posttoday

เหลื่อมล้ำ...เรียนออนไลน์4.0เด็กชนบทหลุดระบบการศึกษา

23 พฤษภาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*****************

การทดลองเรียนออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการสัปดาห์แรกเผื่อเป็นทางการเลือกในการแก้ปัญหาโรคระบาดที่จะเปิดเทอมเรียนจริงวันที่ 1 ก.ค. สร้างความชุลมุนให้กับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง จำนวนมาก แถมยังซ้ำเติมความยากลำบากให้กับคนเล็กคนน้อยที่กระทบจากพิษโควิดอยู่แล้วให้หนักขึ้น ทำให้เห็นถึงความไม่พร้อมของกระทรวงศึกษาเอง และสะท้อนถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม

ปัญหาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด ที่คนเล็กคนน้อยต้องแห่ไปยื่นเรื่องรองเรียนด้วยตัวเองที่กระทรวงการคลังเพื่อขอรับเงินเยียวยาจากภาครัฐ 15,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ที่เกิดความวุ่นวายในช่วงแรก เพราะ “การสำรวจตกหล่น” แม้ภายหลัง รัฐบาลได้แก้ปัญหาเยียวยาอย่างทั่วถึง มันก็ไม่ต่างอะไรจากปัญหาการเรียนออนไลน์ครั้งนี้ คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คือ กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรของรัฐที่ประชาชนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน มันจึงเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงขึ้น

ทั้งสองกรณีนี้ เป็นเรื่องของ “การหลุดขอบ” โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์พื้นฐาน ถึงแม้ ณัฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศว่า การทดลองเรียนออนไลน์ทั่วประเทศ จะได้ดูกันครบทุกครอบครัวเพราะจะสอนผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียม หรือผ่านทาง DLTV สำหรับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้น ม.3 ช่องสัญญาณ 17 ช่อง หรือ เรียนผ่านลิงก์ในอินเตอร์เน็ต แต่แปลกใจทำไม กระทรวงศึกษาไม่รู้ว่า มีอีกหลายครอบครัวในต่างจังหวัดที่ไม่มีช่องรับสัญญาณทีวี ไม่ต้องพูดถึงอินเตอร์เน็ต ยังเข้าไม่ถึงอีกไม่น้อย

กลุ่มเด็กยากจน ด้อยโอกาส เด็กพิการมีประมาณ 1.8 ล้านคน อยู่ในชายขอบของระบบการศึกษาตามข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาเจอผลกระทบโควิด ก็ยิ่งแล้วใหญ่ หากรัฐบาลจะเอาจริง จัดการศึกษาไม่ทั่วถึงผ่านระบบเรียนออนไลน์ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างนี้ เชื่อว่า เด็กกลุ่มนี้จะหลุดจากระบบการศึกษาไปอีกไกล

ปัญหาการทดลองเรียนออนไลน์ ที่เกิดในช่วงแรกมีสารพัด เช่น เสียงสะท้อนจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง จ.นครราชสีมา บอกว่า ครอบครัวมีลูก 5 แต่มีทีวีเครื่องเดียว ต้องผลัดเปลี่ยนกันเรียน บางครอบครัวบอก พ่อแม่ต้องทำงานหาเงินสู้โควิด จึงปล่อยลูกเรียนออนไลน์ตามลำพัง สุดท้ายลูกเอามือถือไปใช้เล่นเกม

บางบ้านผู้ปกครองได้รับความเดือดร้อน ต้องไปหาซื้อโน้ตบุ๊ก ให้ลูกใช้เรียน กลายเป็นเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองในยามวิกฤต แม้จะบอกเป็นการทดลองนำร่อง แต่ผู้ปกครองก็กังวล ถ้าไม่ให้เรียน ลูกอาจสอบไม่ผ่าน สุดท้ายก็ต้องไปลงทุนซื้ออุปกรณ์ให้

หลายคนเข้าใจว่า นี่เป็นการเรียนจริง มีการเก็บคะแนนเข้าห้องเรียน ถ้าไม่เรียนจะสอบตก แม้แต่ผู้ปกครองและเด็กในเมืองก็ยังเข้าใจเช่นนี้ จึงเสียเงินไปลงทุนซื้ออุปกรณ์ ในพื้นที่ต่างจังหวัดยิ่งน่าห่วง เพราะรู้ว่า คงไม่มีทางได้เรียนแน่ เพราะอุปกรณ์ไม่พร้อม เด็กที่อยากเรียนออนไลน์ต้องไปขนขวยเองอย่าง เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจทางหลวง ได้โพสต์ภาพกลุ่มเด็ก 4 คน โรงเรียนแห่งหนึ่งจ.ปราจีนบุรี มาขออนุญาตใช้สัญญาณ Wifi ที่ป้อมตำรวจเพื่อใช้เรียนออนไลน์

เราเองก็ชื่นชม เด็กกลุ่มนี้ แต่อีกด้านก็สะท้อนความล้มเหลวนโยบายเน็ตประชารัฐของรัฐบาลเองที่ประกาศว่า จะให้ขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 โดยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้ครอบคลุมทั่วประเทศที่ชนบทที่ห่างไกลที่ดำเนินนโยบายมาตั้งแต่ปี 2560 สมัยรัฐบาลคสช.จนข้ามมาถึงรัฐบาลนี้

