posttoday

รัฐมนตรีโลกไม่ลืม

20 พฤศจิกายน 2553

“เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร” รมช.คมนาคม กลายเป็น “รัฐมนตรีโลกไม่ลืม” ดังเปรี้ยงปร้างข้ามคืน เมื่อต้องสะดุดพิษหุ้นตกเก้าอี้ สส.

“เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร” รมช.คมนาคม กลายเป็น “รัฐมนตรีโลกไม่ลืม” ดังเปรี้ยงปร้างข้ามคืน เมื่อต้องสะดุดพิษหุ้นตกเก้าอี้ สส.

ต้องยอมรับ"กติกา"

“เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร” รมช.คมนาคม กลายเป็น “รัฐมนตรีโลกไม่ลืม” ดังเปรี้ยงปร้างข้ามคืน เมื่อต้องสะดุดพิษหุ้นตกเก้าอี้ สส. ตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แถมดังต่อเนื่องจับจองพื้นที่สื่อยาวนานข้ามสัปดาห์ กับการตัดสินใจว่าจะ “ออกไม่ออก” จาก รมช. ก่อนลงสนามเลือกตั้งซ่อม

รัฐมนตรีโลกไม่ลืม เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลจาก “สปิริต” หรือ “แรงบีบ” หรือ “กฎเหล็ก” แต่การยอมทิ้งเก้าอี้ รมช.คมนาคม เพื่อไปฝ่าพื้นที่สีแดงรักษาเก้าอี้ ผู้แทนฯ พระนครศรีอยุธยาอีกรอบนั้น ได้กลายเป็น “บรรทัดฐาน” ใหม่ที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทย

“เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร” เปิดห้องทำงานที่กระทรวงคมนาคม ในวันที่เหลือเอกสาร 23 กองรอให้รัฐมนตรีสะสาง สะท้อนความรู้สึกอธิบายเหตุผลการตัดสินใจครั้งสำคัญ ก่อนจะเริ่มเก็บของเคลียร์ห้องทำงาน เพื่อไปลงสมัคร สส.พระนครศรีอยุธยา

“ผมประมวลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง หากผมเป็นรัฐมนตรีและไปลงสมัคร ผมรู้ว่าปัญหาผมเกิดเยอะแน่ ผมไม่มีเวลาพอ ผมจะต้องใช้เวลาหลัง 4 โมงเย็น และเสาร์อาทิตย์ มีเวลาหาเสียงแค่ไม่กี่วันต่อการพบปะประชาชนครบ 10 อำเภอ และไม่อยากโดนข้อหาหรือตัดสินว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง

...เรียกว่าคิดรอบคอบ ผมมาจากประชาชน ก็ต้องฟังเสียงโดยรวมของประชาชน โดยเฉพาะคนใน จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ผมเป็นรัฐมนตรี ตัวแทนของพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังกฎกติกาของพรรคและนำทุกอย่างมารวมกับความคิดตัวเองเข้าไป”

เกื้อกูล อธิบายทางเลือกที่คิดไว้ว่า มีหลายทาง สมมติไม่ลง ก็มีสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาที่มีความประสงค์ที่จะลงสมัครแทน แต่ความผูกพันในพื้นที่ทำให้ต้องตัดสินใจเลือกลงสมัคร สส. และยอมสละเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ซึ่งยืนยันว่า “ไม่เสียดาย” เมื่อต้องลาออกครั้งนี้

“ผมได้เป็นรัฐมนตรี เพราะผมได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผมยืนยันยันว่า ผมผูกพันในพื้นที่ และถึงแม้ผมจะมาทำงานกรุงเทพฯ ผมไปกลับนอนอยุธยา ใครมาพบปะ เจอผมตลอด มันผูกพันกันมาก ผมเป็นคนอยุธยา อยู่อยุธยา นอนอยุธยา ใช้ชีวิตอยู่อยุธยา ผมผูกพัน”

