posttoday

การเมืองหลัง 6 ตุลาฯ บทเรียนเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย

31 มีนาคม 2562

แม้ 4 ปีหลัง 6 ตุลาฯ2519 จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย แต่ก็เกิดสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มพลังทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางการเมืองในระยะต่อมา

แม้ 4 ปีหลัง 6 ตุลาฯ2519 จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย แต่ก็เกิดสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มพลังทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางการเมืองในระยะต่อมา

***********************

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายยุคหลายเหตุการณ์นั้นมีประเด็นร่วมที่น่าสนใจประการหนึ่ง นั่นคือ การฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจอาจเป็นทางออกที่รวบรัด แต่การครองอำนาจก็ใช่ว่าจะรวบรัดเอาไว้ได้ตลอดไป ถึงที่สุดแล้วก็ต้องเปลี่ยนผ่านกลับเข้าสู่แนวทางการผ่อนปรน และคืนอำนาจให้แก่ประชาชน

สถานการณ์ทางการเมืองช่วงปี 2518-2519 อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความพรั่นพรึงของสังคมไทย ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่สงครามเย็นยังคุกรุ่น สถานการณ์รอบประเทศ ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ เวียดนามเหนือบุกเข้ายึดเวียดนามใต้ และเขมรแดงได้ชัยชนะปกครองกัมพูชา ตามทฤษฎีโดมิโนแล้วไทยกำลังตกอยู่ในภัยคุกคามที่น่าวิตก

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศ ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 จบลงด้วยการยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รมว.กลาโหมในขณะนั้นเป็นหัวหน้า ได้แต่งตั้ง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการยึดอำนาจทุกครั้ง คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ โยกผู้ที่อาจเป็นปฏิปักษ์ออกไปและนำคนฝ่ายตนเองเข้ามาแทนที่ โดยหนึ่งในนั้น คณะปฏิรูปฯ มีคำสั่งปลด พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายทหารประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดออกจากราชการ ฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯ

พล.อ.ฉลาด เป็นนายทหารที่ผ่านการรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม และมีบทบาททางการเมืองเด่นชัดขึ้นในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งจากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) เป็นรอง ผบ.ทบ.เพื่อเตรียมขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.

แต่เมื่อสิ้นยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลในสมัยต่อมา พล.อ.ฉลาด ก็ถูกเด้งพ้น 5 เสือ ทบ.ไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด

พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ (ยศในขณะนั้นต่อมาจึงได้ยศพลตรี) อดีตทหารคนสนิท พล.อ.ฉลาด เขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ “ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง” ว่า พล.อ.ฉลาด พูดบ่อยครั้งว่าการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่
6 ต.ค. 2519 นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่ารัฐบาลมาจากประชาธิปไตย ก็ต้องให้แก้ไขด้วยหนทางประชาธิปไตย

นี่อาจเป็นเหตุผลทำให้ พล.อ.ฉลาด ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯ แต่กลับเรียกนายทหารระดับผู้บังคับหน่วยไปประชุม ซึ่งมองได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับอำนาจของคณะปฏิรูปฯ

หลังถูกปลด พล.อ.ฉลาด ตัดสินใจบวชที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พร้อมกับแผนการยึดอำนาจซึ่งเกิดขึ้นในอีก 5 เดือนต่อมา

เช้ามืดวันที่ 26 มี.ค. 2520 กำลังทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) จ.กาญจนบุรี 300 นาย นำโดย พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (ยศในขณะนั้น) หรือ เสธ.อ้าย ผู้บังคับกองพันที่ 2 และ 3 พล.ร.9 กระจายกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์

หลังเคลื่อนกำลังเข้ายึดจุดต่างๆ ได้ตามแผน พระภิกษุฉลาดจึงลาสิกขาจากวัดบวรนิเวศ ในช่วงเช้ามืดวันที่ 20 ต.ค. 2520 เพื่อมาบัญชาการแผนยึดอำนาจด้วยตนเอง

พล.อ.ฉลาด ออกประกาศทางวิทยุกระจายเสียง อ้างถึงความเสื่อมโทรมทางด้านต่างๆ ของประเทศ โดยอ้างว่าการยึดอำนาจ “เพื่อเป็นแกนกลางของบรรดาผู้รักชาติ ที่จะร่วมมือกันที่จะแก้ไขสถานการณ์ของบ้านเมืองให้ดีขึ้น และเพื่อสถาปนาการปกครองระบบประชาธิปไตยให้สำเร็จ โดยเร็วที่สุด”

