posttoday

เครื่องมือ – องค์ความรู้ใหม่จาก3งานวิจัยทางสาธารณสุข

10 พฤศจิกายน 2553

เป็นความก้าวหน้าอีกระดับของคุณภาพชีวิตของคนไทย เมื่อบุคลากรทางการแพทย์และคณะนักวิชาการได้ร่วมมือกันสังเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพในหลายมิติ ให้กลายเป็นเครื่องมือและองค์ความรู้ใหม่ที่จับต้องได้จริง.....

เป็นความก้าวหน้าอีกระดับของคุณภาพชีวิตของคนไทย เมื่อบุคลากรทางการแพทย์และคณะนักวิชาการได้ร่วมมือกันสังเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพในหลายมิติ ให้กลายเป็นเครื่องมือและองค์ความรู้ใหม่ที่จับต้องได้จริง.....

โดย....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

เป็นความก้าวหน้าอีกระดับของคุณภาพชีวิตของคนไทย เมื่อบุคลากรทางการแพทย์และคณะนักวิชาการได้ร่วมมือกันสังเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพในหลายมิติ ให้กลายเป็นเครื่องมือและองค์ความรู้ใหม่ที่จับต้องได้จริง แม้บางโครงการจะต้องใช้เวลาศึกษาเกินกว่า 10 ปี หรือ 20 ปี แต่ก็คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งจะสืบคุณประโยชน์ไปอีกนานเท่านาน

ล่าสุดมีการแสดง 3 ผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง

เครื่องมือ – องค์ความรู้ใหม่จาก3งานวิจัยทางสาธารณสุข ชุดตรวจโรคเท้าช้าง

ที่มาของผลงานเหล่านี้ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ อธิบายว่า เริ่มจากการมองว่าโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและละแวกประเทศเพื่อนบ้านมีอยู่อย่างมากมาย แต่ส่วนใหญ่ล้วนแต่ต้องพึ่งพาความรู้จากคนนอกประเทศเพื่อบรรเทาอาการ ทาง วช. จึงได้สนับสนุนให้คนไทยวิจัยค้นคว้าองค์ความรู้เพื่อคนไทย โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การวินิจฉัยโรคตับ 2.แนวทางการควบคุมโรคมาลาเรีย 3.การตรวจหาแอนติบอดี เพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคเท้าช้าง

ปรัชญา คงทวีเลิศ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมวิจัยและพัฒนาพื้นฐาน และการประยุกต์เพื่อการวินิจฉัยโรคตับ บอกว่า ประเทศไทยมีอัตราการเป็นโรคตับมากที่สุดในโลก และผู้ป่วยโรคตับหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีใน 6 เดือน จะมีการพัฒนาการของโรคจนกลายเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตได้ในที่สุด

“เป็นครั้งแรกที่เราพัฒนาชุดน้ำยาสำเร็จรูปเพื่อตรวจหาผู้ป่วยโรคตับได้เอง”ผู้วิจัยกล่าว และอธิบายว่า เดิมทีการรักษาโรคตับจะต้องใช้เข็มเจาะลงไปที่ตับเพื่อตรวจโรค แต่จากผลการวิจัยนี้ทำให้สามารถตรวจโรคตับได้เพียงเจาะเลือด และใช้น้ำยาสำเร็จรูป ที่สกัดจากโปรตีนยึดจับไฮยานูโรแนนในกระดูกอ่อนของสัตว์ อาทิ โค สุกร และปลาฉลาม

“มันหาง่ายตามท้องตลาด ราคาถูก และหลีกเลี่ยงการติดโรคที่แพร่จากสัตว์สู่คนด้วย”ปรัชญายืนยัน

นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทีมวิจัยโรคเท้าช้าง อธิบายว่า โรคเท้าช้างเกิดขึ้นหลายทวีปทั่วโลก แต่เหตุที่พบมากในประเทศไทยเนื่องจากในประเทศมีพยาธิ 2 ชนิด คือ พยาธิบรูเกีย มาลาไย ซึ่งมีมากทางภาคใต้ และพยาธิวูเคอเรอเรีย แบนครอฟไต ซึ่งพบมากในแรงงานชาวพม่า และเชื้อมียุงเป็นพาหะ

