posttoday

'ปิยบุตร'ลั่นหมัดน็อคมีแน่ มิติใหม่เวทีซักฟอก'ลุงตู่'

05 กุมภาพันธ์ 2563

"ผมอยากให้ทำความเข้าใจว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ไม่ใช่ไปจบกันที่เรื่องทุจริตคอรัปชันอย่างเดียว แต่มีเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินด้วย"

โดย - เอกราช สัตตะบุรุษ

************************

ใกล้เข้ามาทุกขณะกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหัวหน้าพรรคอย่าง "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ที่หลุดจากการเป็นส.ส.ไปแล้ว ด้วยคดีถือหุ้นสื่อ และแม้เขาจะยังทำหน้าที่ในการเป็นหัวหน้าทีมเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เมื่อตัวเองไม่สามารถเข้ามานั่งในสภาได้ บทหนักจึงตกไปอยู่ที่เลขาธิการพรรคฯ คือ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นอกจากต้องมีส่วนช่วยการในการเตรียมทีม เตรียมข้อมูลแล้ว “ปิยบุตร” ยังต้องรับหน้าที่ในการอภิปรายเปิดหัวอธิบายภาพรวมทั้งหมดในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่ง "ปิยบุตร"บอกว่าได้เตรียมทำการบ้านอย่างดี โดยกรอบในการอภิปราย ต้องทำความเข้าใจว่า ที่ผ่านมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องเป็นเรื่องทุจริต และต้องมีใบเสร็จ แต่ครั้งนี้ไม่จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 40 เป็นต้นมา ได้เปิดช่องเอาไว้ว่าให้สามารถอภิปรายในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินอื่นๆ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจมันเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ใช่ความรับผิดชอบทางกฎหมาย

ดังนั้นอาจจะมีทั้งเรื่องทุจริตคอรัปชัน แล้วก็มีเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องคุณสมบัติตัวบุคคล เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงแนวนโยบายที่ทำแล้วมันไปกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นปัญหาปากท้อง

"ผมอยากให้ทำความเข้าใจว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ไม่ใช่ไปจบกันที่เรื่องทุจริตคอรัปชันอย่างเดียว แต่มีเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินด้วย"

ทั้งนี้กรอบการอภิปรายของพรรคอนาคตใหม่ จะครอบคลุมทั้งหมดทั้งเรื่องทุจริต เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เช่นดำเนินนโยบายผิดพลาด เรื่องคุณสมบัติ เช่นคุณสมบัติ แบบนี้ไม่ควรมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน มีรอยด่างพร้อย มีปัญหาอะไรต่างๆ ซึ่งสารธารณชนติดตามอยู่เสมอว่ารัฐมนตรีบางคนมีประวัติที่มีปัญหาตั้งคำถามได้ ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสีเทาๆ ซึ่งทางกลับกันเป็นโอกาสให้รัฐมนตรีได้ตอบด้วย

"เราทำงานกันเป็นทีม หัวหน้าทีมคือ "ธนาธร" หัวหน้าพรรคฯ ในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เป็นคนสังเคราะห์ข้อมูล แจกงานให้กับส.ส.แต่ละคน โดยตัวส.ส.แต่ละคนที่จะอภิปรายไม่ใช่แค่รับข้อมูลมาอ่าน แต่ส.ส.คนนั้นต้องทำการบ้านด้วย ต้องติดตาม หาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นนั้นๆด้วย แล้วต้องอินกับมัน เพราะเราเชื่อว่าคนที่อินกับมันจะอภิปรายออกมาได้ดี"

นอกจากนี้จะต้องมีการร้อยรัดข้อมูลให้เชื่อมโยงกันว่าในท้ายที่สุดแล้ว เราอภิปรายรัฐมนตรี 6 คน ด้วยส.ส. 15 คน ทั้งหมดมันจะเชื่อมข้อมูลร้อยรัดกันได้อย่างไร ตรงนี้"ธนาธร"เขารับบทบาทสำคัญในการเชื่อมข้อมูลทั้งหมด แล้วแจกประเด็นให้กับส.ส.

