posttoday

อ่านสถานการณ์กับ“อภิสิทธิ์”ไทยสู้โควิดกับวิกฤตการเมือง

03 กันยายน 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

****************

ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาโรคโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลกมี 2-3 แง่มุมสำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า 1.การแพร่ระบาดของโควิดที่ต่อมาเป็นโรคระบาดทั่วโลกสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของโลกาภิวัฒน์ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจประมาทเพราะคิดว่า ยุคนี้ไม่น่าจะมีอะไรแบบนี้แล้ว

2. เมื่อเกิดเหตุขึ้นทำให้เห็นชัดว่า ประเทศไทยพึ่งพิงต่างประเทศมาก ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว ซึ่งมีคนจำนวนมากอยู่กับภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ ได้รับผลกระทบรุนแรง

3.ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ องค์กรที่รับผิดชอบโลกในระดับโลก คือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่สามารถแก้ปัญหาโรคระบาดนี้ได้ ยังถูกวิจารณ์ว่ามีปัญหาการสื่อสารที่ไม่แจ้งเตือนชาวโลกในช่วงแรก ขณะที่ ความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหานี้มีน้อยมาก ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าทั่วโลกประสานกันได้และปิดประเทศพร้อมกัน 2-3 สัปดาห์ น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้เกือบหมด ไม่บานปลายมาจนวันนี้ แต่การไม่ประสานกัน ทำให้โรคระบาดเคลื่อนจากศูนย์กลางจากเอเชีย ไปยุโรป และลาตินอเมริกา ปัญหานี้จะเกิดผลอีกครั้งถ้าไม่มีการจัดการโดยเร็วในช่วงที่มีการค้นพบวัคซีน

4. คือ หลายคนคิดแต่เรื่องความเป็นไปได้ในการคิดวัคซีน แต่ยังไม่เห็นใครมาแสวงหาคำตอบว่า เมื่อคิดได้แล้วจะวางกติกาอย่างไร ใครจะได้ผลิต ผลิตที่ไหน จัดสรรอย่างไร ให้ประเทศใดก่อนหลัง ราคาที่จะคิดคืออะไร เหมือนกับว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องแต่ละประเทศว่ากันเอง ตรงนี้จะมีหลายปัญหาที่โลกต้องเผชิญร่วมกัน

“ปัญหาโควิด ทำให้ผมสนใจว่า เราจะผ่านจากจุดนี้ไปได้อย่างไร เมื่อไร ทุกคนก็พูดวัคซีน แต่จนถึงวันนี้อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ หรืออาจได้วัคซีนแต่กว่าจะได้เริ่มฉีดก็ปลายปีหน้าก็ได้ และเมื่อมีแล้ว ใครจะเป็นคนซื้อ ของพวกนี้ยังไม่มีความชัดเจน มันสะท้อนให้เห็นว่า เวลาโลกเกิดวิกฤต ความร่วมมือข้ามชาติกลับมีน้อย นำมาสู่การตอกย้ำว่า ทำไมปัญหาโลกร้อนถึงแก้ยากทั้งที่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับคนอื่นทั่วโลก เพราะโลกขาดระบบการจัดการ และความยอมรับต่อการจัดการกับปัญหาข้ามชาติ”

อีกปรากฏการณ์ที่เห็น คือ ก่อนหน้าเกิดโควิด เราพูดกันตลอดว่า สังคมการเมืองกำลังถูกกระทบจากภาวะดิสรัปชั่นที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวเร่ง แต่โควิดมันฉายหนังให้เราเห็นว่า นี่อาจเป็นของจริงจากภาวะดิสรัปชั่น ที่มันกำลังค่อยเป็นค่อยไป

สิ่งสำคัญ คนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากที่สุด คือ คนยากจน คนด้อยโอกาส คนเล็กน้อยในสังคม คนที่เวิร์คฟอร์โฮมไม่ได้คือ คนที่ด้อยโอกาส เรายังเห็นว่า ทั่วโลก กลุ่มคนที่มีอำนาจน้อย จะเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวมถึงมาตรการล็อคดาวน์ที่มีกับทุกประเทศ ก็เป็นการซ้ำเติมคนยากจน

“ภาพใหญ่คือ โควิดมันทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราไม่เตรียมโครงสร้าง ไม่บริหารให้ดี โลกาภิวัฒน์ ก็ดี ดิสรัปชั่นก็ดี ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ดี มันส่งผลอย่างไรกับโครงสร้างหลักในการแก้ปัญหา”

***************

คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกเร่งต่อยอดจุดแข็งระบบสาธารณสุข

กลับมาที่ประเทศไทยโดดเด่นกับสถิติผ่านมา 100 วัน ยังไม่พบเชื้อรายใหม่ในประเทศ อภิสิทธิ์ มองว่า บทเรียนที่เราได้รับมีทั้งมุมบวกและลบ

