posttoday

ปลดล็อคการ์ดอย่าตก...ปิดจุดอ่อนฆ่าโควิดถาวร

25 เมษายน 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*************************

เล่นเอาเสียวก่อนคลายล็อค ตัวเลขผู้ป่วยไวรัสโควิด อุตส่าห์ลดลงมาดีทุกวัน จู่ๆ เกิดพุ่งขึ้นมาอีก การรายงานยอดผู้ป่วยประจำวันเสาร์ที่ 25 เม.ย.ล่าสุด ทำเอาหลายคนตกใจเมื่อพบผู้ป่วยรายใหม่ 53 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์ ศบค. แยกแยะให้เบาใจได้ว่า 53 รายนี้พบกลุ่มก้อนใหม่จาก "แรงงานต่างด้าว" ที่อยู่ศูนย์กักขังด่านสะเดา จ.สงขลาถึง 42 ราย แบ่งเป็นคนพม่า 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน กัมพูชา และอินเดีย ชาติละ 1 ราย และมาจากการตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงเป็นการเฉพาะ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยรายใหม่ทั่วไปก็จะอยู่ที่ 11 ราย

ฟังแล้วก็ดูเบาใจ แต่ขอบอก ถึงแม้จะเป็นกลุ่มเฉพาะ ก็อดห่วงไม่ได้ เพราะกรณีสิงคโปร์ก็เกิดกับแรงงานต่างด้าวในหอพักจนตัวเลขผู้ป่วยพุ่งพรวด ก่อนจะยกระดับล็อคดาวน์อีกรอบ

จากนี้ก็ต้องรอลุ้นในวันต่อๆไป ตัวเลขผู้ป่วยของไทยจะพุ่งต่ออีกแค่ไหน และจะกระทบกับแผนคลายล็อคของรัฐบาลหรือไม่ เพราะตามแผน อีก 5 วันจากนี้ หรือวันที่ 1 พ.ค. รัฐบาลจะเริ่มปลดล็อคมาตรการล็อคดาวน์สกัดเชื้อไวรัสโควิดเป็นครั้งแรกหลังจากใช้ยาแรงคุมเข้มนับตั้งแต่ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มี.ค.

รวมเวลาทั้งหมด 1 เดือนกับ 4 วัน ที่เราสามารถชะลอการระบาดของไวรัสโควิดได้อย่างน่าพอใจจากตัวเลขผู้ป่วยสูงสุดประจำวันที่ 188 คนเมื่อต้นเดือนเม.ย.จนล่าสุดเหลือต่ำสุดที่ 15 คนต่อวัน

มาตรการผ่อนคลายจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป นำร่องในจังหวัดที่มีความเสี่ยงน้อยน้อยก่อน คือ 3-4 จังหวัดแรกใน 9 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว ถ้าประสบความสำเร็จก็จะขยายไปในกลุ่ม 38 จังหวัดที่ไม่มีการรายงานยอดผู้ป่วยในช่วง 14 วัน

ส่วนจังหวัดที่มียอดผู้ป่วยสูงสุด เช่น กทม. นนทบุรี หรือ ภูเก็ต อาจอยู่ในลำดับท้ายๆ ที่จะคลายล็อคได้กลางเดือน พ.ค.หรือต้นเดือนมิ.ย. การผ่อนปรนที่จะเกิดขึ้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เป็นทางสองแพร่งที่ต้องลุ้นระทึกเพื่อไม่ให้ตัวเลขผู้ป่วยดีดกลับมา

ด้านบวก แน่นอน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของประชาชน เปิดช่องให้มีรูหายใจ ไม่อดตายฉับพลัน วงจรทางเศรษฐกิจ หมุนต่อ การจ้างงาน การค้าขายพอได้เกิดขึ้นบ้าง

แต่อีกด้านที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ ผลกระทบทางลบ อาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองเหมือนในญี่ปุ่น และสิงคโปร์

ไทยเองตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจาก “ยาแรง” ของรัฐบาล ความแข็งขันของแพทย์ เจ้าหน้าที่ และความร่วมมือของประชาชนคนไทยที่ยอมเสียสละอยู่กับบ้าน ช่วยกันรักษาระยะห่าง

ถึงวันนี้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมในประเทศไทยของเรายังน้อย 51 ราย (25 เม.ย.) เทียบสัดส่วนอยู่ที่ 1.7% แต่ความสำเร็จที่สามารถชะลอการระบาดจนถึงเวลานี้กลับส่งผลกระทบรุนแรงเป็นความทุกข์ยากทรมานในวงกว้างกับคนทั่วไป อย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ได้ป่วยไวรัสโควิดด้วย

คนไม่ป่วยก็กลายโควิด ก็เป็นผู้ป่วยเหมือนกัน เพราะป่วยเครียดจากที่ต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินใช้ ขายของไม่ได้ รายได้หด เหมือน “ตายผ่อนส่ง” ตกงานแล้วจะไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะวิกฤตโควิดครั้งนี้ แทบทุกอาชีพเกือบจะเซ็ตซีโร่ ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ภาวะดิสรัปชั่นว่าหนักแล้วแต่นั่นยังมีเวลาให้เราเตรียมตัวหลายปี ตกงานแล้วยังเปลี่ยนทักษะ ไปทำงานอื่น สร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ แต่นี่ยิ่งกว่าถูกดิสรัปชั่นหลายเท่าแถมมาโดยไม่รู้ตัว

ภาคเอกชนประเมินว่า อาจมีคนไทยตกงานในช่วงไวรัสโควิดระบาดนี้สูงถึง 10 ล้านคนทีเดียว มาตรการล็อคดาวน์ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหนักขึ้น ข่าวการฆ่าตัวตายเพราะเครียดไม่มีเงินใช้ เกิดขึ้นรายวัน ครั้นจะรอพึ่งเงินเยียวยาของรัฐบาล 5,000 บาท 3 เดือน ซึ่งจนถึงวันนี้ (25 เม.ย.) มีคนไทยได้รับเงินแล้ว 14.7 ล้านคน จากยอดที่ขอเยียว 28.8 ล้านคน แต่ก็แค่พอประทังชีวิต ส่วนคนจน หาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นผู้ที่ควรได้รับการดูแลมากที่สุด ยังตกสำรวจเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง

โพลบางสำนักชี้ว่า ประชาชน 74% เห็นว่า มาตรการที่รัฐให้ประชาชนนั้น ยังไม่พอ และต้องการเพิ่มเติม ขณะที่ 25% ระบุว่ามาตรการจากรัฐบาลช่วยเหลือประชาชนเหมาะสมแล้ว

เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลจำเป็นต้องผ่อนมาตรการล็อคดาวน์เพื่อให้ประชาชน ภาคธุรกิจ ได้ฟื้นขึ้น แต่ประชาชนเองต้องรักษา “มาตรฐาน” การป้องกันไวรัสโควิดอย่างเคร่งครัดให้เหมือนตอนกักตัวอยู่ในบ้าน ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การรักษาระยะห่าง ทั้งหมด คือ สิ่งที่เราต้องยอมรับกับการเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เกิดความสมดุลให้ได้จากนี้จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดในปีหน้า

หลายคนเชื่อว่า ช่วงเกือบสองเดือนที่เราต้องกักตัว ได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองในการรับมือกับไวรัสโควิด ประชาชนใส่ใจสุขภาพตัวเอง เราเห็นผู้คนใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านหรือแม้แต่อยู่ในบ้าน หลายจังหวัดออกเป็นคำสั่ง ถ้าไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้านถือเป็นความผิด ถูกปรับ เช่น ภูเก็ต นครราชสีมา สมุทรสาคร จันทบุรี ปัตตานี สุรินทร์ ฯลฯ

