posttoday

วิบากรรมประเทศไทย หายนะยังไม่สิ้น

07 พฤศจิกายน 2553

ถึงเวลาที่ต้องหันกลับมาทบทวนบทเรียนในอดีต ผสมผสานกับองค์ความรู้สมัยใหม่ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อปลุกผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อแห่งสายน้ำให้ฟื้นตื่นจากฝันร้าย และมีกำลังใจต่อสู้ชีวิตใหม่อีกครั้ง.....

ถึงเวลาที่ต้องหันกลับมาทบทวนบทเรียนในอดีต ผสมผสานกับองค์ความรู้สมัยใหม่ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อปลุกผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อแห่งสายน้ำให้ฟื้นตื่นจากฝันร้าย และมีกำลังใจต่อสู้ชีวิตใหม่อีกครั้ง.....

โดย...อิทธิกร เถกิงมหาโชค

ความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นแทบทุกจังหวัดในประเทศไทย ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้

วิบากรรมประเทศไทย หายนะยังไม่สิ้น

“ภาวะโลกร้อนทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนแปลงไปมาก หากตกก็ตกเยอะเลย บางทีฝนตกมาครั้งหนึ่งมากกว่าทั้งปีรวมกันเสียอีก พอตกแล้วก็อาจจะทิ้งช่วงอีกนาน หรือบางช่วงที่ไม่เคยมีฝนตกเลยในอดีตกลับตกมากขึ้น ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบทำได้ยาก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยา ยิ่งแก้ไขยิ่งรุนแรงขึ้น และสร้างความขัดแย้งมากขึ้น”

ประโยคข้างต้นคือข้อสรุปภาพรวมของปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่สังคมไทยจะต้องเผชิญ จากคำอธิบายของ ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ธนวัฒน์ ขยายความว่า ยิ่งในยุคหลังที่ไทยมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและสังคม หัวเมืองใหญ่ๆ ทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ฯลฯ กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ และมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดิน จากพื้นที่ซับน้ำกลายเป็นชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้สูญเสียพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติ ส่งผลให้มีความเสี่ยงภัยต่อการเกิดน้ำท่วมมากขึ้น ยังไม่นับปัญหาการทรุดของแผ่นดิน และปัญหาระบบระบายน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่เร่งให้เกิดความเสียหายรุนแรง

อาจารย์ธนวัฒน์ บอกว่า หากเปรียบเทียบข้อมูลน้ำท่วมในอดีตจะพบว่า ในรอบ 160 ปีที่ผ่านมา มีน้ำท่วมโดยเฉลี่ยทั้งหมด 114 ครั้ง

“แม้ว่ารัฐบาลทุกยุคจะให้ความสำคัญต่อปัญหาน้ำท่วมมาตลอด เช่น การสร้างเขื่อนอเนกประสงค์ การทำนบ คันดิน ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อลดความรุนแรง แต่ก็ช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาภาพรวมพบว่าความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมกลับมีมากกว่าในอดีต โดยแนวโน้มของความเสียหายจะมีความรุนแรงและมากขึ้น เพราะพื้นที่เมืองได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากประมาณ 184 ตารางกิโลเมตร ไปเป็นกว่า 400 ตารางกิโลเมตร”

อาจารย์ธนวัฒน์ กล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนไปในช่วงหลังปี 2500 คือปัญหาใหญ่ โดยความหนาแน่นของชุมชนเมืองใน กทม.ผุดขึ้นอย่างไม่มีระเบียบแบบแผน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ควบคู่ตามมา เช่น สภาพจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง น้ำเสีย ขยะ น้ำท่วม และปัญหาแผ่นดินทรุด