มุมบวกคือ เราเห็นจุดแข็งของคนไทยหลายอย่าง ประการแรก ระบบสาธารณสุขที่เราสร้างขึ้นมามีความเข้มแข็งในการรับมือกับโรคระบาดทั้งเรื่อง การมีอาสาสมัครสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า วัฒนธรรมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยรวม ทำให้การบริหารจัดการเชิงสาธารณสุขเป็นไปด้วยดี การปลูกฝังอุปนิสัยของคนไทยในเรื่องสุขอนามัยนับว่ามีส่วนช่วยได้มาก เราเป็นคนที่รักษาสะอาด

“สถานการณ์นี้ทำให้เห็นว่า คนไทยมีความร่วมมือดีไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งที่หลายคนมักบอกว่า คนไทยไม่มีวินัย ตามใจฉัน พิสูจน์แล้วเป็นเรื่องไม่จริง เรายังเห็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือกันเป็นเรื่องดี ทั้งที่เราบอกว่า คนไทยแตกแยกทางความคิด”

ในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ บอกว่า เรายังมองเห็นโอกาสจากจุดแข็งเหล่านี้ด้วย เช่น อาจใช้ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งให้เป็นจุดขายของประเทศได้ หรือพลิกโอกาสนี้เพื่อจัดการให้การท่องเที่ยวของเรามีความยั่งยืนมีคุณภาพสูงขึ้นก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะภาคท่องเที่ยวมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยเป็นพื้นฐาน แต่ที่ผ่านเราค่อนข้างปล่อยจนเกิดผลต่อการทำลายทรัพยากร ระดับคุณภาพของการท่องเที่ยวของเราก็ลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงล็อคดาวน์ ก็ช่วยให้แก้ปัญหาเรื่องมลพิษได้มาก

แนวทางที่ควรฟื้นฟูเดินหน้าอีกด้านในมุมมองของอภิสิทธิ์ คือ จะต้องปรับเปลี่ยนการดูแลทรัพยากร การท่องเที่ยว ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็ง แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้ทุกคนคิดว่า ต้องปิดประเทศ เพราะยังจำเป็นที่จะต้องติดต่อสื่อสารค้าขายกันระหว่างประเทศ

ขยับมามองประเด็นระบอบประชาธิปไตยต่อการแก้ปัญหาโควิดที่เกิดเสียงวิจารณ์ ประเทศที่เป็นเผด็จการแก้ปัญหาได้ดีกว่าประเทศประชาธิปไตยเพราะใช้อำนาจเด็ดขาดได้ดีกว่า อภิสิทธิ์ ไม่เห็นด้วยกับทัศนะนี้ เขายืนยันว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาโลก ก็มีทั้งที่เป็นประชาธิปไตย และ ไม่เป็นประชาธิปไตย และทั้งสองแบบก็มีล้มเหลวเช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดต่อการแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ คือ ความโปร่งใส กับความร่วมมือมากกว่าในประเทศนั้นมากกว่า

“เนื่องจากเราไปดูภาพที่มันสุดโต่งของสองประเทศคือ จีนกับสหรัฐ จีนประสบปัญหาประเทศแรกที่รุนแรงก็ใช้มาตรการที่ยากสำหรับประเทศประชาธิปไตยที่จะใช้ได้ คือ การล็อคดาวน์ยาวนาน กระทบกับคนมหาศาล มันก็ชวนให้คิดว่า รูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาจะต้องเป็นระบบแบบนี้ และเผอิญสหรัฐ มีผู้นำอย่างที่เป็นอยู่ซึ่งพูดจาไม่สนใจวิทยาศาสตร์ ข้อเท็จจริง เลยทำให้ดูว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นปัญหาแบบนี้ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะประเทศอย่างนิวซีแลนด์ ไต้หวัน หรือ เกาหลีใต้ ก็จัดการได้ดี ส่วนประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกทั้งหลาย ก็ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่า จัดการปัญหานี้ได้ดีกว่าขึ้นอยู่ที่ตัวผู้นำ รัฐบาล แนวทางการแก้ปัญหา”

สำหรับประเทศไทย ความสำเร็จเบื้องต้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดจนองค์กรต่างชาติยกให้เป็นแบบอย่าง อภิสิทธิ์เห็นว่า มาจากจุดแข็งจากนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศได้ยึดเรื่องความโปร่งใสในเชิงข้อมูลมาตลอด เช่น ที่ผ่านมาเราเจอปัญหาโรคระบาด อย่างซารส์ หรือ H1N1 ทำให้เราผ่านวิกฤตมาได้ ขณะเดียวกัน เราก็มีบุคลากรทางการแพทย์ที่สังคมชื่อถือ ซึ่งกรณีโควิดนี้ หมอได้มีบทบาทชี้นำทั้งเรื่องยุทธศาสตร์และการสื่อสารกับประชาชน ทำให้ผ่านตรงนี้มาได้ ขณะที่มาตรการติดตามในพื้นที่ก็มีระบบอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ที่เข้มแข็งมารองรับ

“ผมไม่มองอะไรสุดโต่งว่า ต่อไปนี้บรรทัดฐานการใช้ชีวิตของคนจะใหม่จริงๆ เป็นนิวนอร์มอล เพราะเราเห็นจากประเทศเรา และต่างประเทศว่า ทันทีที่สถานการณ์คลี่คลาย คนก็ยังโหยหาการใช้วิถีชีวิตแบบเดิม ไม่อยากสวมหน้ากากอนามัย ต้องยอมรับว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การจะฝืนอะไรมากๆ คงไม่ได้ เพราะเวลามันอยู่ในภาวะวิกฤต ส่วนใหญ่ทุกคนจะอยู่ในภาวะตื่นตัว”

