posttoday

"10ปมร้อนเศรษฐกิจ" ทำรัฐบาลลุงตู่สะดุด

12 กรกฎาคม 2562

เรียกได้ว่ารัฐบาลใหม่ไม่มีเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ เพราะตามโรดแมปปลายเดือนนี้ รัฐบาลจะแถลงนโยบายกับรัฐสภา ก็ต้องเริ่มทำงานกันทันที โดยเฉพาะการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

เรียกได้ว่ารัฐบาลใหม่ไม่มีเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ เพราะตามโรดแมปปลายเดือนนี้ รัฐบาลจะแถลงนโยบายกับรัฐสภา ก็ต้องเริ่มทำงานกันทันที โดยเฉพาะการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

งานหินงานโหดการบริหารเศรษฐกิจ สำหรับ "รัฐบาลลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 หนีไม่พ้นการบริหารเศรษฐกิจที่ยิ่งวันยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ โดยมีอย่างน้อย 10 ปมร้อนที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขเป็นการด่วน

1. ปัญหาปากท้องของเศรษฐกิจฐานราก ที่รายได้น้อยค่าใช้จ่ายสูง หนี้สินเพิ่ม การกระจายรายได้ยังมีปัญหาลงไปไม่ถึงฐานราก นอกจากนี้รัฐบาลยังมีปมร้อนเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะทำได้ตามสัญญาที่หาเสียงไว้หรือไม่ หากทำไม่ได้รัฐบาลก็เสีย ทั้งคะแนนนิยมและการแก้ปัญหาปากท้องไม่สำเร็จไปด้วย

2. ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เนื่องจากภัยแล้งปีนี้รุนแรง ทำให้ ราคาพืชผลทางการเกษตรทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ราคาตก การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล คือ การประกันราคาพืชผลทางการเกษตรจะทำได้รวดเร็วแค่ไหน หากแก้ไขช้า เศรษฐกิจฐานรากยิ่งแย่หนักรัฐบาลก็จะเจอแรงกดดันการบริหารเศรษฐกิจที่ไม่ถูกใจประชาชนมากขึ้น

3. ค่าเงินบาทแข็ง ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมายอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป และได้มีการออกมาตาการสกัดการเก็งกำไรที่เป็นส่วนหนึ่งของค่าเงินบาทแข็ง มาตรการที่ออกมาหลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่าได้สั่งการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทมากเกินไปเพียงไม่กี่วัน พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการก็ทำหนังสือขอพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธปท. เพื่อหารือให้ช่วยดูแลค่าเงิน ที่ผู้ประกอบการเห็นว่า ธปท. ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป

4 การส่งออก เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลยกภูเขาไม่พ้นจากอก เพราะหลังจากพิษสงครามการค้าสหรัฐกับจีน และลามไปถึงสหรัฐกับยุโรป ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้การส่งออกของไทยทรุดหนักจากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% ล่าสุดคาดว่าจะขยายตัวได้ 0% ถึงขยายตัวติดลบ 1% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยภาพรวมขยายตัวชะลอมากขึ้น

5 การลงทุนภาครัฐล่าช้า เนื่องจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นช่วงลอยต่อของรัฐบาลใหม่และเก่า ทำให้โครงการไม่ต่อเนื่อง รวมกับหลายโครงการไม่มีความพร้อมลงทุนตามแผนที่วางไว้ ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนให้ได้โดยเร็ว

6. การกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคเอกชน ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน รัฐบาลตั้งความหวังไว้กับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่จะดึงดูดทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ซึ่งนายสมคิด ออกมายืนยันว่าโครงการอีอีซี ไม่มีทางล้มเพราะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย แต่การดำเนินการจะได้ตามที่รัฐบาลหวังหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่นักลงทุนกังวล

7. การท่องเที่ยวลด ซึ่งที่ผ่านมาการท่องเที่ยวถือเป็นตัวช่วยเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ดี แต่จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้า ทำให้นักท่องเที่ยวลดการท่องเที่ยวในไทยและทุกๆ ประเทศในโลก จึงเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลใหม่ว่าจะกระตุ้นให้คนเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยได้อย่างไร

8. งบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุน 6.9 แสนล้านบาท ปกติงบประมาณจะต้องเริ่มใช้ 1 ต.ค. 2562 แต่ได้ถูกเลื่อนออกไป 1 ม.ค. 2563 เพื่อรอให้รัฐบาลและรัฐสภาใหม่เข้ามาพิจารณา ย่อมส่งผลกระทบทำให้เม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช้าไปด้วย ถึงขนาด พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาปรามว่า ให้รัฐบาลและฝ่ายค้านพิจารณางบประมาณ 2563 ยังสร้างสรรค์ไม่ควรสร้างปัญหาให้งบประมาณไม่ผ่านการพิจารณา เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจ

9 เศรษฐกิจชะลอตัว เป็นที่รู้กันว่า หน่วยงานต่างๆ ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจจากใกล้ 4% เหลืออยู่ 3% โดยหลายแห่งคาดว่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาพยุงเศรษฐกิจขาลงให้ฟื้นกลับขึ้นมาให้ได้ เพราะหากเศรษฐกิจภาพรวมแย่ เศรษฐกิจฐานรากประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น

10. ความไม่เชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลลุงตู่ 2 เป็นเรื่องที่ค้างคาใจของนักลงทุนอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่เกิดจาก 19 พรรคการเมือง ทีมเศรษฐกิจถูกจัดสรรจากโควต้าทางการเมือง มากกว่าที่วางคนที่เหมาะสมกับงาน เป็นผลลบต่อนัก ลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงอาจมีผลต่อความล่า ช้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้ทันกำหนดการที่วางไว้

ทั้ง 10 ปมร้อนเศรษฐกิจ จึงเป็นปัญหาท้าทายรัฐบาลลุงตู่ ว่าจะสามารถอยู่บริหารประเทศสมัยที่ 2 ได้ยาวนานแค่ไหน