หลังจาก “เกื้อกูล” ตัดสินใจเสนอตัวลงสมัครเลือกตั้งซ่อมใน จ.พระนครศรีอยุธยาเขต 1 ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิม  ที่ประชุมพรรคไม่ได้เป็นมติว่าให้เขาต้องออกจากรัฐมนตรีหรือไม่ ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง

“ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าผมไม่ได้ทำผิด ทุจริต คิดมิชอบ หรือบกพร่อง หรือพรรคไม่ได้ปรับออก แต่เป็นความประสงค์ของเราเองที่จะลาออก ทุกคนเข้าใจได้ว่าผมลาออกเองไม่ได้โดนปรับออกหรือ โดนข้อหาทุจริตคิดมิชอบ”

ทุกคนให้กำลังใจดีมาก พูดเหมือนว่าจะตัดสินใจอย่างไรทุกคนเข้าใจหมด แต่เนื่องจากระยะเวลาการประกาศรับสมัครลงเลือกตั้งซ่อม สส. คือ วันที่ 2226 พ.ย. จึงมีระยะเวลาในการตัดสินใจ พรรคประชุมวันที่ 15 พ.ย. พร้อมแจ้งนายกฯ ในที่ประชุมครม.16 พ.ย. ก่อนจะประกาศลาออก วันที่ 17 พ.ย. ในที่สุด

ช่วงที่ยังไม่แสดงความประสงค์ลาออก ทำให้หลายคนมองว่าเป็นการต่อรองอะไรบางอย่างกับประชาธิปัตย์ แต่ “เกื้อกูล” ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ไม่เคยมาล็อบบี้อะไร คุยกันก็ตอนหลังจากแจ้ง ครม.แล้วว่าจะลาออก ท่านก็จับมือให้กำลังใจ มองว่าท่านก็บอกว่าเป็นกำลังใจ

รัฐมนตรีโลกไม่ลืม

“หลายคนถามผมว่าทนแรงกดดันไม่ไหวใช่ไหม ผมก็ถามว่า ถ้าพูดปุ๊บแล้วผมออกเลย ผมก็โดนข้อหาเกื้อกูลใจเสาะ แล้วผมจะไม่ถามใครเลยหรือ เร็วไปไหม ณ ช่วงเวลาหนึ่งเราก็ต้องมีคำตอบอยู่แล้ว มันไม่ได้เป็นภาพที่ออกมาบวกหรือลบกับผม"

เสียงสะท้อนปนขู่ว่าหากเขายังดื้อดึงไม่ลาออกจากรัฐมนตรี สุดท้ายก็อาจจะถูกปรับออกโดยนายกฯ นั้น เกื้อกูล อธิบายว่า ไม่คิดเลยเพราะเมื่อเราต้องตัดสินใจอยู่แล้วไม่ได้คิดอะไรมากมาย แค่มาคิดว่าคนสองข้างมาประเมินบวกกับความคิดของเรา แค่นี้ก็เยอะแล้ว เพราะมีความคิดสุดขั้วทั้งสองด้าน

“ผมฟังสองขั้ว ความคิดเราใส่เข้าไปแล้วคิดว่าควรจะเป็นทางไหน ถ้าแรงกดดันเท่านี้แล้วนำมากดดันการตัดสินใจคงเดินไปข้างหน้าไม่ไหว ทนแรงกดดันเรื่องอื่นไม่ไหว”

เกื้อกูล ประเมินไปถึงภาวะผู้นำของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า เป็นผู้นำที่ดีคนหนึ่ง จากกฎกติกา และไม่คิดว่าสิ่งที่นายกฯ ทำเป็นการหยุมหยิมเมื่อเป็นผู้นำรัฐบาล คงต้องมองในภาพรวม และเชื่อว่าต่อไปการเมืองก็ต้องได้รับการพัฒนามากขึ้น ทุกคนคาดหวังการเมืองมากขึ้น ทุกคนให้ความสนใจมากขึ้น การพัฒนาการเมืองก็ดีขึ้น

