posttoday

“หนุน-ค้าน” นิรโทษกรรม แกนนำ 3 รุ่นส่องอดีต...บทเรียนถึงปัจจุบัน

21 กรกฎาคม 2563

ข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งจาก คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาที่เรียกร้องผ่านที่ประชุมวุฒิสภาให้รัฐบาลรีบออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เข้าวาระที่นายกรัฐมนตรี เสนอเรื่อง “รวมไทยสร้างชาติ”

หลักการที่คำนูณเสนอคือ ผู้ชุมนุมและอาจรวมถึงแกนนำทั้ง พันธมิตรฯ, นปช., กปปส. ก็จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด แต่จะไม่รวมคดีทุจริตของทักษิณ--ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึง คดีหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

แม้นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ข้อเสนอนิรโทษกรรมถูกพูดมาหลายครั้งเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแต่ก็ต้องพับไปเพราะกลัวเกิดกระแสค้านจากเมื่อครั้งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แอบเสนอ พรบ.นิรโทษกรรม สุดซอยเพื่อช่วยทักษิณ จนเกิดการชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่

ความขัดแย้งการเมืองไทยผ่านมา 15 ปีนับแต่มีม็อบเสื้อเหลืองขับไล่ทักษิณเมื่อปี 2548 ตามมาด้วย ม็อบเสื้อแดงขับไล่อภิสิทธิ์ ม็อบชมพู-กปปส.ขับไล่ยิ่งลักษณ์ เกิดการรัฐประหารสองครั้ง มีบทเรียนที่เกิดกับประเทศทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม ขณะที่แกนนำม็อบทั้ง 3 รุ่น เหล่านี้ต้องมารับผลการกระทำ ติดคุกมีคดีขึ้นศาลมากมาย มีตัวอย่างให้เห็น กระนั้นก็ยังเกิดม็อบรุ่น 4 จากขบวนการนักศึกษาร่วมกับแกนนำเสื้อส้ม ออกมาขับไล่ “บิ๊กตู่” เป็นวงจรความขัดแย้งไม่จบสิ้น

0รวมพลังสร้างชาติ โอกาสสำคัญสลายขัดแย้ง

การจุดประเด็นนิรโทษกรรม ขึ้นใหม่ใน พ.ศ.นี้ที่ประเด็น “ความปรองดอง” ยังเป็นเส้นขนานในทางการเมือง น่าสนใจว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร และ พล.อ.ประยุทธ์ จะรับลูกไปเดินหน้าต่อหรือไม่ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ถึงจุดประสงค์ให้มีการนิรโทษกรรมว่า การที่นายกฯเสนอคำขวัญรวมไทยสร้างชาติ จะปรากฏเป็นจริงได้ ก็ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศ ที่ร้าวลึกแบ่งคนในชาติเป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ ดังนั้น ควรจะมีความปรองดองที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถดำเนินการด้วยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เขาบอกว่า ประเทศไทยเองเรื่องนิรโทษกรรมแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น เราเคยมีนโยบาย 66/2523 ที่นิรโทษกรรมเปิดโอกาสให้คนที่เคยจับอาวุธต่อสู้กับรัฐเข้ามาใช้ชีวิตตามปกติ เรื่องเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วและได้ผล เราควรใช้จังหวะนี้ ที่เหมาะสมอีกอย่าง คือเราอยู่ในช่วงการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปรับปรุงแผนปฏิรูประเทศ ที่คณะกรรมการกำลังปรับปรุงกันใหม่ ถ้าเพิ่มเรื่องนี้เข้าไปเป็นเรื่องเอกก็จะเหมาะสมที่สุด

“พล.อ.ประยุทธ์ มีบารมีเพียงพอ เป็นนายกฯมา 6 ปีเต็ม ถ้าท่านทำเรื่องยากๆ เรื่องนี้สำเร็จได้ มันจะเพิ่มพลังเพิ่มบารมีของท่านให้ก้าวไปสู่การเรื่องที่ยากกว่านี้ให้สำเร็จได้เพิ่มขึ้นไปอีก” เขาเสนอว่า นายกฯควร แสดงเจตจำนงทางการเมือง ด้วยการเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ซึ่งจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของสองสภา ในชั้นกรรมาธิการก็ควรจะมีส่วนผสมที่มาจากทุกภาคส่วนทุกพรรคการเมืองร่วมทั้ง ส.ว. ส่วนหลักการของกฎหมายน่าจะอยู่ในหลัก 4 ประการนี้

1.เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมการเมืองโดยตรงในรอง 15 ปี 2.ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วไม่ว่าอยู่ในชั้นใดย่อมได้สิทธิ์นิรโทษกรรมทั้งหมด 3.ผู้ที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะหลบหนี หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ไม่ตัดสิทธิ์ เพียงแต่จะต้องกลับเข้ามารายงานตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน 4.กฎหมายฉบับนี้ควรจะต้องมีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาตัดสินเฉพาะกรณีไป ตรงนี้เป็นหลักการกว้างๆ