แต่ความผิดพลาดของแผนครั้งนี้ คือ กองกำลังในเขตกรุงเทพมหานครที่นัดแนะกันออกมายึดอำนาจ ไม่นำกำลังเข้าร่วมตามที่ตกลงกันไว้ ในช่วงบ่ายของวันนั้นกำลังของฝ่ายรัฐบาลก็ปิดล้อมกองกำลังของฝ่าย พล.อ.ฉลาด ไว้ได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น เมื่อ พล.อ.ฉลาด ยิง พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์เสียชีวิต

พล.ต.สนั่น เขียนไว้ในหนังสือ “ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง” ความว่า

พล.อ.ฉลาด นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ พล.ต.อรุณ นั่งอยู่ข้างๆ ด้านหลัง พล.ต.อรุณ มีทหารถือเป็นเอ็ม 16 รักษาการณ์อยู่ พล.ต.อรุณ ลุกขึ้นไปชงกาแฟ แล้วยื่นให้ พล.อ.ฉลาด เมื่อพล.อ.ฉลาด รับถ้วยกาแฟแล้วเดินออกไปที่หน้าต่าง ระหว่างนั้น พล.ต.อรุณ กลับมาที่นั่งตัวเองและเข้าแย่งปืนจากทหาร เกิดการยื้อยุดกัน พล.อ.ฉลาด สั่งให้ พล.ต.อรุณ วางปืนและยิง พล.ต.อรุณ เสียชีวิต

การตายของ พล.ต.อรุณ เป็นประเด็นที่วิเคราะห์กันว่า คือสาเหตุที่รัฐบาลยกเลิกข้อตกลงส่งคณะผู้ก่อการลี้ภัยไปไต้หวัน และอีก 1 เดือนถัดมา ศาลพิเศษก็ตัดสินประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2520

แม้คณะปฏิรูปฯ จะสามารถจัดการกลุ่มทหารที่คิดยึดอำนาจซ้อนได้แล้ว แต่สถานการณ์ในประเทศจากการปกครองของรัฐบาลธานินทร์ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้ มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะการสั่งปิดหนังสือพิมพ์จำนวนมาก รวมทั้งการดำเนินคดีนักศึกษาและประชาชนในคดีการเมือง ซึ่งเป็นผลพวงตามมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

แรงบีบคั้นทางการเมืองเหล่านี้ส่งผลให้มีผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นจำนวนมาก จน พคท.สามารถขยายเขตงานออกไปได้อย่างกว้างขวาง

ขณะที่รัฐบาลธานินทร์ มีแนวทางพัฒนาประชาธิปไตยในเวลารวมแล้วถึง 12 ปี ซึ่งกลุ่มต่างๆ ในสังคมขณะนั้นเห็นว่ายาวนานเกินไป

ในที่สุด หลังการประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด เมื่อเดือน เม.ย. อีก 6 เดือนต่อมา ในวันที่ 20 ต.ค. 2520 พล.ร.อ.สงัด หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ก็ตัดสินใจยึดอำนาจรัฐบาลธานินทร์ และแต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับยกร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้ช่วงปลายปี 2521 นำมาซึ่งการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2522 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังการยึดอำนาจ 6 ตุลาฯ 2519

แม้ 4 ปีหลัง 6 ตุลาฯ จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งความหวั่นวิตกนี้ก็เกิดสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มพลังทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางการเมืองในระยะต่อมา อาทิ กลุ่มทหารยังเติร์ก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ การพัฒนาพรรคการเมือง การเข้าสู่การเมืองของกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มทุน นักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ในสังคม และการปรับเปลี่ยนนโยบายทั้งการเมืองในประเทศและนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตมาได้

สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นและบ่มเพาะในยุคแห่งความสับสนวุ่นวาย เพื่อเติบโตและส่งผลในยุคที่ประชาธิปไตยมีพัฒนาการมากขึ้นในยุคต่อๆ มา

แน่นอนว่าต่างยุคสมัย เหตุปัจจัยแห่งวิกฤตย่อมต่างกัน คงมีแต่วิถีและกระบวนการทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำพาให้เราผ่านพ้นไปได้ n