“ทุกคนพยายามมองว่ามันเกิดอะไรขึ้นคนเข้าใจมากขึ้นเท่าไหร่ การเมืองยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น นี่คือที่ผมมอง การพัฒนาการเมืองก็จะดีขึ้น กฎกติกาที่ออกมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย ถ้าอะไรไม่มีประโยชน์แล้วเยอะเกินไปผมก็คิดว่าควรจะเอาออกไป”

สำหรับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันอย่าง บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย เกื้อกูล เล่าว่า มีการพูดคุยกันตั้งแต่รู้ผลในฐานะหัวอกเดียวกัน ช่วยกันคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และเชื่อว่าในการคุยกันนั้นก็มีคำตอบกันอยู่แล้ว แต่ก็เคารพซึ่งกันและกัน พยายามหาทางออกทุกมุม ว่าคิดอย่างไร คุยกันให้เกียรติกัน ไม่ใช่ว่าพี่ออกไหม ผมออกไหม

ถึงจะเป็นการหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยเหตุผลเพื่อไปลงสมัคร สส. ไม่ใช่เหตุผลปกติอย่างเช่น ทุจริตประพฤติมิชอบ แต่เมื่อเป็น “กติกา” ใหม่ ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก เขาเป็นรัฐมนตรีปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้ละเลยในหน้าที่ ทำงานโปร่งใสตรงไปตรงมา ถือว่างานที่ได้รับมอบหมาย ถือว่าพอใจ

“เราต้องทำกติกาขึ้นมาก็ต้องชัดเจนทุกข้อ แรกทีเดียวอาจจะไม่ใช่กฎหมาย แต่พอเป็นกติกาก็ต้องน่าจะพัฒนาให้ชัดเจน เพราะฉะนั้นจะได้ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบ”

ยิ่งในวันที่ไม่รู้ว่าการลาออกจากรัฐมนตรีแล้วจะได้กลับมาอีกหรือไม่ “เกื้อกูล” ยืนยันว่าไม่เคยพูดคุยเรื่องนี้ ไม่มีการสัญญาว่าลาออกแล้วจะได้กลับมาหรือไม่ ตอนนี้คิดเพียงแต่ว่าหลังจากลาออกแล้วจะเดินหน้าหาเสียงอย่างไร

“ผมคงไม่ผูกขาดว่าจะต้องเป็นรัฐมนตรีตลอดไป แต่ผมเชื่อว่าทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน ผมดูแลส่วนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเดินเรือทะเล เราทำมาแล้วส่วนหนึ่ง ทุกอย่างต้องทำต่อไป ไม่ว่าใครจะมาเป็น”

เกื้อกูลประเมินการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้จะไม่หวือหวา ไม่ได้เป็นคนพูดจาเก่งกล้าอะไร แต่ก็ทำงาน มีความคิด มีความตั้งใจ อยากเดินไปให้ถึงเป้าหมายโดยให้องศาบิดน้อยที่สุด และทุกครั้งที่ผมทำงานสำเร็จ

“ผมก็ภูมิใจของผม ประวัติชีวิตผมก็อยู่ในใจผมเท่านั้นเอง ผมสนุกกับการทำงานของผม แล้วผมก็ภูมิใจของผมเท่านั้นเอง เพราะที่ผ่านมาภาระงานของผมก็ไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคของใคร ทำหน้าที่ของตัวเองไม่บกพร่อง ส่วนบทบาทต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากัน” n

ประมาทไม่ได้

"เสี่ยง" อดีตผู้แทนฯ พระนครศรีอยุธยา ยอมรับตรงๆ ว่าการรักษาเก้าอี้ สส.เที่ยวนี้ไม่ใช่งานง่ายๆ เมื่อคู่แข่งคนสำคัญจากพรรคเพื่อไทย ที่พรั่งพร้อมไปด้วย "สรรพกำลัง" เตรียมล้างตาประกาศทวงเก้าอี้คืน

"ต้องยอมรับว่า พรรคเราพรรคขนาดกลาง สรรพกำลังไม่มีความพร้อมเท่ากับพรรคขนาดใหญ่ การที่กระแสพรรคอาจจะมีน้อยกว่า ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน"