“ยกตัวอย่างคนที่หลบหนีคดี เช่น นายทักษิณ ชินวัตร เขาไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้กระทำผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง คดีของท่านเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะอ้างอย่างไรก็อ้างไปแต่หลักการกฎหมายต้องชัดเจน รวมถึงคดีผิดกฎหมายอาญา 112 ก็ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง ถ้ายึดหลัก 4 ข้อที่ว่าก็จะชัดเจนว่าอะไรเข้าเกณฑ์บ้าง ไม่ใช่การเสนอสุดซอย มันสุดไม่ได้ เพราะตัวอย่างก็มีปรากฏให้เห็นมาแล้ว คือ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อปี 56 ที่คุณวรชัย เหมะ เสนอเข้ามาตอนแรกไม่มีคนคัดค้าน แต่เมื่อมีการแปรญัตติที่คุณประยุทธ์ ศิริพาณิช ไปเปลี่ยนแปลงหลักการ จึงเกิดปัญหาขึ้น เรื่องนี้เราก็ต้องเก็บรับบทเรียนดีๆ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก”

0 จตุพรตัดพ้อชะตากรรมนักต่อสู้คือ คุก ถึงจุดที่สังคมต้องปรองดอง

สอดรับกับมุมมองจากแกนนำเสื้อแดง อย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่เห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้ สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอดก็คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในชาติที่จะต้องร่วมกันฝ่าฟันวิกฤต และโดยส่วนตัวหลักการการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าใครจะมีความเชื่ออย่างไร หรือจะเป็นสีใดก็ตามไม่ควรจะต้องมีใครบาดเจ็บล้มตายหรือจะต้องติดคุกแต่เพียงรายเดียว “ผมในฐานะที่ได้ผ่านคุกผ่านตารางและมีพรรคพวกอยู่เรือนจำเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสื้อสีอื่นเขาก็ติดคุกเหมือนกัน เพียงแต่ของเราอาจจะมากกว่าแต่ไม่ใช่สาเหตุ เพราะผมเคยบอกตั้งแต่ออกจากเรือนจำแล้วว่า ทุกครั้งที่เดินเข้าเรือนจำไม่เคยพกเอาความคับแค้นเข้าไป เมื่อออกมาก็ไม่มีความคับแค้น เมื่อเราติดคุก ก็ไม่เคยต้องการให้ใครมาติดคุกเหมือนยกับเรา นี่เป็นชะตากรรมของการต่อสู้”

จตุพร กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม อย่างในประเทศไทยตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา มีมาแล้วทั้งหมด 23 ครั้ง มีทั้ง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. และยังไม่นับที่อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกหลายครั้ง ซึ่งครั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าทุกฝ่ายจากที่คุณคำนูณ ได้นำเสนอออกมา ไม่มีใครเห็นขัดแย้งกัน ต่างก็สนับสนุน มันควรจะเริ่มต้นด้วยความผาสุกกันได้แล้ว เพราะคนที่ต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรที่ก่ออาชญากรรม แต่เป็นการต่อสู้กันทางความเชื่อ “การที่คุณคำนูณ เสนอให้นายกฯ หรือรัฐบาลเสนอเป็น พ.ร.บ. จะดีที่สุด ผมคิดว่าจะเสนออย่างไรก็ได้อยู่แล้ว ถ้าสังคมเห็นพ้องต้องกัน วันนี้ไม่ว่าจะเป็นเสียงส.ว. เสียงฝ่ายค้าน เสียงฝ่ายรัฐบาล แม้ว่านายกฯ ไม่ตอบรับ ไม่ปฎิเสธ ก็ไม่ได้พูดอะไรให้เกิดเป็นอุปสรรค ตรงนี้ก็เป็นท่วงทำนองที่เป็นมธุรสวาจา เป็นมิตรไมตรี ผมคิดว่าเรากำลังเดินไปถึงจุดที่สังคมนี้จะได้ผ่อนคลายกัน” 0กปปส.ชี้ไม่ถูกเวลา ต้องค้นหาความจริงให้ได้ก่อน

ขณะที่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาช้าเกินไปหรือไม่ เพราะผู้เกี่ยวข้องก็ถูกดำเนินคดีไปแทบจะหมดแล้ว เพราะปกติกฎหมายนิรโทษกรรมจะใช้เมื่อมีคู่ขัดแย้งด้วยกัน และส่งผลให้เกิดสถานการณ์ความสงบขึ้น แต่ขณะนี้ความขัดแย้งเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่ได้ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงแล้ว

"กปปส. ส่วนใหญ่เห็นว่าการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นการใช้สิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และรู้สึกว่าเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ จึงพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้นการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมในเวลานี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น การทำกฎหมายนิรโทษกรรมควรต้องเกิดจากหลักใหญ่คือการปรองดอง คำถามคือวันนี้จะให้ใครปรองดองกับใคร และการปรองดองนั้นต้องเริ่มจากการยึดทรัพย์ให้มีการเปิดเผยความจริง หรือการค้นหาความจริงมากกว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในตอนนี้จึงอาจจะไม่ถูกเวลาและไม่ถูกสมมติฐานของโลก”

