posttoday

อย่าอึมครึม!สว.ปัดตกตั้งสสร.ระวังผูกปมวิกฤตซ้ำ

12 กันยายน 2563

จู่ๆ ก็มีสัญญาณแปลกจากฟาก ส.ว. ทำท่าจะกลับลำไม่สนับสนุนการยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับเพื่อเป็นทางออกความขัดแย้ง

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**************

ขณะที่การตั้งสสร. กำลังเดินหน้า จู่ๆ ก็มีสัญญาณแปลกจากฟาก ส.ว. ทำท่าจะกลับลำไม่สนับสนุนการยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับเพื่อเป็นทางออกความขัดแย้ง มองได้ว่า รัฐบาลเล่นเกมลับลวงพรางจะไม่สนับสนุนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)แล้วหรือไม่ ทั้งที่ สส.ฝ่ายรัฐบาลเองได้เสนอร่างแก้ไขรธน. มาตรา 256 ให้มี สสร.และยื่นญัตติเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาไปแล้ว

ส.ว. คือ ตัวแปรสำคัญที่จะชี้ขาดว่า การแก้ไขรธน.ไม่ว่าประเด็นใดก็ตามจะสำเร็จหรือไม่ เพราะปลายทางของการแก้รธน.ต้องใช้เสียง ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียงหรือ 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบ

ญัตติการแก้ไขรธน. ที่ยื่นเข้าสู่รัฐสภาแล้วมีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรก ให้มีการปิดสวิทช์ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. โดยให้แก้รธน.มาตรา 272 ซึ่งมาตรานี้มีที่มาจาก คำถามพ่วงที่มีการทำประชามติช่วงรับร่างรธน.2560ว่า จะให้ที่ประชุมรัฐสภาร่วมลงมติเลือกนายกฯด้วยหรือไม่ ย้อนความไปนิดนึงขณะนั้นเสียงเห็นชอบอยู่ที่ 13.9 ล้านคน หรือ 58.11% ไม่เห็นชอบ 10 ล้านคน หรือ 41.89 %

ประเด็นที่สองให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้ตั้งสสร.เพื่อยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับซึ่งทั้งสส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอเข้ามาคนละร่าง แม้จะให้มี สสร.เหมือนกัน แต่การได้มาของ สสร.แตกต่างกัน

ร่างของสส.รัฐบาลให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 150 คน อีก 50 มาจากการคัดเลือกจากตัวแทน 3 กลุ่ม กลุ่มแรก 10 คนจากนิสิต นักศึกษา 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา อีก 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน ขณะที่ร่างของพรรคฝ่ายค้านให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด

ญัตติแก้ไขรธน.ที่รัฐสภาจะนัดหารือ นับถอยหลังเข้ามากำหนดวันที่ 23-24 ก.ย. แต่ขณะนี้เริ่มมีท่าทีจาก ส.ว.หลายคนที่แสดงจุดยืนอันน่าประหลาดใจว่า จะไม่สนับสนุนการแก้ไขรธน.มาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. แต่ขอแลกกับการยอมแก้เฉพาะประเด็นลดอำนาจ ส.ว. ในการลงมติเลือกนายกฯ ในมาตรา 272 แทน

ส.ว. 250 คนปัจจุบันมาจากแต่งตั้งของคสช. แตกออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ยังไม่มีท่าทีชัดมีประมาณ 100 คน 2. กลุ่มยอมปลดล็อควิกฤต สนับสนุนให้มีการตั้งสสร. 60-80 คน 3.กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง สสร .แต่เห็นควรให้แก้เฉพาะประเด็นปิดสวิชท์ส.ว. ประมาณ 80 คน

กลุ่มที่คัดค้านการตั้งสสร. ให้เหตุผลว่า กลัวเป็นการตีเช็คเปล่าให้ผู้ร่างรธน.ร่างตามอำเภอใจ และใช้เวลาแก้ไขรธน.นานเกินไป 1-2 ปีกว่าจะร่างเสร็จ รวมถึงการทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งบางรับฟังได้ที่ว่านาน แต่บางข้อไม่ถูกต้องนักเพราะตามร่างแก้ไขรธน. 256 ของฝ่ายค้านกับรัฐบาลตีกรอบชัดว่า การร่างรธน.ใหม่ ห้ามแก้ไขหมวด 1 ว่าด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง และ หมวด 2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้ง เมื่อสสร.ยกร่างเสร็จแล้วก็ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบอีกครั้ง และให้ประชาชนไปออกเสียงทำประชามติในขั้นตอนสุดท้าย จึงไม่ใช่การตีเช็คเปล่า