วิบากรรมประเทศไทย หายนะยังไม่สิ้น

“บทเรียนหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2526 ที่เกิดน้ำท่วม กทม. และปริมณฑลนานหลายเดือน ทำให้มีการก่อสร้างระบบปิดล้อมป้องกันพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจสำคัญอย่างหนาแน่น แต่ภาระน้ำท่วมก็ถูกผลักไสไปให้พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมรอบนอก นำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคมทุกครั้งที่มีน้ำท่วม” อาจารย์ธนวัฒน์ กล่าว

ความพยายามป้องกันพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ให้ถูกน้ำท่วมด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม ในขณะที่การพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำสองฝั่งแม่น้ำลดลงจนแทบไม่มีเหลือ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นมาก เนื่องจากไม่สามารถเอ่อไปท่วมพื้นที่อื่นได้ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยใช้มาตรการก่อสร้างเป็นหลัก จึงถือเป็นการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วน

นอกจากนี้ สภาวะโลกร้อนสุดขั้วที่กำลังเกิดในปัจจุบันยังมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำท่วมโดยตรง อาจารย์ธนวัฒน์ อธิบายว่า ทุกวันนี้สภาพภูมิอากาศของไทยต่างจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือ “ในสภาวะที่ไม่ปกติ” ไว้ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญวิชาธรณีวิทยา จากรั้วจุฬาฯ วิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า ต้องมองในหลายมิติ ทั้งการแก้ไขที่ต้นเหตุ การป้องกันพื้นที่เป้าหมาย การเฝ้าติดตาม ซึ่งควรต้องรีบดำเนินการ 5 มาตรการสำคัญ ดังนี้

1.วางแผนพัฒนา กทม. และเมืองบริวารในอนาคต ควรจำกัดการเจริญเติบโตของ กทม. โดยนำมาตรการด้านผังเมืองมาใช้ เพื่อจำกัดขอบเขตที่แน่นอน ไม่ให้เมืองขยายออกไปอีก และอยากให้เร่งพัฒนาเมืองบริวารขึ้นมาใหม่อีก 4 แห่ง คือ ราชบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความเจริญในด้านต่างๆ โดยมีระบบขนส่งมวลชนเชื่อมระหว่างเมือง

2.แผนแม่บทการป้องกันน้ำท่วมโดยการใช้สิ่งก่อสร้าง เสนอให้หน่วยงานรัฐบูรณาการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ทำงานซ้ำซ้อนกัน และต่างคนต่างทำโดยไม่ได้มองภาพรวมของปัญหาที่แท้จริง แต่กลายเป็นการย้ายปัญหาจากพื้นที่หนึ่งไปไว้อีกพื้นที่หนึ่งแทน

3.มาตรการควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมือง เสนอให้นำแผนที่ “พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม” เพื่อควบคุมการใช้ที่ดินทั้งใน กทม. และเมืองบริวาร รวมทั้งรักษาพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ

4.มาตรการควบคุมการใช้น้ำบาดาลเพื่อลดปัญหาแผ่นดินทรุด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำจากคูคลองสู่แม่น้ำ โดยข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในปี 2531–2533 อัตราการทรุดของแผ่นดินเหลือเพียงปีละ 3–5 เซนติเมตร แต่บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีการทรุดตัวไปทั้งหมดราว 150 เซนติเมตร เพราะขาดการดูแล

5.มาตรการจัดเก็บภาษีน้ำท่วม และการประกันภัยน้ำท่วม โดยเสนอให้จัดเก็บภาษีน้ำท่วมโดยตรงในพื้นที่ชุมชนที่มีระบบป้องกันน้ำท่วมแบบพื้นที่ปิดล้อม เพื่อนำเงินภาษีนั้นไปสร้างระบบป้องกันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และนำเงินไปชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนนอกแนวคันกั้นน้ำ

“อีกวิธีหนึ่ง คือ เก็บภาษีจากสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำ แล้วตั้งเป็นกองทุนน้ำท่วมเพื่อชดเชยให้เกษตรกรที่รักษาพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติไว้” อาจารย์ธนวัฒน์ กล่าวสรุป