posttoday

Thammasat Modelบทบาทมหาวิทยาลัยกับการสู้ภัย‘โควิด’

18 เมษายน 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*****************************

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19 นับเป็นความท้าทายระบบสุขภาพทั่วโลก สำหรับประเทศไทยจนถึงขณะนี้ มีความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะประวิงเวลาไม่ให้สถานการณ์บานปลายเกินกว่าการควบคุม

ตลอดสัปดาห์ เราจึงได้เห็นมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Social Distancing อย่างจริงจัง คำสั่งล็อกดาวน์เฉียบขาดในหลายจังหวัด ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างเข้มข้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความวิตกกังวลของประชาชนลดน้อยลงแต่อย่างใด

ท่ามกลางการสู้รบในสมรภูมิสุขภาพที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด ทางรอดเดียวคือทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเท่าที่กำลังตัวเองจะเอื้ออำนวย ตัวอย่างหนึ่งคือการดำเนินการของ “สถาบันอุดมศึกษา” ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ งานวิจัย นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีนวัตกรรม ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างและกำลังคนที่พรั่งพร้อม

ที่ดูจะโดดเด่นที่สุดและทำงานอย่างเป็นระบบจนได้รับยกย่องให้เป็น “ต้นแบบ” ของประเทศ ก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำที่โลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์สังคม-การเมืองของประเทศไทยมานานกว่า 8 ทศวรรษ ซึ่งพิสูจน์ตัวเองในฐานะ “มหาวิทยาลัยของประชาชน” ด้วยการนำทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่มาสนับสนุนการยับยั้ง COVID–19 อย่างเป็นระบบและถือเป็นองค์กรแรก สถาบันการศึกษาแรกที่ช่วยเหลือสังคมต่อการฝ่าวิกฤตโควิด

ภายใต้สถานการณ์ภัยคุกคามด้านสุขภาพอันเลวร้ายครั้งนี้ ชื่อของธรรมศาสตร์กลายเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง เมื่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัยตัดสินใจสละอาคารหอพักนักศึกษาปรับปรุงเป็น “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” ขนาด 308 เตียง รองรับผู้ป่วยจาก 5 โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่กล้าตัดสินใจเช่นนี้

“เรามีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในการกำกับดูแลทั่วประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏอีก 38 แห่ง หากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น ก็จะใช้โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เป็นต้นแบบเพื่อขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ ให้พร้อมต่อการรองรับผู้ป่วยทั่วประเทศ” สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ภาพความสำเร็จของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ อาจเป็นเพียงแค่หนึ่งส่วนจากสิบส่วนที่มีการดำเนินการ เพราะนับตั้งแต่ไวรัส COVID–19 ระบาดใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ระดมทรัพยากรออกมา “รับใช้สังคม” ในอีกหลากหลายโครงการ

เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า นอกจากการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพเพื่อรับใช้สังคมแล้ว มหาวิทยาลัยยังต้องมีส่วนร่วมในการหาทางออกหรือแก้ไขปัญหาประเทศชาติด้วย ซึ่งหัวใจของการทำงานในสถานการณ์ไม่ปกติก็คือ ความกล้าหาญในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและทันท่วงที โดยยึดเอาประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก

“เราเชื่อในทรัพยากรและศักยภาพที่มีว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา หรืออย่างน้อยก็ขอชะลอความเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้” อาจารย์เกศินี ระบุ

สำหรับการทำงานของธรรมศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มที่ ระดับมหาวิทยาลัย ที่ต้องการดูแลนักศึกษาและบุคลากรของตัวเองให้ดีที่สุดในทุกมิติ ระดับพื้นที่ คือการดูแลและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งก็คือ จ.ปทุมธานี และใกล้เคียง ระดับประเทศ คือการแบ่งเบาภาระของประเทศชาติให้ได้มากที่สุด

เป้าหมายทั้งสามระดับนี้ ถูกนำกลับมาออกแบบเป็นมาตรการและนโยบาย ซึ่งทั้งหมดต้องทำควบคู่กันไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์

เริ่มจากการดูแลนักศึกษาและบุคลากร ธรรมศาสตร์ได้ทำประกันไวรัสโคโรนาให้แก่บุคลากรและนักศึกษาทุกชั้นปีรวมแล้วกว่า 4 หมื่นชีวิต เยียวยาผู้ที่พักในหอพักด้วยการลดค่าเช่าและคืนค่าเช่า และได้มอบทุนการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,000 ทุน ตลอดจนมอบ Internet Package แก่นักศึกษาที่ขาดแคลน และจัดบริการสั่งและจัดส่งอาหารจากโรงอาหารไปยังหอพักภายใน-นอกมหาวิทยาลัย โดยคิดค่าส่ง 10-30 บาท เพื่อสร้างรายได้ให้กับแรงงานในมหาวิทยาลัยด้วย