ถ้าคนไทยทำได้มีวินัย เชื่อว่า โอกาสที่เราจะฟื้นตัวเร็วจากผลกระทบสงครามไวรัสก็มีสูงแต่ถ้าไม่ได้หรือที่คุณหมอโฆษกศบค.บอก “อย่าการ์ดตก” ตัวเลขผู้ป่วยก็อาจพุ่ง ที่ทำมาทั้งหมดเท่ากับศูนย์ ต้องมาเริ่มต้น นับหนึ่ง ล็อคดาวน์ใหม่ไปอีก 2 เดือน กระทบกับคนไทยทุกคนเอง

อย่างไรก็ตาม ช่วงผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เดือนพ.ค. ต้องบอกได้ว่า มี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ทุกฝ่ายต้องพึงระวัง ที่อาจทำให้ไวรัสโควิดกลับมาระบาดได้

1.ใกล้เข้าสู่หน้าฝนในเดือนมิถุนายน ช่วงหน้าฝน ที่อาจเกิดน้ำท่วมควบคู่ เป็นสาเหตุให้หลายโรคแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเพราะมีความชื้นสูง โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจทั้งหลาย ทั้ง ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ ปวดบวม ปอดอักเสบ ส่วนไวรัสโควิดแน่นอน ฝนอย่างนี้ ก็ย่อมแพร่กระจายเร็วขึ้น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า หน้าฝนเป็นช่วงน่ากลัว เพราะปกติถ้าเราเป็นหวัด จะรีบไปหาหมอ ถ้าเป็นไวรัสโควิดเรามีโอกาสตรวจเจอมาก แต่หน้าฝนคนจำนวนหนึ่งจะคิดว่าเป็นหวัด จึงไม่ไปตรวจ ดังนั้น ต้องเร่งตรวจเชื้อให้ได้มากๆ ก่อนที่ฤดูฝนจะมา โดยตั้งเป้าให้ได้ 2.5 หมื่นรายต่อวัน จากปัจจุบันออยู่ที่ 3,000 กว่าราย

2.ตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นไป มีคนไทยงลงทะเบียนขอเดินทางกลับเข้าประเทศเบื้องต้นจำนวน 8,998 คนใน 14 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ ที่ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโลกที่ 1,950 คน ส่วนประเทศในกลุ่มเสี่ยงอื่น เช่น อินเดีย กว่า 600 คน อินโดนีเซียอีกกว่า 500 คน เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางมาตรการรองรับให้ดี หากย่อหย่อนไปอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นได้

3.ผลจากการคลายล็อคที่จะเริ่มต้นเดือนพ.ค. ถ้าดำเนินมาตรการไม่รัดกุม เช่น ไม่รักษาระยะห่าง ในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาด หรือ กิจกรรมต่างๆ ที่ปลดล็อค ไม่เดินตามแผนสาธารณสุขที่รองรับ ก็อาจแพร่เชื้อ กลายเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์เหมือนในสนามมวยลุมพินี สถานบันเทิง

อย่าลืมถึงแม้เราจะตรวจหาเชื้อมากขึ้นแล้วเป็น 142,589 ราย (20 เม.ย.) แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ดังนั้น ตัวเลขที่รัฐบาลแถลงยอดผู้ป่วยในแต่ละวัน จึงแค่ประมาณการณ์ในระดับหนึ่ง ยังไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงทั้งหมดในประเทศซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่านี้ เพราะมีกลุ่มที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการอีกจำนวนมาก แต่ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อรอบๆตัวเราได้ เหมือนที่ไปตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิดจากแรงงานต่างด้าวที่ด่านสะเดา

สิ่งสำคัญต่อมาตรการคลายล็อค ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันจริงจังถึงจะประสบผลสำเร็จ ชะลอการระบาดไวรัสได้พร้อมๆกับ ไม่อดตาย มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป แต่ถ้า ประมาท หละหลวม ชะล่าใจเมื่อไร อาจต้องอยู่บ้าน กักตัวเครียดไปอีกหลายเดือน เงินหายจากกระเป๋าอีกยาวแน่