posttoday

คกก.สมานฉันท์รูระบายทางออก อย่าเป็นแค่ยาสามัญประจำบ้าน

07 พฤศจิกายน 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อเป็นทางออก คลี่คลายวิกฤตการเมืองยังพบอุปสรรคเพราะตัวแทนฝ่ายค้าน และคู่ขัดแย้งคือ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เข้าร่วม แต่กระนั้น ยังพอเห็นทางออกและความหวังที่จะมีการเจรจา พูดคุย

ฝ่ายคณะราษฎรแถลง ล่าสุด เดินหน้าชุมนุมใหญ่อีกครั้งวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องเดิม และประกาศไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก ตามด้วยการแก้ไขรธน. เพราะไม่ไว้วางใจคณะกรรมการชุดนี้ที่ถูกมองเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาล

ส่วนฝ่ายค้าน แรกเริ่มพรรคเพื่อไทย ประกาศไม่ร่วม เหตุผลเดียวกันกับกลุ่มคณะราษฎร ล่าสุดเริ่ม เปิดช่อง ขอดูเงื่อนไขของคณะกรรมการ และรายชื่อก่อน หลังมีการออกข่าว อดีตนายกฯ 3 คน ถูกทาบทาม และตอบรับเข้าร่วม คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อานันท์ ปันยารชุน และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พรรคเพื่อไทยกดดันให้ “บิ๊กตู่” ตอบให้ชัดว่า ถ้าคณะกรรมการชุดนี้่มีความเห็นหรือ ข้อเสนออย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ขัดแย้ง จะยอมรับหรือไม่ ถ้าพร้อมนำไปปฏิบัติ พรรคเพื่อไทยก็อาจสนับสนุนคณะกรรมการสมานฉันท์

ท่าทีที่เริ่มอ่อนลงของพรรคเพื่อไทย เพราะ 2 ใน 3 อดีตนายกฯ ที่ตอบรับร่วมเป็นกรรมการ คือ นายอานันท์ ได้เสนอความเห็นว่า ควรฟังเสียงนักศึกษาเพราะปัญหามาจากวิกฤตการเมืองที่เดินผิดมา 7 ปี หลังมีการรัฐประหาร แน่นอน ความเห็นของอานันท์ ย่อมกระทบพล.อ.ประยุทธ์ เพราะอยู่ในกระบวนการของรัฐประหารจนมาเป็นนายกฯ เป็นส่วนสำคัญของวิกฤต ส่วน อภิสิทธิ์ มีจุดยืนชัดเมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นำทัพลงเลือกตั้งครั้งหลังสุด ประกาศท่าทีไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และรธน.ฉบับ2560 ก่อนที่เจ้าตัวจะลาออกจากหัวหน้าพรรคและ สส. เพราะไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล

ส่วน พล.อ.ชวลิต ลับลวงพราง ไม่แน่ชัดในจุดยืน แม้ล่าสุด บิ๊กจิ๋วให้สัมภาษณ์เมื่อ 2 เดือนก่อน สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่เจ้าตัวก็มักเสนอทางออกของบ้านเมืองให้ถวายคืนพระราชอำนาจและให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น

แม้การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ จะยังไม่เป็นที่เห็นพ้องกันหมด แต่บรรยากาศตอนนี้ยังเป็นการหยั่งท่าที ต่อรองของแต่ละฝ่าย แต่เชื่อว่าประธานรัฐสภาที่เป็นเจ้าภาพ จะลงแต่งตั้งคณะกรรมการให้เดินหน้าได้ พร้อมกับการแก้ไขรธน. ที่กำลังเริ่มเข้าสู่วาระรัฐสภาวันที่ 17 พ.ย. รวมไปกลไกประชาธิปไตยอื่นที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังจากถูกดองแช่แข็งมา 7 ปี นับจากการรัฐประหาร รวมถึง จะมีการเสนอกฎหมายประชามติโดยรัฐบาลเข้าที่ประชุมสภาเพื่อรองรับการแก้ไขรธน. จากนี้จึงเห็นบรรยากาศการตื่นตัว ที่เปิดกว้างให้ประชาชนได้ใช้สิทธิออกเสียงของตัวเอง