สำหรับการวินิจฉัยโรค เดิมทีต้องหาพยาธิด้วยการเจาะเลือดช่วงกลางคืน จากนั้นก็นำเลือดไปตรวจหาตัวพยาธิด้วยการส่องกล้อง จึงจะยืนยันได้ว่าเป็นโรคเท้าช้าง ทั้งนี้ 70 – 80% ของผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการในระยะแรก และ 20 – 30% ของผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการบวมออกมา

“เมื่อก่อนถ้าเราไม่พบตัวอ่อนของพยาธิก็จะวินิจฉัยว่าไม่เป็นโรค ทั้งๆ ที่มีโอกาสเป็นโรคอยู่”ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อระบุ 

สิริจิต วงศ์กำชัย ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการวิจัยว่า ต้นแบบเครื่องมือวินิจฉัยโรคเท้าเช้าสำเร็จจรูปที่สร้างขึ้นได้นั้น มีความไวและความจำเพาะสูง และสามารถตรวจหาเชื้อโรคเท้าช้างจากการเจาะเลือดช่วงเวลาไหนก็ได้ โดยจะเจาะเลือดผู้ป่วยทางปลายนิ้ว จากนั้นรอให้เลือดกับน้ำเหลืองแยกออก จากนั้นนำน้ำเหลืองไปทำปฏิกริยากับน้ำยา หากมีสีที่เปลี่ยนไปก็จะวินิจฉัยได้ทันทีว่ามีเชื้อเท้าช้าง

เครื่องมือ – องค์ความรู้ใหม่จาก3งานวิจัยทางสาธารณสุข ชุดตรวจเท้าช้าง

“ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าที่ต่างประเทศใช้ ราคาขายประมาณชุดละ 60 บาท ซึ่งถูกกว่าของต่างประเทศถึง 3 เท่า ที่สำคัญใช้เวลาการตรวจน้อยกว่ามาก”อาจารย์จากศิริราชพยาบาลระบุ

อีกหนึ่งงานวิจัยที่ทรงคุณค่า นพ.สมชาย จงวุฒิเวศย์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยการค้นพบเชื้อไข้มาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ว่า สามารถค้นพบเชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม โนวลิไซ ได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีความเชื่อกันว่าเชื้อมาลาเรียมี 4 ชนิด คือ พลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม พลาสโมเดียม ไวแกวซ์ พลาสโมเดียม มาลาเรียอิ และพลาสโมเดียม โอวาเล่

นพ.สมชาย บอกว่า ปกติแล้วการตรวจหาเชื้อมาลาเรียจะต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ดูฟิล์มเลือด แต่ภายใต้การวินิจฉัยโรคตามนี้มีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น คุณภาพของฟิล์มเลือด ประสบการณ์ของผู้ตรวจ และเชื้อต้องมีปริมาณเข้มข้นมาก อย่างไรก็ตามระหว่างปี 2549 – 2553 ได้วิจัยเชื้อด้วยการตรวจดีเอ็นเอ จนพบว่า เชื้อชนิดใหม่พบในลิงแสม ซึ่งมีอยู่ในประเทศไทย และสามารถถ่ายทอดสู่คนได้

“การวิจัยนอกเหนือการใช้กล้องจุลทรรศน์ทำให้เราพบว่าผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียมักจะติดเชื้อมากกว่า 1 ชนิด”นักวิจัยรายนี้ระบุ

อาจารย์ภาควิชาปรสิตวิทยา อธิบายว่า จากการวิจัยพบว่าผู้ติดเชื้อมาลาเรียส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณชายแดนไทย - พม่า โดยมีกว่า 24% ที่พบการติดเชื้อมากกว่า 1 ชนิด ทั้งนี้หากวินิจฉัยไม่ครบถ้วนและรักษาไม่ครบทุกชนิดของเชื้อ ก็อาจทำให้เชื้อพัฒนาจนดื้อยาได้ในที่สุด

องค์ความรู้ใหม่ ช่วยเร้าให้ศักยภาพด้านการบริการทางสาธารณสุขให้สูงยิ่งขึ้น