posttoday

อย่ามัวรอตายดาบหน้า!เลขาองค์กรน้ำเตือนรับมือวิกฤตแล้ง

14 มกราคม 2563

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

***************************************

“ปัญหาภัยแล้ง อย่ามัวรอตายดาบหน้า เมื่อเราส่งสัญญาณ ทุกฝ่ายก็ต้องรีบหามาตรการประหยัดน้ำ ถามว่า กระเทือนไหม หากไม่มีน้ำในอนาคต เพราะน้ำมีแค่ก้อนเดียวเหมือนตอนเราเปิดก๊อก ทุกคนก็จะแย่งน้ำใช้กันแน่ แต่ก่อนตอนปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งใหญ่ ยังมีทหารไปเฝ้าตามแหล่งน้ำต่างๆ จนมีวินัยการใช้น้ำขึ้นมา แต่ปัจจุบัน มันไม่สามารถจับมือใครดมได้ เราเป็นประชาธิปไตย แน่นอนเมื่อเราส่งน้ำมาก ทุกคนก็อยากจะดูด เอาไปใช้เพื่อเก็บเอาไว้ใช้เอง มันก็จะเกิดปัญหาทะเลาะ ขัดแย้งจากการแย่งน้ำกันได้”

คำเตือนจาก ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หัวเรือใหญ่ในการกำกับ วางแผนการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบของประเทศ ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ เร่งรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า จะวิกฤตรุนแรงในรอบหลายสิบปี

สทนช.เพิ่งก่อตั้งมาได้ 2 ปี โดยคำสั่ง คสช. ให้เป็นองค์กรกลางด้านน้ำถือเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแล บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ บนวิสัยทัศน์ที่ว่า น้ำคือ ความมั่นคงของประเทศ ในช่วง 2 ปี สนทช.ได้มีบทบาทเสนอแนะนโยบาย จัดทำแผนยุทธศาสตร์ มาตราการสู่การปฏิบัติ ติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว

ดร.สมเกียรติ เป็นผู้บุกเบิกหน่วยงานน้ำแห่งนี้ จากการเป็นเลขาสทนช.คนแรก เขาเชี่ยวชาญ ผ่านงานน้ำมาอย่างโชกโชน ก่อนจะมานั่งเก้าอี้ เลขา สนทช. เจ้าตัวดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานช่วงสั้นๆ ในปี 2559 รวมถึง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ระหว่างปี 2559 - 2560 และ อดีตรองประธานบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council : AWC)

เส้นทางชีวิตของ ดร.สมเกียรติ เป็นชาวนครสวรรค์ ในครอบครัวเกษตรกร ช่วยพ่อแม่ ทำนามาตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้ความยากลำบากของเกษตรกรเป็นอย่างดี ชีวิตมาหันเหเมื่อเข้ากรุงเทพมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านชลประทานเมื่อปี 2524 จากนั้นต่อปริญญาโท ด้านทรัพยากรน้ำ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (Asian Institute of Technology /AIT) ก่อนจะบินไปปริญญาเอก : Ph.D. (Agricultural and Irrigation Engineering) Utah State University, USA. ปี 2537 โดยหวังว่า การไปต่ออเมริกาจะกลับมาเป็นมันสมองให้กับกรมชลประทาน จนที่สุดฝันก็เป็นจริงเมื่อได้เข้าทำงานในสำนักงานบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน จนเติบโตในหน้าที่การงาน เป็นหัวจักรสำคัญในการวางแผนจัดการน้ำของประเทศในปัจจุบัน

