posttoday

วิกฤตความขัดแย้ง...ชะตากรรมม็อบสีเสื้อ

18 สิงหาคม 2562

คำตัดสินที่เกิดขึ้นจากคดีประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ที่ยังไม่มีบทสรุปว่า จากนี้ไปประเทศไทยจะไร้ม็อบการเมืองอีกหรือไม่

คำตัดสินที่เกิดขึ้นจากคดีประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ที่ยังไม่มีบทสรุปว่า จากนี้ไปประเทศไทยจะไร้ม็อบการเมืองอีกหรือไม่

******************************

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

คำตัดสินของศาลอาญาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ให้ 24 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือม็อบเสื้อแดง ไม่มีความผิดในข้อหาก่อการร้ายและก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เพราะใช้สิทธิการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตยในการประท้วงขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 เกิดมุมมองมากมาย โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามทักษิณว่า แกนนำเสื้อแดงรอดคดีได้อย่างไร

กระนั้น นี่เป็นเพียงคำตัดสินของศาลชั้นต้น ยังเหลืออีก 2 ศาล ที่ต้องลุ้นกันอีกในอนาคตว่าจะพลิกคำตัดสินหรือไม่ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกอย่างน้อยอีก 1-2 ปี จนรู้บทสรุปของคดี

จากคำพิพากษาศาลในคดีม็อบการเมืองทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง รวมถึงกลุ่มกปปส.ของ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ทยอยออกมาในช่วงปีที่ผ่านมาที่แกนนำหลุดคดี มีเฮ หลายคนจับตาว่า นี่อาจเป็นสัญญาณนำไปสู่การปรองดองในอนาคต

คดีก่อการร้ายของม็อบเสื้อแดงข้างต้น เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ม็อบเสื้อสีในช่วงวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศที่ดำเนินมายาวนานเกือบ 10 ปี ในช่วง 2548-2557 จนประเทศเกิดความแตกแยกรุนแรง เศรษฐกิจซบเซา

เท้าความกันอีกครั้ง ช่วงวิกฤตดังกล่าว ม็อบเสื้อสีปะทุเป็น 3 ช่วง

ช่วงแรก เริ่มจากม็อบเสื้อเหลือง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาลทักษิณและรัฐบาลนอมินี ปี 2548-2549 และ ปี 2551 ซึ่งล้มสำเร็จทั้งสองช่วง โดย “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ผบ.ทบ.เข้ามายึดอำนาจ ปี 2549 ตามด้วยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2551

ช่วงสอง สลับเป็นม็อบเสื้อแดงของฝ่ายทักษิณ ชินวัตร ปี 2552-2553 ออกมาขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ด้วยเหตุผลกองทัพสนับสนุน แต่ล้มไม่สำเร็จ แกนนำถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดี

ช่วงสาม เมื่อมีการเลือกตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ น้องสาวทักษิณเข้ามาเป็นนายกฯ เกิดม็อบกปปส.ไม่ต่างจากพันธมิตรภาค 2 ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2556-2557 ครั้งนี้ทำสำเร็จ เนื่องจากกองทัพ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เข้ามายึดอำนาจ

การชุมนุมของม็อบใหญ่ ทั้งสามครั้ง แม้ภาพรวมจะดูสงบ สันติ แต่ก็มีเหตุความรุนแรง เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน มีผู้บาดเจ็บรวมแล้ว หลายพันคน และเสียชีวิตเกือบสองร้อยคน

วิกฤตความขัดแย้ง...ชะตากรรมม็อบสีเสื้อ

หลังเหตุการณ์สงบลง มีการฟ้องคดีแกนนำม็อบทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเข้าสู่ศาลหลายคดี จนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปี บางคดีเริ่มคลี่คลาย เพราะศาลฎีกาได้ตัดสินแล้ว แกนนำม็อบหลายคนต้องติดคุกเป็นบทเรียน

ความจริง เมื่อดูการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกง ด้วยการชัตดาวน์ ปิดแยกเศรษฐกิจสำคัญ ยึดสนามบิน รูปแบบที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากประเทศไทยที่ผ่านการชุมนุมมาหลากหลาย จนกลายเป็นตำราให้ม็อบต่างประเทศนำมาใช้ ทั้งการปิดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดรัฐสภา บุกยึดสถานีโทรทัศน์ ปิดถนนย่านธุรกิจใจกลางเมืองพร้อมกันเกือบสิบแห่ง หรือจะม็อบดาวกระจาย เทเลือดหน้าทำเนียบรัฐบาล บุกล้มที่ประชุมอาเซียนซัมมิท เผาห้างสรรพสินค้าระดับต้นๆของกรุงเทพ เผาศาลากลางจังหวัด ใช้อาวุธสงคราม ยิงปืน ระเบิด ใส่สถานที่ราชการ ศาล กระทั่งบริเวณวัดพระแก้วสถานที่เคารพของประเทศ หรือแม้ยิงใส่ผู้ชุมนุม รวมถึง ผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่งถืออาวุธไล่ใส่กัน รวมถึง ม็อบ ล้มเลือกตั้ง ก็มีให้เห็น