รัฐมนตรีโลกไม่ลืม

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ไม่อาจนิ่งนอนใจปล่อยให้คนอื่นมาลงสนามครั้งนี้"เกื้อกูล" อธิบายว่า สาเหตุที่ไม่ส่งคนอื่นลงแทน เพราะกลัวคนอื่นจะทำงานไม่หนัก ไม่เหนื่อย ดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างที่เขาเคยทำ

ถึงจะเป็นงานหนัก แต่ทุกครั้งลงสมัครรับเลือกตั้งก็ทำงานหนักมาตลอดและส่วนใหญ่ที่ได้มาประชาชนก็เข้าใจ ก็ค่อยๆ อธิบาย มีวิธีการเข้าไปหาเสียงพบปะ ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่จะต้องเน้นพบปะประชาชนพูดคุยตามสถานที่ต่างๆซึ่งจะได้ไปวางยุทธศาสตร์กันอีกครั้ง

ยิ่งในเวลาอันสั้นมาก ประกอบกับเวลาปีกว่า ในตำแหน่งรัฐมนตรีต้องทำงานอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ในกรุงเทพฯ ไม่รวมกับภารกิจตรวจงานในต่างจังหวัด ทำให้โอกาสพบปะประชาชนน้อยลง จากเมื่อก่อนในฐานะ สส.ที่ประชุมพรรค ประชุมสภา 3 วันมีเวลาลงพื้นที่ได้มาก

งานนี้การลงพื้นที่ 10 อำเภอ 600 หมู่บ้าน พบปะชาวบ้านกว่า 3 หมื่นคน จึงถือเป็นงานหนักกับการหาเสียงในช่วงไม่ถึงเดือนก่อนเลือกตั้งซ่อม สส.12 ธ.ค.

สถิติที่ผ่านมา "เกื้อกูล" ฝ่าด่านพรรคเพื่อไทยเกาะขบวนเข้ามาเป็น สส.ในลำดับที่ 3 ด้วยคะแนน 7 หมื่นกว่าคะแนน ดังนั้นการประกาศเอาจริงของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นอีกงานท้าทายที่ประมาทไม่ได้

"หนักใจ แต่ประชาชนชาวอยุธยาจะเป็นคนตัดสินใจ คนอยุธยาตัดสินใจอย่างไร ผมก็น้อมรับ ท่านบรรหาร (ศิลปอาชา) ก็ให้กำลังใจ เกื้อกูล สู้นะไม่มีอะไรมากกว่านี้ ท่านเป็นผู้ใหญ่มีเมตตาสูง"

ทางพรรคก็เตรียมการช่วยเหลือกับการส่ง สส. แกนนำไปช่วยหาเสียงเต็มที่ แต่งานหลักก็คือการลงพื้นที่พบปะเขาซึ่งกำลังจะเริ่มต้นนับจากนี้เป็นต้นไป

พิษหุ้น ขอให้เป็น 6คนสุดท้าย

ยอมรับสภาพแบบเสียไม่ได้ เมื่อเป็น “กติกา” ที่นักการเมืองอย่างเขา ซึ่งขันอาสาเข้ามาทำงาน ไม่อาจปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงได้ แม้ส่วนตัวจะมองว่า เป็นเพียงการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ได้มีการแทรกแซงการดำเนินการ แม้จะรู้ เข้าใจ และระมัดระวัง แต่สุดท้ายเมื่อต้องตกเก้าอี้ สส.จากหุ้นเพียงแค่ 1,000 หุ้น ก็กลายเป็นเรื่องที่เขาอธิบายว่า “นึกไม่ถึงว่ามันจะเป็นอย่างนี้”

“ในเมื่อคำพิจารณาให้พ้นสภาพ สส.ออกมา การตีความครั้งนี้ 6 สส. ไม่มีใครวิจารณ์เรื่องนี้ เพราะทุกคนเสนอตัวเข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้บ้านเมือง กติกาว่าอย่างไรก็ต้องว่าตามนั้น”