การร่างรธน.ครั้งนี้ยังอยู่ในบรรยากาศนอกสภาที่ยังคุกรุ่น แต่น่าแปลกที่ ส.ว.กลับไม่ส่งสัญญาณคลี่คลายวิกฤต ไม่มีท่าทีมีขานรับจะให้แก้ไขรธน.ทั้งฉบับ ทั้งที่ ส.ว.ชุดนี้ มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นสภาเครือข่ายของทหาร ควรจะแอ่นอกแถลงท่าทีด้วยว่า ยินดีทำตามกระแสข้อเรียกร้องของสังคมให้ตั้งสสร.ขึ้น เพื่อพาประเทศเดินหน้า ท่าทีแทงกั๊กเช่นนี้ ชวนให้คิดว่า รัฐบาลคงประเมินว่า สามารถตั้งหลักคุมสถานการณ์ได้ ฝ่ายม็อบนักศึกษาเองก็ดูแผ่วลงจึงลดดีกรีของการแก้ไขรธน.ลงเป็นแค่รายมาตราหรือไม่

กระนั้น ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ ม็อบคลี่คลายลงก็เพราะรัฐสภา และรัฐบาลเองยอมถอดสลัก รับลูกเรื่องการแก้ไขรธน. ทุกพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล ร่วมลงชี่อในญัตติร่างแก้ไขรธน.อย่างปัจจุบันทันด่วน นั่นก็เพราะกระแสที่นักศึกษาจุดติดขึ้นมา จนเมื่อลงหลักปักฐานชัดเจนแล้วว่า จะมีการตั้ง สสร.ขึ้นมาจริง การจัดกิจกรรมของนักศึกษาจึงผ่อนคลายลง ถือว่า บรรลุข้อเรียกร้องระดับหนึ่ง แต่ท่าทีสวนกระแสของ ส.ว. อาจผสมโรงช่วยจุดเชื้อมวลชนเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาวันที่ 19 ก.ย นี้

ความจริง สถานการณ์ความขัดแย้งวันนี้ ไปไกลมองไปสู่การตั้งสสร.เพื่อร่างรธน.ใหม่แล้ว เป็นฉันทามติที่จะสร้างกติกาของทุกขั้วร่วมกัน การที่ยังมีกลุ่ม ส.ว.ฝืนกระแส หวงอำนาจตนเอง สะท้อนให้เห็นภาพลึกๆของรัฐบาลที่คุม สว.อยู่ กำลังเล่นเกมลับลวงพราง ไม่จริงใจในการแก้ไขรธน. นัยว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งเบาลง อีกฝ่ายกลับมารุกกลับ ไม่อยากเสียอำนาจด้วยการยอมให้แก้รธน.

ที่ต้องจับตาคือการตั้งสสร. ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย นอกจาก สว.ออกมาไม่เห็นด้วยแล้ว ยังเห็นมวลชนฝ่ายขวา “กลุ่มไทยภักดี” ของนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ออกมาล่าชื่อประชาชนคัดค้านการแก้ไขรธน.อ้างว่าได้หลายหมื่นชื่อแล้ว รวมถึงท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่บอกว่า กระบวนการยกร่างรธน.ใหม่ตั้งสสร.อาจไม่คุ้มค่าจะใช้งบประมาณสูง เพราะทำประชามติ 2 รอบเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และจะใช้เวลายกร่างรธน. จนถึงการออกกฎหมายลูกอีกคำนวณแล้วเสร็จทุกขั้นตอนก็เกือบ 2 ปีจากนี้ถึงจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็เกือบสิ้นเทอมรัฐสภาชุดนี้พอดี

นึกภาพไม่ออกเหมือนกัน หากถึงวันพิจารณาแก้ไขรธน.อีก 2 สัปดาห์ ทุกอย่างเกิดพลิกขึ้นมา ส.ว.ไม่สนับสนุน มีเสียงไม่ถึง 84 เสียงเดินหน้าตั้งสสร.ไม่ได้ รัฐบาลอ้างว่า ไม่รู้ไม่เห็น ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. เพราะเป็นอิสระ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ก็คงเกิดวิกฤตใหญ่ คราวนี้ไม่แต่ สว.จะเป็นตัวถ่วงรั้งทางออกประเทศแล้ว รัฐบาลคงต้องรับผิดชอบที่เล่นเกม ผลักดันแก้ไขรธน.ไม่สำเร็จเพราะประกาศเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว และไม่บริสุทธิ์ใจในการหาทางออกจากกับดักความขัดแย้ง

******************