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่จะเกิดภัยแล้งปีนี้มาจาก ช่วงต้นฤดูฝนเมื่อปีที่แล้วจากที่เคยคาดว่า ฝนจะมาปลายฤดูฝน แต่โชคไม่ดี พายุที่เข้ามาไม่ได้เข้าไปถึงใจกลางของภาคกลางและตอนเหนือของภาคอีสานทำให้การกระจายตัวของฝนเกิดปัญหา บางพื้นที่ฝนน้อยลดลงไปประมาณ 30-40% เมื่อฝนไม่มาทำให้น้ำที่อยู่ที่ท้ายเขื่อนที่เคยมีหล่อเลี้ยงได้ถึงเดือนพ.ย. มันไม่มีน้ำ น้ำในฤดูฝนจึงหมดเร็ว ส่งผลต่อการจัดการน้ำในปี 2563 นี้ค่อนข้างลำบาก นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนปี 2563 จะลดลงจากเดิม แต่อาจจะมากกว่าปี 2562 เล็กน้อย

“ในช่วงปลายเดือน ต.ค. เราประเมินสถานการณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ความว่า ในภาคกลางเองโดยเฉพาะในทุ่งเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำที่หมิ่นเหม่มากๆ คือ ก่อนสิ้นฤดูฝนเหลืออยู่ที่ 5,280 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมันเหลือปริ่ม เราประกาศว่า ภาคกลาง ทุ่งเจ้าพระยา ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรได้ เราส่งได้เฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคและเพื่อรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น”

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากการประเมินล่าสุด สองเขื่อนหลักของประเทศที่ส่งน้ำเลี้ยงเกษตรกร และ ประชาชน คือ เขื่อนภูมิพล กับ เขื่อนสิริกิตติ์ มีระดับน้ำที่ปริ่มาก ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองเขื่อนก็มีเปิดระบายน้ำเพิ่มขึ้น 25 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันจากเหมือนก่อนมีแค่ 15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน คาดว่า สิ้นฤดูแล้งปีนี้จะมีน้ำเหลือในสองเขื่อนอย่างเก่ง ก็ไม่มาก เพียงแค่ 1,700 กว่าล้านลบ.ม. ถือว่า ค่อนข้างปริ่มน้ำมาก หากว่า ฝนไม่มาเติมช่วย ส่วนเขื่อนป่าสัก และเขื่อนแควน้อย ล่าสุดไม่สามารถส่งน้ำในพื้นที่ภาคกลางได้แล้ว

สำหรับ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปีนี้ คือ ภาคกลาง 22 จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จะวิกฤตที่สุด คือ จ.นครสวรรค์ เพราะมีพื้นที่ที่ปลูกพืช นาปรัง ไม่น้อยกว่า 70,000 ไร่ ยังรวมถึง จ. กำแพงเพชร และจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง และตอนล่าง

“ตอนนี้เราพยายามคุมน้ำโดยไม่สนับสนุนการสูบน้ำเพื่อการเกษตร แต่ต้องให้เพื่อการอุปโภค บริโภคเท่านั้น เรามีหนังสือแจ้งไปยัง กรมชลประทาน การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ให้วางแผนจะปรับแผนการระบายน้ำใน 2-3 เดือนในฤดูฝนอย่างไร และถ้าไม่ได้ จะมีมาตรการอะไรรองรับหากเกิดผลกระทบต่อภาคการเกษตร”

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาที่เราพบ คือ ปัจจุบันมีการปลูกพืชมากกว่าแผน ทำให้มีพื้นที่การเกษตรเพิ่มมากขึ้นถึง 3 ล้านไร่ ส่งผลให้มีการใช้น้ำมากกว่าปกติ ซึ่งปีนี้เราจะไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรเหล่านี้ได้ ไม่ต้องพูดถึงการทำนาปรัง ทำไม่ได้แน่นอน เราไม่สามารถจัดสรรน้ำให้ได้ ที่เป็นปัญหาเสริมคือ ความเค็มจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่เข้ามา ทำให้ความเค็มเข้าไปข้างใน เราจึงต้องเสียน้ำจิดเพื่อส่งน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มอีก

