข้ากับคนรุ่นใหม่ เพราะเวลาท้องถิ่นมีกิจกรรมมักเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่จึงไม่คุ้นเคย ไม่เห็นบทบาทอบจ. ที่เกี่ยวข้องกับเขาเท่าที่ควร

รศ.อรทัย บอกว่า สิ่งที่ต้องติดตาม คือ คนที่เป็นอดีตนายกฯอบจ. ซึ่งลงสมัครในครั้งนี้ด้วยรวม 30% จากทั่วประเทศ จะกลับมาชนะอีกหรือไม่ หรือ จะเกิดกระแสเปลี่ยน อย่างที่ปลุกกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผู้ผูกขาด เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ หรือ บางจังหวัดมีผู้สมัครระดับชาติที่มาชนกันเอง เช่น นครศรีธรรมราช หรือ ปทุมธานีเป็นศึกช้างชนช้าง หรือ ในเชียงใหม่น่าสนใจมาก เพราะอดีตนายกทักษิณ เขียนจดหมายน้อยมาสนับสนุนผู้สมัครชัดเจน ตรงนี้จะเป็นการชี้ว่า การเมืองระดับชาติจะเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่หรือไม่ และยังเป็นการวัดกระแสความนิยมของอดีตนายกฯต่อพื้นที่บ้านเกิด จ.เชียงใหม่ว่า จะมีมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า สิ่งที่เห็นในด้านบวก คือ ผู้สมัครนายกอบจ.หลายพื้นที่ได้เสนอนโยบาย อยากพัฒนามากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แม้ว่าบางโครงการที่เสนอมานั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ดูแล้ว ทุนของตัวเองหรือ งบประมาณอบจ.ของจังหวัด ไม่สามารถทำได้ แต่ก็ถือเป็นการเสนอนโยบายที่ขยับเพดานการกระจายอำนาจที่ ทำนองว่า จังหวัดไม่สามารถรอรัฐบาลกลางตัดสินใจได้แล้ว หากไม่ทันต่อความต้องการหรือการแก้ปัญหาในพื้นที่ ส่วนที่ยังไม่เห็นหรือเห็นน้อยเกินไปคือ การทำเวทีรณรงค์ในระดับพื้นที่ไม่ว่า มหาวิทยาลัยในจังหวัด หรือ ประชาคมภาคพลเมือง ยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร สะท้อนว่า ประชาคมเหล่านี้ยังไม่สนใจเวที อบจ. ไม่สามารถกดดันผู้สมัครอบจ.ในเชิงความคาดหวังด้านนโยบายได้

รศ.อรทัย กล่าวว่า หากที่สุดมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยกว่าที่คิด ก็อย่าเพิ่งประเมินว่า การพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ล้มเหลวหรือถอยหลัง เพราะปัญหาสำคัญจริงๆ คือ การกระจายอำนาจถูกดองตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 แล้ว ทั้งที่ความจริง กระจายอำนาจได้เริ่มเติบโต มีบทบาทมาร่วม 20 ปี นับแต่รธน. 2540 บังคับใช้เพราะบัญญัตติเรื่องหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง และสนับสนุนการกระจายอำนาจหลายเรื่อง จนอปท.หลายแห่งเกิดการพัฒนา มีงบประมาณลงพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด แต่การที่บทบาทท้องถิ่นค่อยๆ หายไป ก็ช่วง 6-7 ปีมานี้ที่มีรัฐบาลผูกขาดอำนาจ สั่งการจากส่วนกลาง กฎหมายท้องถิ่นที่จะพัฒนาต่อยอดกระจายอำนาจ ถูกละเลย มีการรวบอำนาจบางเรื่องคืนกลับไปให้หน่วยราชการ

"การพัฒนาท้องถิ่นบ้านเราเกิดจากการที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา ไม่ใช่ถูกจัดมาให้ เพราะไปแย่งอำนาจจากส่วนกลาง มีการพูดว่า ท้องถิ่นเป็นลูกเมียน้อย ทั้งที่ 20 ปีมานี้ อปท.หลายแห่งมีบทบาทและทำงานไดดี ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณสุข ท่องเที่ยว การเมือง สังคมมาก เช่น จ.ยะลา ที่มีผู้บริหารท้องถิ่นฉลาดทำให้พัฒนาโครงการตอบสนองคนในพื้นที่ได้ดีกว่าส่วนกลางทำ"รศ.อรทัย  ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากจะชี้วัดว่า คนตื่นตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้แค่ไหน ต้องวัดที่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกอบต. รวมถึงเทศบาล มากกว่าการเลือกตั้งนายกอบจ. ซึ่งการปกครองรูปแบบ อบต.มีพื้นที่ขนาดเล็กใกล้ชิดกับประชาชนในระดับหมู่บ้านมากกว่าอบจ.ที่ใช้ฐานจังหวัดเป็นฐานเลือกตั้ง และสถิติการไปใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่จะสูงถึง 80%