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาโปรแกรมเฝ้าระวังและติดตามอาการของนักศึกษาและบุคลากรที่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ในชื่อว่า TU COVID-19 ซึ่งจะช่วยคัดกรองและประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ไปจนถึงการบันทึกข้อมูลสุขภาพ ตำแหน่งการเดินทาง และการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผ่านทั้งแชทบอท (CHATBOT) และการตอบคำถามจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

สำหรับการดูแลคนในพื้นที่ใกล้เคียง มีตั้งแต่การผลิตเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และ Chlorhexidine แจกจ่ายให้กับประชาชนในละแวก เป็นซึ่งความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ร่วมมือกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมไปถึงการเปิดห้องตรวจปฏิบัติการ (lab) ศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุลของคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อช่วยโรงพยาบาลใน จ.ปทุมธานี ตรวจยืนยันเชื้อไวรัสในราคาทุน ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจที่ส่วนกลาง สามารถร่นระยะเวลาการรอคอยผลจาก 12 ชั่วโมง เหลือเพียง 4-6 ชั่วโมง

หรือการสนับสนุนการทำงานในระดับประเทศนั้น คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนผลิต “หน้ากากสะท้อนน้ำ” (ThamMask) ที่สามารถซักแล้วนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 30 ครั้ง จำนวน 6 หมื่นชิ้น ส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

แต่ด้วยการผลิตต้องใช้งบประมาณสูงถึง 1.65 ล้านบาท ธรรมศาสตร์จึงเปิดแคมเปญระดมทุนให้ประชาชนช่วยสนับสนุนซึ่งเพียงแค่ข้ามคืนยอดบริจาคก็ทะลุเป้า ถัดจากนี้จะมีการระดมทุนและผลิตเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการพัฒนาหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และประชาชนที่ทำงานในภาคการบริการสาธารณะซึ่งต้องพบปะผู้คน

Thammasat Modelบทบาทมหาวิทยาลัยกับการสู้ภัย‘โควิด’

ขณะที่ คณะนิติศาสตร์ได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส” หรือ TU Pandemic Legal Aid Centre เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โคโรนาไวรัส

ล่าสุดคือการปรับปรุงหอพักนักศึกษาให้มีความเหมาะสมจัดตั้งเป็น “โรงพยาบาลสนาม” ขนาด 308 เตียง รองรับผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้ว ช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลวชิระ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้มีเตียงเหลือสำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต่อไป

เกศินี อธิบายว่า ในสถานการณ์วิกฤตคงบริหารงานแบบปกติไม่ได้ สิ่งที่ผู้บริหารธรรมศาสตร์ร่วมกันทำคือจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัย แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยโดยไม่ละทิ้งประชาชนและประเทศชาติ ที่สำคัญคือการตัดสินใจที่ต้องรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์

อธิการบดีเกศินี ยกตัวอย่างถึงการตัดสินใจก่อตั้งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ซึ่งหลังจากผู้บริหารเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งจำเป็นและต้องจัดตั้งเพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน จึงสั่งดำเนินการทันทีและกำหนดให้มีการเคลียร์พื้นที่หอพักนักศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นเมื่อเข้าสู่ชั่วโมงที่ 49 หรือวันที่ 3 ก็สามารถเริ่มรับพนักงานและเริ่มทำงานได้ทันที

“การทำงานของเราเริ่มต้นจากโจทย์ความจำเป็นเป็นลำดับแรก จากนั้นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมเป็นฐานการขับเคลื่อน สุดท้ายคือการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อยกระดับการทำงานและก้าวข้ามข้อจำกัด” อาจารย์เกศินี ระบุ

สำหรับการจัดการเรียนการสอน อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ในเมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ การจัดเรียนการสอนทั้งหมดก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งธรรมศาสตร์มีพื้นฐานเรื่องการเรียนออนไลน์ภายใต้แนวคิด “ธรรมศาสตร์ตลาดวิชา” อยู่แล้ว ฉะนั้นเราจึงมีพื้นฐานที่แข็งแรงในการปรับเปลี่ยนไปสู่การเรียนการสอนออนไลน์แบบ 100%

“เรามีทั้งอาจารย์รุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีและอาจารย์อาวุโส ดังนั้นอาจารย์รุ่นใหม่ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่เข้าไปช่วยสนับสนุนให้อาจารย์อาวุโสสามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ในขณะที่อาจารย์อาวุโสก็พร้อมจะปรับตัวทันที ทั้งหมดเลยมีความไหลลื่นไม่ติดขัด ซึ่งแนวทางนี้ยังถูกนำไปใช้กับการประชุมของบุคลากรฝ่ายสนับสนุนและคณะกรรมการต่างๆ ด้วย”  อาจารย์เกศินี กล่าว

Thammasat Modelบทบาทมหาวิทยาลัยกับการสู้ภัย‘โควิด’