ดร.สมเกียรติ กล่าวเตือนว่า ทุกฝ่ายต้องรีบประหยัดน้ำ ถ้าไม่ร่วมมือ จะไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรได้โดยเฉพาะนาปี ซึ่งจะกระทบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราจึงส่งสัญญาณไปว่า มันต้องมีมาตรการรองรับ ไม่ใช่แค่ภาคการเกษตรอย่างเดียว แต่ผู้บริโภคต้องประหยัดน้ำด้วย ส่วนภาคอีสานในพื้นที่ที่เขาได้รับผลกระทบประจำ เขาได้วางแผนการใช้น้ำเพื่อสนับสนุนในพื้นที่ตัวเอง เพราะรู้ว่า มันแล้งมา 2-3 ปีแล้ว แม้แต่ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมเขามีมาตรการประหยัดน้ำแล้ว ดังนั้น ส่วนราชการต้องทำเป็นตัวอย่างในการลดการใช้น้ำให้ได้ 20-30%

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้ยังไม่เกิดปัญหาภัยแล้ง แต่อีก 2-3 เดือนข้างหน้า มันจะเกิดผลค่อนข้างรุนแรง และหาวิธีการแก้ไขยากมาก ซึ่งเราไม่อยากใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการใช้น้ำบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำเพราะจะเกิดปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ได้

“ปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งหนักในช่วงที่ผ่านมา แต่เราผ่านมาได้เพราะเรามุ่งมั่นร่วมกันแก้ปัญหา แต่ปีนี้ถ้าเราขาดตัวนี้ ดังนั้น โอกาสจะเกิดวิกฤตมันจะกระทบเป็นลูกโซ่และสะสม ฉะนั้น เราต้องร่วมมือกันป้องกันอย่างจริงจัง”

เขามองว่า ที่ผ่านมา การที่เราต้องรับมือกับภัยแล้งทุกปีตลอด สะท้อนถึง การบริหารจัดการน้ำของทุกภาคส่วนที่ยังปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งวัฒนธรรมการเกษตร การเลือกพืชที่ปลูก การใช้น้ำที่ไม่มีขอบเขตจำกัด เมื่อน้ำผ่านจังหวัดไหนก็ดึงไปใช้ ซึ่งเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ ไม่มีน้ำโดยตรงจากตัวมันเอง ใช้น้ำจากเขื่อนข้างบนลงมา ตรงนี้เราต้องสร้างพฤติกรรมการรับรู้ เพื่อรองรับกับธรรมชาติให้ได้ ส่วนหนึ่งเราต้องปรับลดการใช้น้ำ อีกอย่างต้องมีการขึ้นทะเบียนผู้ใช้น้ำ เพราะไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถประเมินเรื่องความต้องการใช้น้ำได้เลย

ท้ายสุด ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงความภูมิใจในชีวิตว่า “ผมพูดอย่างไม่อายผมเป็นเกษตรกรมาก่อน ไถนาเอง รู้ความลำบากของการทำนา ผมมีโอกาสดีที่มาทำงานช่วยเกษตรกร ที่เขาขาดโอกาส เมื่อมารับราชการ จึงเน้นเรื่องใช้น้ำ สิ่งที่ภูมิใจคือ พยายามสร้างมาตรฐาน ยุทธศาสตร์แผนแม่บทน้ำ ซึ่งเป็นบทบาทที่ต่างประเทศให้การยอมรับ หลายประเทศชมไทยว่า ปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องน้ำภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ ผมภูมิใจที่พลิกประวัติศาสตร์เรื่องน้ำ แม้เราไม่มีพาวเวอร์ในแง่งบประมาณ แต่ก็มีบทบาทในการกำหนดบทบาทภายในที่จะต้องบริหารจัดการน้ำภายใต้เป้าหมายเดียวกัน”

เป้าหมายที่วางไว้ ของ ดร. สมเกียรติ คือ ทำอย่างไรให้ สทนช. ได้รับการยอมรับ สร้างมาตรฐานกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ความมั่นคงของน้ำให้ได้ ในทุกภาคส่วน

******************************