0บางกลุ่มชอบความขัดแย้ง หวังเลี้ยงไข้ได้ประโยชน์

ขณะที่ สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำ พธม. ซึ่งได้พ้นโทษจำคุก 8 เดือน ร่วมกับแกนนำพันธมิตร ในคดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 กลับเห็นต่างกัน เขามองว่า มีการเสนอในลักษณะนี้มาหลายครั้งแล้วแต่สิ่งที่น่าสนใจคือแต่รัฐบาลไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในการทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จนทำให้กลายเป็นแค่วาทกรรมที่จับยาก โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันซึ่งดูเหมือนน่าจะมีโอกาสที่จะทำให้เกิดขึ้นเพราะอ้างถึงเหตุผลหนึ่งในการเข้ามารัฐประหารว่าจะทำให้เกิดการปรองดองแต่ท่าทีของนายกรัฐมนตรีทำเหมือนกับว่ายังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ "ที่น่ากลัวที่สุดดูเหมือนว่าจะมีฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากการแบ่งขั้วในทำนองแบ่งแยกแล้วปกครอง มีมือที่สาม มีพวกฉวยโอกาสเกิดขึ้นในทางการเมืองไทย จนทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นประโยชน์กับเขาในมุมกลับ จึงเลี้ยงไข้ไปเรื่อยๆ เพราะอย่างน้อยทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลประคองไปได้ เพราะประชาชนแตกแยกกันเอกภาพในการตรวจสอบรัฐบาลก็เบาลงไปด้วย" อดีตแกนนำ พธม. กล่าว

สุริยะใส กล่าวว่า จริงๆแล้วรัฐบาลประยุทธ์มีโอกาสที่จะทำเรื่องนี้ดีกว่ารัฐบาลอื่นๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้านหรือคนที่เคยคัดค้านต่างก็ออกมาสนับสนุน การนิรโทษกรรมแบบ "กลางซอย" หรือเฉพาะความผิดทางการเมืองล้วนๆไม่เกี่ยวกับการฆ่าคนตายหรือคดี ม. 112 "ท่าทีของนายกฯ ก็แปลกทำท่าเหมือนกับว่ายังไม่คิดเรื่องนี้ทั้งๆ ที่ต้องคิดก่อนการรัฐประหารด้วยซ้ำ" นายสุริยะไสกล่าว และยืนยันว่าที่พูดแบบนี้มันไม่เป็นประโยชน์กับแกนนำผู้ชุมนุมเพราะ 10 ปีที่ผ่านมา 30% ของชีวิตใช้ไปกับคดีความการขึ้นโรงขึ้นศาล และอีก 30% อยู่กับการถอดบทเรียนการชุมนุม กับความเจ็บปวดบาดแผลที่เกิดขึ้น "ถ้านายกคิดเรื่องรวมใจสร้างชาติแต่บอกว่าไม่ได้คิดเรื่องนิรโทษ ผมก็แปลกใจจริงๆ" แกนนำ พธม. กล่าว

ด้าน ศ.ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ข้อเสนอให้นิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ดีและน่าช่วยให้บรรยากาศความขัดแย้งในการเมืองไทยที่ยืดเยื้อ เรื้อรังและร้าวลึกผ่อนคลายลงได้ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้คงต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าขอบเขตการนิรโทษกรรมจะครอบคลุมเพียงใด ถ้าเป็นการนิรโทษกรรมเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมตามความเชื่อทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง เชื่อว่าสังคมจะเห็นด้วยและรับได้ แต่หากครอบคลุมไปถึงแกนนำและคนที่ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายผู้อื่นก็เชื่อว่าจะมีกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านเช่นกัน “การนิรโทษกรรมการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้วแต่คงต้องรอดูว่ารายละเอียดไส้ในจะออกมาอย่างไร” ศ.ไชยันต์ กล่าว

ศ.ไชยันต์ กล่าวว่า แม้ว่าคู่ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปมากแล้ว จากกลุ่มที่มีอำนาจกับคนที่สนับสนุนนายทักษิณมาเป็นกลุ่มคนมีอำนาจกับพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า แต่เชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพรัฐบาลและจะช่วยลดปัญหาการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ว่าไม่เป็นกลางทางการเมือง

“เมื่อกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านจากสภาแล้ว พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ลงปรมาภิไธย ซึ่งถ้าไม่ทรงใช้อำนาจยับยั้ง ก็เท่ากับว่ากลุ่มอำนาจทางการเมืองทั้งหมดเห็นพ้องกันและมีเจตจำนงค์ให้เกิดความปรองดอง ทั้งนี้ยังต้องติดตามว่าการนิรโทษจะครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่กระทำผิดในมาตรา 112 ในช่วงก่อนเปลี่ยนรัชกาลด้วยหรือไม่ ถ้ารวมด้วยก็จะยิ่งส่งผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้ภาพลักษณ์ปลอดจากการเมืองไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด” ศ.ไชยันต์ กล่าว