กระนั้น การปฏิเสธ เข้าร่วม คณะกรรมการสมานฉันท์ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เกิดจากความล้มเหลวในการใช้กลไกการสร้างความปรองดองในรูปแบบคณะกรรมการเช่นว่านี้ในห้วงเวลาวิกฤตความขัดแย้งเสื้อสีตั้งแต่ปี 2548 แต่เริ่มมีการตั้งคณะกรรมการอิสระ ในรูปแบบ แนวปรองดองครั้งแรกปี 2552 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันรวม 11 ปี อยู่ในช่วง 3 รัฐบาล “อภิสิทธิ์ –ยิ่งลักษณ์ –ประยุทธ์” รวมแล้วมากมายเกือบ 10 ชุด ทั้งในระดับชาติ หรือ ระดับรัฐสภา

ปัญหาสำคัญคือ ไม่มีการนำข้อเสนอของคณะกรรมการแต่ละชุดมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เอาบูชาไว้บนหิ้ง ไม่ก็ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาศึกษา ผลสรุปของคณะกรรมการชุดก่อนหน้า ประหนึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านของทุกรัฐบาลเพื่อทอดเวลาปัญหาความขัดแย้ง

ถ้าไล่เรียงสำคัญ ๆ ก็เช่น ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้ง "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)" หลังเหตุการณ์สลายชุมนุม ช่วง เม.ย.-พ.ค.2553 เพื่อค้นหาความจริง มีข้อเสนอสำคัญ ให้นิรโทษกรรมประชาชนเสื้อสีที่ติดคุกจากการชุมนุม แต่ก็ไม่มีการนำไปปฏิบัติในรัฐบาลต่อมา

หรือ ต่อมาในยุครัฐประหาร มีการตั้งคณะกรรมการด้านความปรองดองหลายชุดมาก ข้อเสนอสำคัญๆ ก็หนีไม่พ้น การนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง เหลืองแดง เปิดพื้นที่พูดคุย คืนความเป็นธรรม แต่ก็เหมือนกัน รัฐบาลประยุทธ์ ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวเกิดแรงกระเพื่อม ตรงกันข้ามรัฐบาล ใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพ คุกคามผู้เห็นต่าง ที่ว่า ได้ทำการปรองดอง จึงเป็นการบังคับปรองดองไว้ใต้พรม

แน่นอนว่า ครั้งนี้การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ยากกว่าม็อบเสื้อสีในอดีต เพราะมีข้อเสนอสูงสุด คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นหัวข้อสำคัญที่จะต้องหาทางลง ครั้นจะไม่ใส่ใจเสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่เลยก็ไม่ได้

คณะกรรมการสมานฉันท์ที่จะคลอดนี้ น่าจะมีความแตกต่างจากอดีต เพราะแนวโน้มจะมีกรรมการระดับอดีตนายกฯ เข้าร่วม หาใช่ อดีตข้าราชการระดับสูงที่น่าเชื่อถือ มาเป็นประธานกรรมการเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังตั้งโดยประธานรัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ

ถึงแม้จะคณะกรรมการไม่มีอำนาจบังคับโดยตรง แต่ในทางสังคม และความคาดหวัง หากได้กรรมการเป็นที่ยอมรับ เชื่อว่า ข้อเสนอที่จะออกมาจากคณะกรรมการ จะมีพลัง กดดันฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มาก

น่าสนใจว่า ถ้าท้ายสุดแล้ว คณะกรรมการสมานฉันท์ไม่สามารถผ่าทางตันได้ หรือ ล้มเหลวอีก เสนอแล้วไม่นำไปปฏิบัติ ต้นทุนที่มีต่อสถาบันทางการเมืองที่ใช้คลี่คลายวิกฤต ทั้งการควานหา “คนกลาง” ในรูปแบบ “คณะกรรมการ” จะหมดความสำคัญลงหรือไม่ จากเดิมหลายสิบปีก่อน เราไม่มีความขัดแย้งมากนัก ยังมี “คนกลาง” ที่เป็นทางออก แล้วหากกลไก คณะกรรมการคนกลาง รอบนี้ ไม่สำเร็จ จะหลือกลไกอะไรในแนวทางสันติวิธี ที่ไม่ใช้ความรุนแรง

ยังเชื่อว่า สังคมไทยมีทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรงห้ำหั่นกัน ฝ่ายชนชั้นนำ ควรมีวิธีการ ท่าที ลงมารับฟังปัญหา ข้อเสนอเพื่อไม่ให้วิดฤตกลายเป็นทางตัน

****************