posttoday

เมื่อคนไทยต้องกลับบ้าน"ร่วมมือกักตัว – เร่งยกระดับคัดกรอง"

11 เมษายน 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*********************************

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดของไทยในช่วงหลังจะลดลง คลายความกังวล แต่ก็ยังเบาใจไม่ได้ เพราะหากประชาชนคนไทยชะล่าใจขึ้น ไม่กักตัว และมาตรการของรัฐไม่ขึงตึงต่อเนื่อง โอกาสที่ตัวเลขผู้ป่วยจะดีดกลับก็เกิดขึ้นได้

ตัวเลขที่ลดลง มีสาเหตุหลักจากมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ในแต่ละจังหวัด การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่ 4 ทุ่มถึง 4 ตี การขันน็อต ตัดระบบขนส่ง มาตรการทำงานที่บ้าน บวกกับทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่รัฐ ท้องถิ่นทำงานกันแข็งขัน

หากดูสถิติตลอด 10 วันยอดผู้ป่วยของไทยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึงวันอาทิตย์ที่11 เม.ย. กราฟค่อยๆลดลงอยู่ที่ 127,120,104,103,89,102,51,38, 111,54, 45 ส่วนยอดผู้เสียชีวิตยังต่ำเฉลี่ยวันละ 1-3 คน จนเกิดความหวังว่า เราจะชะลอการแพร่ระบาดได้ หลังจากสองสัปดาห์ก่อน ยอดผู้ป่วยพุ่งหลักร้อยต่อวัน ที่สำคัญในเดือนเม.ย.นี้ แพทย์ และนักวิชาการ เตือนว่า เป็นเดือนชี้ชะตา ประเทศไทยจะเดินตามรอยตะวันตกที่ยอดผู้ป่วยแตะหลักหมื่น ทะยานขึ้นหยุดไม่อยู่ เสียชีวิตวันละหลายพัน

มาตรการที่รัฐค่อยๆ กระชับพื้นที่ ตรึงตัวเลขผู้ป่วยจนลดลงนี้ แต่ความกังวลใหม่ที่หลายคนเป็นห่วง การกลับบ้านของคนไทยในต่างประเทศที่มาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งในยุโรป เอเชีย และตามชายแดนไทย-มาเลย์ ที่ทยอยในแต่ละวัน อาจทำให้เราไม่สามารถชะลอการระบาดของไวรัสโควิดได้ กระทั่งเกิดกระแสตำหนิคนไทยที่เดินทางกลับว่า เป็นผู้แพร่เชื้อเข้ามา ซึ่งยิ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยก เกลียดชังในสังคม

กรณีล่าสุด กลุ่มคนไทยมุสลิมภาคใต้ที่เดินทางกลับไทยจำนวน 76 คน หลังไปประกอบศาสนาพิธีที่อินโดนีเซีย พบว่า มี 42 คนที่ติดเชื้อกลับมา ทั้งที่ผ่านการตรวจคัดกรอง มีใบรับรองแพทย์ และถูกกักตัวที่อินโดนีเซีย 14 วันแล้ว หมายความว่า ในคณะกว่าครึ่ง ติดไวรัสโควิดกันหมด นี่นับเป็นกลุ่มก้อนผู้ป่วยขนาดใหญ่สุดที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเพียงไฟท์เดียว หลายฝ่ายกังวลกลุ่มคนไทยเหล่านี้ จะมาแพร่เชื้อเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์เหมือนก่อนหน้า

ผู้ป่วยไวรัสโควิดของไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นกลุ่มประกอบพิธีทางศาสนา ล่าสุด จ.สตูล ใต้สุดอีกแห่งที่ก่อนหน้าอยู่ใน 1 ใน11 จังหวัดปลอดผู้ป่วยโควิด ก็มาเสียสถิติเพราะมีคนไทยในสตูลติดเชื้อหลังไปร่วมคณะประกอบพิธีทางศาสนาที่กลับจากต่างประเทศด้วย

ที่เกิดความวุ่นวายสุดๆ เมื่อสองสัปดาห์ก่อน กลุ่มคนไทย 158 คนที่เดินทางกลับมาไทยถึงสนามบินสุวรรณภูมิ จาก 5 เที่ยวบิน แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎภาวะฉุกเฉิน ปฏิเสธการกักตัว สุดท้ายรัฐบาลต้องประกาศใช้อำนาจทางกฎหมายประกาศจะจับกุม หากไม่มาเข้ากักตัว 14 วัน ในสถานที่รัฐจัดให้จนยอมเดินทางมารายงานตัวครบ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษกับกลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยงเพราะพบว่า กลุ่มนี้เป็นผู้กลับมาแพร่เชื้อ ถ้าไม่เข้ม ก็หยุดโควิดไม่อยู่

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ศบค.) ยกเหตุผลมาสนับสนุนที่ต้องสแกนพิเศษกับ คนไทยกลุ่มนี้เพราะก่อนหน้านี้ คนไทยที่ไปประชุมที่อิตาลี 6 คน ติดเชื้อ 4 คน ต้องเฝ้าระวัง 50 คน ไปศาสนกิจที่มาเลเซีย 132 คน ติดเชื้อ 47 คน เสียชีวิต 4 คน กักกั้น เฝ้าระวังคนอีกกว่า 1,000 คน ศาสนกิจที่อินโดนีเซีย 56 คน ติดเชื้อ 32 คน เป็นต้น

นำมาสู่มาตรการของรัฐบาล สั่งห้ามบินจนถึงวันที่ 16 เม.ย. เพื่อชะลอการเดินทางของคนไทยและคนต่างชาติที่จะกลับมา ยกเว้นกลุ่มคนที่มีการขออนุญาตกันไว้ก่อนแล้วหรือคนที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง

ดังนั้น ที่ต้องติดตาม คือ ระหว่างนี้ยังมีคนไทยที่มีคิวทยอยเดินทางกลับเข้าประเทศทางเครื่องบินอีกมากถึง 5,453 คน รวมทั้งที่บริเวณด่านมาเลเซียอีกประมาณหมื่นคน แต่ด้วยมาตรการคุมเข้มกับข้อจำกัดเข้าสถานที่กักตัวโดยรัฐ ที่ด่านชายแดนสามารถรับกลับเฉลี่ยกลับวันละ 200-300 คนเท่านั้น ซึ่งหากเฝ้าระวังไม่ดีโอกาสที่กราฟจะพุ่งขึ้นก็มีสูง

คนไทยจำนวนมากที่ไปต่างประเทศมีหลากหลายทั้งนักศึกษา ลูกจ้าง ไปทำงาน นักธุรกิจ จำนวนไม่น้อยเป็นนักเรียน AFS ที่พ่อแม่ก็เป็นห่วงชะตากรรม เกรงจะไปตายต่างแดนด้วยไวรัสโควิด หลายคนต้องเขียนเรื่องราวบอกกล่าวปัญหาที่เผชิญบนโซเชียล ขอความช่วยเหลือ ขอความเห็นใจจากคนไทยด้วยกัน ที่เขาไม่สามารถเดินทางกลับได้ เพราะติดขัดกฎระเบียบ การออกใบรับรองทางการแพทย์ น่านฟ้าสายการบินปิดในช่วงวิกฤตโควิด ฟังแล้วเศร้าใจ หดหู่ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนไทยในสหรัฐที่วันนี้ สหรัฐกลายเป็นแหล่งติดเชื้ออันดับหนึ่งของโลก พ่อแม่ผู้ปกครองยื่นเรื่องถึงรัฐบาลวิงวอนให้ช่วยเหลือลูกหลาน 200 กว่าคน อายุเฉลี่ย14-16 ปี ให้พากลับไทย ที่ตอนนี้รู้สึกหวาดผวากับสถานการณ์โควิดที่นั่น และเพิ่งไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกเสียด้วย

ในสถานการณ์สงครามโรคระบาดนี้ ต้องเห็นใจซึ่งและกัน ใครที่ต้องการกลับ หนีร้อนมาพึ่งเย็นในแผ่นดินเกิดก็ต้องอ้าแขนรับเพราะเป็นคนไทยด้วยกัน ประเทศไทยยามนี้ปลอดภัยกว่า อเมริกา ยุโรป อัตราการติดเชื้อก็น้อยกว่า ระบบสาธารณสุขยังเป็นที่อุ่นใจ รองรับวิกฤตโควิดได้ สุดท้ายประเทศไทย ก็ยังเป็นที่พึ่งสุดท้ายในยามวิกฤต เราควรเห็นใจซึ่งกันและกัน

แต่สิ่งสำคัญ คนไทยในต่างแดนที่เดินทางกลับมาต้องปฏิบัติตามกติกา กฎหมายไทย อย่างเคร่งครัด ยอมกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ 14 วัน นี่ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพที่จะอยากจะไปไหนก็ได้เพราะคือบ้านฉัน หรือ ไม่ฟังคำแนะนำของหมอ พยาบาล หรือกล่าวอ้างหรือไม่พอใจการจัดการของรัฐบาล หรือจะมีอภิสิทธิ์ชน จนไม่ปฏิบัติตาม เพราะเราเผชิญสงครามอยู่ กฎเกณฑ์หลายฉบับที่ออกมาในสถานการณ์ฉุกเฉินจำต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพชั่วขณะเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประเทศทั่วโลกที่กำลังสู้กับไวรัสมฤตยูก็อยู่ในสภาพนี้เช่นกัน

สำคัญอีกก็คือ ระบบการกักตัว 14 วัน ของรัฐบาล อย่าให้เกิดช่องโหว่ การคัดกรองต้องมีประสิทธิภาพ ป้องกันตั้งแต่ต้นทางบนเครื่องบินจนถึงสนามบินอย่างเข้มงวดจนไปถึง 14 วันสุดท้าย จะเห็นได้ว่า หลายกรณีเกิดความหละหลวม เช่น การยอมปล่อย 158 คนไทยกลับไปก่อน หรือ การปล่อยให้กักตัวเองที่บ้านตัวเองก่อนหน้านี้ที่ไม่จริงจัง

ในสถานการณ์สงคราม ปัญหาจากการหย่อนยาน ไม่รัดกุมเพียงครั้งเดียว อาจนำมาสู่หายนะ สร้างปัญหาบานปลายได้ ไม่เพียงแต่เชื้อแพร่กระจาย แต่จะทำให้ คนไทยด้วยกันมองคนไทยที่เดินทางกลับด้วยความรังเกียจ เดียจฉันท์ เกิดบรรยากาศความเกลียดชังขึ้น แต่อีกด้านเมื่อรัฐบาลยืนยันว่า การควบคุมที่ด่าน สนามบิน เข้มงวดดีแล้ว แต่หากพบคนไทยเดินทางกลับจากและติดไวรัสโควิดจนมาแพร่กระจายเชื้อมากเท่าไร ก็ยิ่งสะท้อนถึงช่องโหว่ของระบบคัดกรองและการกักตัวที่ล้มเหลวมากเท่านั้น เป็นเรื่องที่ต้องตำหนิภาครัฐอีกเช่นกัน

**********************************