ตัวอย่างอีกนิด มีข่าวที่ จ.ชุมพร 2 พี่น้องสอง ชั้นป.5กับ ป. 6 เรียนออนไลน์ผ่านมือถือ กับโทรทัศน์นานเกือบ 3 ชม. ต้องเพ่ง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดอาการมึนศีรษะ ตาบวม ถึงขั้นอ้วกอาเจียน หมอบอกว่า อาจเป็นเพราะเพ่งดูหน้าจอนานๆ อีกหลายครอบครัว ลูกต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน หารายได้เพิ่มจากผลกระทบช่วงโควิด จึงจำต้องทิ้งเรื่องการเรียนออนไลน์ไป

รายละเอียดปลีกย่อยยังมีอีกมาก เช่น การกำหนดให้เด็กเล็กอนุบาล 1-3 ต้องมาเรียนออนไลน์ด้วย อาจเป็นเรื่องที่ผิด เป็นการเร่งให้เด็กติดหน้าจอมากขึ้น เด็กอาจจะตื่นเต้นที่เห็นสีสันจอทีวี มือถือ แต่ระยะยาวเสียสุขภาพ ทำให้สมาธิสั้น ทั้งที่เด็กวัยนี้ต้องเน้นพัฒนาการทางอารมณ์ การเข้าสังคมปัญหาสำคัญ มาจากการ รมว.ศึกษาธิการ ที่ไม่สื่อสารให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มว่า นี่เป็นการ “ทดลองเรียน” ใครไม่มีอุปกรณ์ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องซื้อ

ทั้งหลายทั้งปวง สุดท้ายกระทรวงศึกษาธิการออกมายอมรับเองว่า การทดลองเรียน เกิดปัญหาหลากหลาย ทั้งการเข้าไม่ถึงช่องทีวี จูนสัญญาณช่องไม่ได้ หลายโรงเรียนมีแนวทางในการช่วยแก้ปัญหา คือให้มาเรียนที่บ้านเพื่อน ที่บ้านสามารถดู DLTV ได้ ในนักเรียนชั้นเดียว 2-3 คน แต่นั่นก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด

การศึกษาเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่รัฐพึงจัดให้ประชาชน แต่เมื่อปัญหาของระบบศึกษาไทยคือ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในแต่ละพื้นที่ ในพื้นที่ชายขอบกับในเมือง ระหว่างคนรวย กับ คนจน รัฐจึงไม่ควรใช้มาตรการเดียวกันในทุกพื้นที่ เพราะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างขึ้น และกระทบกับความรู้สึกจิตใจของคนด้อยโอกาสที่คิดว่า นี่ คือ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่มาซ้ำเติมอีก

ในพื้นที่ชายขอบ ตามข้อมูลสพฐ.ปี 2561 โรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน) ห่างไกลชนบททั่วประเทศมีอยู่ 15,089 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 50% ของโรงเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ 30,112 แห่ง เด็กนักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ยังต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน แน่นอนเด็กๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ต้องจัดทีมรุก จัดครู หรือ อาสาสมัคร ไปหาเพื่อสอนเป็นกลุ่มๆ เพราะหากโควิดเกิดระบาดรอบสอง โอกาสเรียนที่เด็กเหล่านี้จะหลุดวงโคจรการเรียนรู้ ก็ยิ่งหนักขึ้น เพราะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรความรู้ของรัฐได้

แต่ละพื้นที่ มีความแตกต่าง หลากหลาย หรือ พื้นที่ไหนปลอดโควิด ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง ก็ต้องยืดหยุ่น ข้อเสนอให้เปิดเรียนได้ในบางจังหวัดก่อนที่พร้อม ไม่ต้องรอ 1 ก.ค. จึงควรนำไปพิจารณา

ปัญหาการเรียนออนไลน์ที่เกิดขึ้น บนความชุลมุน อลหม่าน ยังไม่รู้ว่า จะแก้ปัญหาให้เด็กส่วนใหญ่เข้าถึงการเรียนการสอนให้เสมอภาคอย่างไรในช่วงสถานการณ์โควิด เพราะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการศึกษาอย่างจริงจัง

ลึกๆมันสะท้อนถึงปัญหาระบบศึกษาบ้านเราถูกทิ้งร้างมาช้านาน รัฐบาลแต่ละชุดแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรของชาติในอนาคต ความเหลี่อมล้ำเลยถูกทิ้งขว้าง ช่างต่างจากงบประมาณแต่ละปีที่กระทรวงศึกษาได้รับมากเป็นอันดับหนึ่งนำทุกกระทรวง แต่นั่นก็ไปใช้จ่ายกับเงินเดือน ครู บุคลากรจำนวนมาก ขณะที่ข่าวด้านลบที่เกิดกับครูก็มีตลอด เช่น ครูโกงเงินเด็ก ผอ.โรงเรียน กินหัวคิวค่าอาหารกลางวัน ต้นปีที่ผ่านมา ผอ.กอล์ฟ โรงเรียนในภาคกลางปล้นร้านทอง ฆ่า 3 ศพ ล่าสุด ครู 5 รายในโรงเรียนมุกดาหาร ถูกตั้งข้อหาข่มข่มนักเรียน

นักการเมืองไม่มีใครแย่งอยากมาเป็นรัฐมนตรีศึกษาเท่าไร บางรัฐบาลปรับครม.เก้าอี้รมว.ศึกษาถึง 5-6 คนในรัฐบาลชุดเดียว ภาคประชาสังคมก็ไม่เข้มแข็งที่ตรวจสอบ กดดันภาครัฐให้ปฏิรูปการศึกษาเหมือนด้านประชาธิปไตย ทำนองว่า การศึกษาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ใครมีเงินก็มีโอกาสส่งลูกหลานเรียนสูงๆได้

ภาพที่เกิดขึ้นจากเด็กชนบทจำนวนมากที่หลุดโคจรจากการเรียนออนไลน์ จึงเป็นภาพที่น่าเศร้าเสียจริง .....

***************************