*************

ต้องเปิดพื้นที่คนหนุ่มสาวผู้มีอำนาจต้องจริงใจ แก้ รธน.ปลดล็อควิกฤต

ปัญหาการเมืองไทยกรณีการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษา "อภิสิทธิ์"มองว่า มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้อีก เพราะการเมืองช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีอะไรอยู่นอกเหนือความคาดหมาย มีการใช้เครื่องมือต่อสู้แบบเดิมๆ และระบบที่เดินตามรัฐธรรมนูญแต่ละพรรค ก็ปรากฏผ่านการสร้างมุ้งเล็กๆ ที่ใช้ต่อรอง การเคลื่อนไหวชิงเก้าอี้รัฐมนตรี จึงน่าเสียดายที่เราไม่ได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆทางการเมืองเท่าไร ไม่ว่า การที่หลายคนอยากเห็นผู้นำรัฐบาลเอื้อมมือไปหาฝ่ายค้านเพื่อร่วมมือฝ่าวิกฤต เพื่อเป็นกำลังใจให้ประชาชนเห็นว่า ในที่สุดการเมืองพร้อมนำประเทศฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่มันตกค้างมา" อภิสิทธิ์ "ขยายความว่า มาจากปัญหาในตัวรัฐธรรมนูญ ปัญหาช่องว่างระหว่างรุ่นในความคิดอ่านทางการเมือง และที่สุดหากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมาซ้ำเติมเรื่องความเดือดร้อนและความเหลื่อมล้ำ โอกาสที่จะเป็นชนวนไปสู่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองนำไปสู่ความขัดแย้งกันก็มีมากขึ้น ตรงนี้ ฝ่ายรัฐบาลไม่พยายามใช้กลไกระบบสภาอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหา แต่ยังใช้ทัศนคติเดิมๆ ว่า เมื่อยังกุมเสียงข้างมาก ก็พยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ซึ่งไม่เป็นผลดี

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมในการกำหนดกติกา เป็นเครื่องมือที่เอื้อกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ การต่อสู้ ความขัดแย้งจากประเด็นเหล่านี้มันยังไม่จบ เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ต้องย้อนกลับมา ถ้ามันไม่มีการเดินหน้าแก้ไข และความที่รัฐธรรมนูญเขียนจนไม่เปิดทางให้แก้ไขได้ง่ายๆ ถ้าฝ่ายที่มีอำนาจ ไม่ร่วมมือ มันก็จะเป็นบททดสอบว่า จะมีความจริงใจที่แก้เรื่องนี้ไหมแต่ถ้ามาถึงจุดหนึ่งถ้าไม่มีความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าจริงจัง มันก็เป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้” อภิสิทธิ์ ระบุ

อภิสิทธิ์ บอกอีกว่า ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาพยายามสร้างพื้นที่ใหม่ให้สังคมหลุดออกจากกับดักความขัดแย้งนี้ ซึ่งคนทำอาจต้องเจ็บตัวบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อทำแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ช่องว่างมันก็อาจปะทุขึ้นมาเป็นความขัดแย้งอีกรอบ

“พอเลือกตั้งผ่านพ้นไป ระบบรัฐสภา ก็เข้าไปสู่ระบบแบ่งแยกระหว่าง รัฐบาลกับฝ่ายค้าน ขนาดในช่วงโควิดเราก็ยังเห็นว่า การพูดถึงการวิจารณ์รัฐบาลก็พยายามถูกจับไปใส่กล่องแบบเดิมระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการในชุดนั้นอยู่ ฝ่ายไม่เอารัฐบาลก็พยายามโยงว่า การขยายพรก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลแม้ฝ่ายค้านจะวิพากษ์อะไรสร้างสรรค์ ก็จะมองว่า พวกนี้ก่อกวน คัดค้าน”

ที่สุดแล้ว ถ้ากติกาในรัฐธรรมนูญไม่ปรับเปลี่ยนเพื่อเปิดกว้างเป็นธรรมมากขึ้น ถ้าผู้ที่มีอำนาจยังไม่มีพื้นที่ในทางการเมืองให้กับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ปัญหามันก็จะรุนแรงแน่นอน

“ผมไม่ได้คิดว่า คนรุ่นใหม่ทั้งหมดจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ค่อนข้างจะรุนแรงหรือสุดโต่ง เขาต้องการเห็นสังคมที่ก้าวหน้า แต่พอเขาเห็นฝ่ายที่มีอำนาจไม่ให้ความสำคัญ มันก็เลยถูกมัดรวมกลายเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนสองกลุ่มทำให้ทุกอย่างมันมัดรวมกันหมด ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่อยากให้เป็นสภาพปัญหาแบบนี้ก็ต้องเริ่มรับฟัง ผ่อนคลาย แนวความคิดที่จะล็อคทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้แบบเดิม” อภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

***************