กระนั้น หากไล่เรียงผลคดีม็อบของสามฝ่ายที่เกิดขึ้น ขอเริ่มที่ฝ่ายเสื้อแดงก่อน

คดีก่อการร้าย เป็นคดีหลักของแกนนำเสื้อแดง จากเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่สุดเกิดขึ้นระหว่างเดือน ก.พ. จนถึงเดือนพ.ค. 2553 รวมระยะเวลา 70 วัน เป้าหมายขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ฝ่ายเสื้อแดงเชื่อว่า ได้อำนาจมา เพราะกองทัพอยู่เบื้องหลังการยุบพรรคพลังประชาชนของทักษิณ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ของอภิสิทธิ์

การชุมนุมครั้งนั้น เกิดการปะทะกันทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารของรัฐบาลและผู้ชุมนุม รวมทั้งกลุ่ม ชายชุดดำที่ออกมาช่วยม็อบเสื้อแดง ยิงระเบิด ถล่มใส่ทหาร เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตร่วม 100 คน แยกเป็น ประชาชน ทหาร สื่อมวลชน และบาดเจ็บร่วม 2,100 คน คดีนี้ศาลอาญายกฟ้อง 24 แกนนำ

ส่วนที่เหลือ ที่แกนเสื้อแดงถูกดำเนินคดีต่างกรรมต่างวาระ เช่น คดีก่อความวุ่นวายหน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือนกับ 7 แกนนำนปช. ล่าสุดอยู่ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาในเดือนก.ย.2562 นี้
ขณะที่ คดีล้มประชุมอาเซียนที่พัทยาปี 2552 ศาลอุทธรณ์จำคุกแกนนำ นปช.ไป 13 คน เป็นเวลา 4 ปี ซึ่งแกนนำนปช. ได้ติดคุกเพราะไม่ได้รับการประกันตัว กระทั่งต่อมาได้รับปล่อยตัวภายหลัง

สำหรับคดีของแกนนำเสื้อเหลือง หรือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งชุมนุมก่อนม็อบเสื้อแดง มีเป้าหมายขับไล่รัฐบาลทักษิณและรัฐบาลนอมินีของทักษิณ (อดีตนายกฯสมัคร,สมชาย วงศ์สวัสดิ์) มีที่ตัดสินเรียบร้อยแล้ว คือ ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 6 แกนนำเสื้อเหลืองยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 8 เดือน คดียึดสถานีโทรทัศน์ NBT ศาลฎีกาจำคุกการ์ดพันธมิตร 8 เดือน ทั้งสองคดี แกนนำได้เข้าคุกและพ้นโทษไปแล้ว

ส่วนคดียึดสนามบินสุวรรณภูมิ ศาลฎีกาตัดสินคดีแพ่งให้แกนนำพธม.ชำระค่าเงิน 522 ล้านบาทจากความเสียหายที่สนามบินต้องถูกปิด ส่วนคดีอาญาคาดว่า ยังจะใช้เวลาอีกนาน เพราะอยู่ระหว่างการสืบพยานอีกร้อยปาก

ขณะที่คดีปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯขณะนั้นเข้าไปแถลงนโยบายต่อสภาศาลอาญายกฟ้องแกนนำเสื้อเหลือง ไม่มีความผิด เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ เช่นเดียวกับ ศาลฎีกายกฟ้องอดีตนายกฯสมชาย ว่า ไม่มีความผิดในการสลายการชุมนุมเช่นกัน

วิกฤตความขัดแย้ง...ชะตากรรมม็อบสีเสื้อ

สุดท้าย คดีแกนนำกปปส. เดือนที่แล้วนี่เอง ศาลอาญาเริ่มตัดสินคดีแรก โดยยกฟ้อง 4 แกนนำ กปปส.จากคดีกบฏ ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพราะเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสำนวนคดีที่ฟ้องแกนนำกปปส.ทั้งข้อหากบฎ ก่อการร้าย ขัดขวางการเลือกตั้ง คาดว่า จะใช้เวลาอีกหลายปี

กล่าวโดยรวม จะเห็นได้ว่า คำตัดสินที่เกิดขึ้นจากคดีประวัติศาสตร์เหล่านี้ ส่วนใหญ่แกนนำต้องรับโทษจากการก่อความไม่สงบ ละเมิดกฎหมาย ทำลายทรัพย์สินราชการ และประชาชนได้รับบาดเจ็บ แต่ก็มีบางคดีที่แกนนำรอดตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่า การสืบพยานก็ดี หรือ ขั้นตอนตัดสินในชั้นศาล ในหลายคดีอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่คดีชุมนุมทางการเมืองจะตัดสินจบทุกคดี

แต่อย่างน้อยก็ต้องให้บทเรียนกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่แกนนำม็อบทุกสี ต้องได้รับการพิจารณาตัดสินจากศาลในทุกคดี เพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ที่ยังไม่มีบทสรุปว่า จากนี้ไปประเทศไทยจะไร้ม็อบการเมืองอีกหรือไม่ เมื่อบรรยากาศและเงื่อนไขความขัดแย้งยังดำรงอยู่