posttoday

ต้องจริงใจแก้รธน.ซื้อเวลาความขัดแย้งยิ่งลากยาว

23 กรกฎาคม 2563

จนถึงวันนี้รัฐบาลควรแสดงความจริงใจได้แล้วว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเชื้อขยายความขัดแย้งทางการเมืองได้เมื่อไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน รัฐบาลไม่ควรซื้อเวลาหรืออ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลแล้ว แต่เป็นเรื่องสภา เพราะสภาฯได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเคารพสภาฯ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ทั้งที่ความจริงรัฐบาลคุมเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการ อีกทั้งยังเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาว่า พร้อมที่จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยต้องมีการแก้ไข มิเช่นนั้นความขัดแย้งก็ยิ่งลากยาวและผูกปมซับซ้อนเป็นวิกฤตการเมืองไม่จบสิ้น โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่เดิมที่ถูกยุบพรรค และกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านไล่รัฐบาล นำโดย ขบวนการนักศึกษาต่าง หรือ แม้แต่นักวิชาการที่มีใจเป็นกลางก็เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สร้างปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการเมือง หากมีการแก้ไขจริง ก็เชื่อว่าจะปลดล็อควิกฤตลงได้ ลดอุณหภูมิของการชุมนุมที่มีแนวโน้มขยายวงทั่วประเทศและเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาบานปลายทั้งน้ำผึ้งหยดเดียวและความรุนแรง

ปัจจุบันความคืบหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขั้นตอนของสภาที่ได้ตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 โดยมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำหนดกรอบเวลา 6 เดือนในการทำงาน

แต่เมื่อเดือนที่แล้วซึ่งครบครึ่งปีของการทำงาน สภาได้อนุมัติขยายเวลาให้กับกมธ.ตามที่ร้องขออีก 3 เดือน ให้เหตุผลว่า ติดปัญหาโควิดทำให้ไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนได้ โดยการทำงานของกรรมาธิการจะสิ้นสุดในวัน 25 ก.ย. หรืออีก 2 เดือนเศษจากนี้ ที่สำคัญยังไม่รู้ว่า เมื่อผ่านไปอีก 3 เดือน กมธ.จะขอต่อเวลาอีกหรือไม่ สิริรวมตอนนี้ กมธ.ก็ขอเวลาไปแล้ว 9 เดือน (ถึงเดือนก.ย.) นับว่ายาวนาน ทั้งที่ประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่วิพากษ์วิจารณ์กันก็ไม่มีอะไรมาก 4-5 ประเด็นหลัก คือ การตัดวงจรการสืบทอดอำนาจของคสช. รีเซ็ทองค์กรอิสระ สร้างกติกาที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย

สิ่งสำคัญ คือ อำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้มีเพียง “การรายงาน” ให้สภารับฟังเท่านั้น ไม่สามารถบังคับรัฐบาลหรือสภาให้แก้ไขตามที่กมธ.มีความเห็นได้ หากไม่มีการริเริ่มยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา โดยฝ่ายรัฐบาลก่อน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผูกปมความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะมีการออกกฎกติกาเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายคสช.ให้สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารมาอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจำแลง โดยสร้างกลไกเช่น การให้มีวุฒิสภาที่มาจากแต่งตั้งโดยคสช. 250 คน แถมวุฒิสภายังมีอำนาจเข้ามาแทรกแซงสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยสามารถลงมติเลือกผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ประการสำคัญ ยังกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลด้วยว่า บทบัญญัตินี้ ให้วุฒิสภามีอำนาจลงมติเลือกนายกฯ ได้ยาวถึง 5 ปี นับจากที่มีรัฐสภา นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า วุฒิสภาก็ยังลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้อยู่ แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งก็หมดโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เพราะถูกสกัดโดย ส.ว. รัฐธรรมนูญยังออกแบบทำลายพรรคการเมืองใหญ่ และมุ่งให้เกิดพรรคเล็กจำนวนมาก ทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพ เกิดการต่อรองจากพรรคเล็ก

ที่เป็นปัญหาคือ ระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่สร้างความสับสนในการคำนวณ สส. จนเกิดเรื่องมหัศจรรย์ขึ้น สส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเล็ก ได้รับเลือกเป็น สส. จากการคำนวณเสียงทั่วประเทศ สามารถหลุดเก้าอี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับผลการกระทำของตัวเอง หากแต่เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม สส. ในบางพื้นที่ สามารถกระทบชิ่งมายังการคำนวณคะแนนสัดส่วนใหม่ ทำให้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ท้ายลำดับทั้งหลายต้องร้อนๆ หนาวๆ ที่อาจหลุดตำแหน่ง

รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่า ไม่สามารถยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ได้อีก เพราะนานวันยิ่งเห็นปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น จากความไม่เป็นธรรม การตัดสินขององค์กรอิสระชุดปัจจุบันบางชุดที่ลากยาวมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นกลาง

หาก “กด” คู่แข่งอีกฝ่ายด้วยกติกาไม่เป็นกลาง กรรมการถูกมองว่าลำเอียง เข้าข้าง ไม่แปลกที่ ประชาชนในฐานะผู้ชม และหุ้นส่วนประชาธิปไตยจะออกมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมในการแก้ไขกติกา ถ้ารัฐสภา กลไกในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาที่เป็นฉันทามติของประชาชน โดยใช้เทคนิคเสียงข้างมากสกัดกั้น การประท้วงกันนอกสภาก็ย่อมเกิดขึ้น

ที่น่าแปลก นักการเมืองพรรครัฐบาล ผลิตวาทกรรมต่างๆ นาๆ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเดินหน้ายุติความขัดแย้งเพราะกลัวประเทศเสียหายจากปัญหาผลกระทบโควิด ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง หากเกิดม็อบท้องถนนยิ่งทำให้ประเทศถอยหลัง แม้แต่นายกรัฐมนตรีเอง พยายามสร้างมิติใหม่ในการบริหารประเทศประกาศนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” เป็นการเมืองยุคใหม่ New Normal ผนึกทุกภาคส่วน ร่วมวางอนาคตประเทศไทย ทำงานเชิงรุก กำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน

ทั้งหลายทั้งปวง การแก้วิกฤตความขัดแย้งจะไม่มีทางสำเร็จได้ ถ้าไม่ปลดล็อครากเหง้าจากกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เริ่มลงมือรวมพลังเพื่อแก้ปัญหา ประเทศก็จะติดหล่ม ไม่เห็นทางออกไปอีกนาน

**************************