"ผมจะเป็นคนพูดเปิดในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ จากนั้นก็จะไล่ไปทีละคน ซึ่งครั้งนี้เข้าใจว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีให้จบเป็นคนๆไป โดยข้อมูลที่จะใช้ในการอภิปรายมีทั้งที่คนส่งเข้ามา เราไปสืบค้นหาเองก็มีส่วนที่ปรากฏเป็นข่าวก็มี"

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจะมีคนบอกว่าเราเป็นมือใหม่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะถือเป็นครั้งแรก ผมคิดว่าลีลาแนวทางการอภิปราย มันมีได้หลากหลายรูปแบบ ส.ส.ของพรรคก็มีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งแบบข้อมูลเน้นๆ เลยก็มี แบบที่มีลีลาการอภิปราย ใช้วาทศิลป์อะไรต่างๆ ก็มี แต่ความสำคัญที่สุดคือเรื่องข้อมูล

"เรื่องที่เป็นหมัดน็อค แน่นอนว่าเรามีอยู่เรื่องหนึ่ง ยังไม่เคยเปิดเผย ไม่เคยมีข่าวสาร เราเก็บไว้อยู่หนึ่งเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้ก็จะรวมๆกันทั้งนายกฯและรัฐมนตรี แต่นายกฯ ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล ก็ต้องรับผิดชอบเยอะที่สุด เรื่องนี้เราก็ไม่เชื่อมกับทางพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเรามีกติการในการทำงานร่วมกัน คือ พรรคฝ่ายค้านต่างต่างทำ ก็จะรู้กันแค่คนที่จะอภิปราย แล้วคนที่จะอภิปรายก็จะรู้แค่เรื่องที่ตนเองจะพูด เพราะมันเป็นเรื่องของการเก็บความลับเพราะมันมีโอกาสที่จะหลุดรอดไปถึงรัฐบาลได้"

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะสะเทือนรัฐบาลได้ถึงระดับไหน "ปิยบุตร"บอกว่า ระบบเสียงข้างมากแบบรัฐสภา ก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอด คือว่าในท้ายที่สุดการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะสำเร็จหรือไม่ มันอยู่ที่ข้อมูล อยู่ที่เสียงตอบรับจากประชาชนด้วย แน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาลยกโหวตยังไงก็ชนะอยู่แล้ว เพราะเขาเป็นเสียงข้างมาก แต่แน่นอนว่ามันมีเรื่องกระแสสังคมภายนอกที่จะกดดัน มีเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจจะเกิดรอยร้าวกันหรือไม่ ตรงนี้ต้องตามดูต่อว่าประชาชนจะมองเห็นว่าเรื่องต่างๆ จะทำลายความน่าเชื่อถือความชอบธรรมของรัฐบาลได้อย่างไร

การอภิปรายครั้งนี้เป็นรายบุคคลไม่ได้หวังที่จะล้มรัฐบาล แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นปัจจัยหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้รัฐบาลสูญเสียความชอบธรรม รัฐบาลจะล้มหรือไม่ สุดท้ายอยู่ที่ตัวรัฐบาลเองว่ามีเรื่องทุจริตหรือไม่ มีเรื่องสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำอีกจนคนทนไม่ไหวหรือไม่ รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องได้หรือไม่ หรือการที่จัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากนาดนี้สุดท้ายจะเกิดความขัดแย้งภายในกันเองจนไปต่อไม่ได้ ผมว่ารัฐบาลจะล้มด้วยสาเหตุทำนองแบบนี้

อย่างไรก็ตามในส่วนความคาดหวังในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นั้น "ปิยบุตร"ระบุว่า พรรคพยายามเปิดมิติใหม่ๆ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ใช่แค่เรื่องทุจริตเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของกึ๋น สมอง ฝีไม้ลายมือในการบริหารประเทศ เรื่องที่รัฐบาลสัญญาอะไรไว้แล้วไม่ได้ทำ เพราะคำว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจ มันคือความรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ใช่ความรับผิดชอบทางกฎหมายอย่างเดียว ที่จะต้องนำไปสู่การดำเนินคดีอาญา ไม่ใช่แค่นี้แต่มีเรื่องความเชื่อมั่นในทางการเมืองด้วย

อีกเรื่องคือการเราพยายามที่จะสร้างมิติใหม่ในการอภิปราย ทั้งเรื่องของข้อมูล เรื่องวิธีการนำเสนอ เราพยายามทำให้เป็นแบบใหม่ ส่วนที่ว่ารัฐบาลจะล้มหรือไม่ ผมคิดว่าฝ่ายค้านทุกพรรคก็ทำหน้าที่เต็มที่ ส่วนจะล้มได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ

สุดท้ายผมมั่นใจว่าพรรคอนาคตใหม่อยู่ถึงการอภิปรายไว้วางใจแน่นอน หากพูดถึงคดียุบพรรคจากกรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท คิดว่ายังมีเวลาอยู่ เพราะเพิ่งส่งคำชี้แจงไปเมื่อวัน 28 ม.ค. ที่ผ่านมาก เราขอให้ศาลเปิดกระบวนการไต่สวน เพราะกรณีนี้มีหลายเรื่องต้องไต่สวน โดยเฉพาะเอกสาร กกต.ที่หลุดออกมา ผมอยากให้ศาลท่านได้เรียกเอกสารชุดนี้จาก กตต. จะได้มาไต่สวนกันว่ามันจริงเท็จอย่างไร ซึ่งหากศาลเปิดการไต่สวนก็จะใช้เวลาไปอีกสักพักหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์แน่นอน ถึงแม้ในท้ายที่สุดถึงแม้จะเกิดเหตุยุบพรรคจริง การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ยังทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องว่าส.ส. ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน ซึ่งตรงนี้เราก็ยังเป็นส.ส.อยู่

"ปิยบุตร"ยังได้มองถึงอนาคตการเมืองไทย ว่า ปัญหาที่แท้จริงยังไม่ถูกแก้ไข เพราะต้องตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดอำนาจอยู่ที่ใคร อำนาจอยู่ที่ประชาชน หรืออยู่ที่องค์กรอื่น วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2549 แล้วก็มาเมือปี 2557 อีกรอบหนึ่ง แล้วคณะบุคคลก็ยังมาสืบทอดอำนาจอยู่ มันเป็นปัญหาความชอบธรรมในประชาธิปไตย แล้วหลังจากนี้รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ คิดว่ามันมีปัญหาที่จะทำให้กระหึ่มขึ้นมามีอยู่ 3 เรื่อใหญ่ๆ คือ 1.เรื่องปัญหาปากท้อง หากประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ ทั้งที่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมา 5 ปี แล้วมาเป็นต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง แล้วยังแก้ไม่ได้อีก

2.เรื่องของสองมาตรฐาน เรื่องนี้สะท้อนความรู้สึกของประชาชนมากขึ้น ค่อยๆสะสม เพราะเขาเห็นว่าในเรื่องแบบเดียวกันทำไมอีกฝ่ายโดนหมด แต่อีกฝ่ายมีข้อยกเว้นให้หมด สมัยก่อนอาจเป็นเรื่องคดีการเมือง ขณะนี้ก็จะขยับมาเป็นเรื่องที่ดินสปก. มาเป็นเรื่องเสียบบัตรแทนกัน เหล่านี้จะตอกย้ำความรู้สึกของประชาชนให้มากขึ้นๆ และ 3.คือเรื่องตัวรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบมาไม่ได้ทำให้ความปรองดองมันเกิดขึ้นจริง ความขัดแย้ง ความเห็นต่างยังอยู่เหมือนเดิมแต่ถูกกดเอาไว้ด้วยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ฝ่ายแพ้เลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล

ประเด็นเหล่านี้จะเป็นปัญหาทั้ง 3 ข้อมันจะค่อยๆสะสมไปเรื่อยๆ แล้วการลุกขึ้นมาของประชาชนในหลายประเทศ มันเป็นเรื่องที่มีการสะสมความไม่พอใจกันมาเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งมันก็ระเบิดออก

สิ่งนี้รัฐบาลต้องคิดพิจารณาให้ดีว่าจะประคับประคองตรงนี้ไปอย่างไร หากจะนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนแล้ว และต้องยืนยันว่าจะต้องไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก แต่อย่างที่บอกว่าคนทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกแบบมาเพื่อให้มันไปสู่ทางตัน ที่สำคัญเขาออกแบบมาเพื่อไม่ให้แก้ หรือแก้ได้ยากที่สุด ผมอยากเรียนว่าหากสุดท้ายมติมหาชนบอกว่าต้องแก้ ซึ่ง ส.ว. ก็ควรต้องกลับใจเพื่อให้เกิดการแก้ไข

**************************