เกื้อกูล อธิบายรายละเอียดที่เกิดขึ้น ว่า เป็นการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งภรรยาเขาเป็นคนซื้อหุ้น ปตท.สผ. จำนวน 1,000 หุ้น ในเวลาที่เป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งเป็นการซื้อมาขายไปตามปกติ

รัฐมนตรีโลกไม่ลืม

“แต่เมื่อกฎหมายเขียนคำว่าเข้าไปครอบงำหรือเข้าไปแทรกแซงอะไรได้ ภรรยาผมเข้าใจว่า 1,000 หุ้นนี้ ชัดเจนว่าไม่มีการแทรกแซงและเป็นการลงทุนปกติของคนคนหนึ่ง ถามว่าผมคิดอะไรไหม ก็ไม่คิดอะไร เพียงแต่ขอให้บอกว่าวันนี้ 6 คนนี้ เป็นคน 6 คนสุดท้ายที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก”

สัมปทานของรัฐ หรือเข้าไปแทรกแซงกิจการ น่าจะตีความโดยกว้างว่าอะไรคือสัมปทาน ชัดเจนในคำว่าสัมปทาน แต่คำว่าแทรกแซง การซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แล้วไม่มีเครื่องหมายว่า ผู้ลงสมัคร หรือใครห้ามเข้าไปซื้อขาย การซื้อหุ้นแค่ 1,000 หุ้น คงไม่ต้องไปศึกษาว่าเป็นสัมปทานหรือไม่เป็นสัมปทาน โบรกเกอร์ก็บอกว่า ตัวนี้มีอนาคต น่าจะมีกำไรก็ซื้อไป เขาซื้อมานาน มีซื้อมีขาย ก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ซื้อเยอะ

เกื้อกูล ยอมรับว่า เลิกเล่นหุ้นมานานแล้วตั้งแต่ก่อนที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี และยังได้กำชับไปยังภรรยาไม่ให้เข้าไปยุ่งกับ “หุ้น” มากนักให้เลิกเล่นก่อน

“แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่า? เรามีตลาดหลักทรัพย์ให้ทุกคนเข้าไปซื้อได้ มันก็งงเหมือนกัน เมียผมก็ถามว่าทำไมถึงเข้าไปซื้อไม่ได้ ผมก็บอกว่าอย่าเลย เขาก็เข้าใจ ก่อนเป็นรัฐมนตรีผมก็ขอร้อง

..ขนาดหุ้นที่ผมถือในบริษัทของผมเอง ผมยังถือได้กี่เปอร์เซ็นต์เลยกติกาเยอะมาก เราพูดไม่ได้หรอกว่าไม่รู้ แต่เมื่อเป็นกฎกติกา วันนี้เหมือนกัน? ต่อไปถ้าผมไม่เล่นการเมืองแล้ว หลายปีกว่าผมจะทำธุรกิจได้ นั่นคือกฎกติกา”

ในวันฟังผลการพิจารณาของศาลรัฐ ธรรมนูญ ก็ไม่ได้ไปฟังเอง มีพรรคพวกโทร.มาบอก

“วูบไหมก็วูบนะ เป็นคนธรรมดา ก็ต้องมีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่แล้ว ถามว่าเข็ดไหม ผมไม่ได้เล่นอยู่แล้ว ก็เป็นภรรยา เป็นพ่อผม เป็นการทำธุรกิจ ที่ต้องมีการกันบางส่วนไว้เป็นการลงทุน”

บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์นี้ คือ เราเป็นนักการเมืองเราต้องรับทุกกติกา “ผมอาสาตัวเข้ามาเป็นนักการเมืองเราต้องรับทุกกติกา ผมอาสาตัวเข้ามาเป็น ไม่ใช่เขาบังคับให้ผมมาลงสมัคร เพราะฉะนั้นผมต้องรับกติกาของบ้านเมืองให้ได้ทุกเรื่อง กติกาที่ทุกคนอยากให้เป็น เป็นได้หมด”