posttoday

อภิรักษ์มือประสานแก้น้ำท่วม

06 พฤศจิกายน 2553

เปิดใจ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองประธาน คชอ. และยังควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย....

เปิดใจ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองประธาน คชอ. และยังควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย....

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ก้าวต่อไปที่มากกว่าแจกเงิน

ความเดือดร้อนจากภัยพิบัติน้ำท่วมคราวนี้หนักหน่วงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะตั้ง "คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ คชอ."เพื่อแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือต้องการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส แต่ทว่ายังมีเสียงตำหนิติติงถึงการทำงานของรัฐบาลว่าล่าช้า ไม่ทันการณ์

"อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองประธาน คชอ. และยังควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยซึ่งถือว่าเป็นแม่งานหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแทนนายกรัฐมนตรีโดยตรง กล่าวชี้แจงกับโพสต์ทูเดย์ ว่า เสียงวิจารณ์คงมีบ้าง แต่ในข้อเท็จจริงแล้วความเสียหายในครั้งนี้เกิดขึ้นในวงกว้างมากมีผู้ประสบภัยกว่า 30 จังหวัด กว่าล้านครัวเรือน

"แน่นอนคงมีพื้นที่ที่ภาครัฐเข้าไปไม่ถึงและเสียงสะท้อนนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไข แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่10 ต.ค.เป็นต้นมา อาจจะเรียกได้ว่าเป็นน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำไป ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้ลงไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี หรือแม้แต่สถานการณ์ที่บานปลายในจังหวัดภาคใต้ เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างหนัก จึงทำให้ผลกระทบขยายวงกว้างอาจทำให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึงในช่วงแรกบ้าง แต่ขณะนี้คิดว่าไม่มีปัญหา"

อภิรักษ์มือประสานแก้น้ำท่วม อภิรักษ์ โกษะโยธิน

อภิรักษ์ บอกว่า ทางรัฐบาลก็พยายามลงไปช่วยในพื้นที่ที่เกิดปัญหาโดยมีหน่วยปฏิบัติที่อยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ซึ่งมีเครือข่าย ปภ.ทุกจังหวัดอยู่ในพื้นที่ และการทำงานก็จะมีส่วนปฏิบัติการส่วนหน้าที่มีจังหวัดอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาลหรือแม้แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็จะทำงานกันเป็นเครือข่ายของพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการทำงานแก้ไขปัญหาสถานการณ์

นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาถึงรูปแบบหรือวิธีการทำงาน คชอ.จะมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ นอกเหนือจากหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือเหล่าทัพ คือทัพบก เรือ และอากาศ ก็จะมีเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้จะมีทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยทั้งหมดมีเครือข่ายของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ทำเรื่องCorporate Social Responsibility (CSR) หรือ บรรษัทบริบาล ก็ได้เข้ามาร่วมทำกิจการเพื่อสังคม (Social  Enterprise)

ขณะเดียวกัน ในการแก้ไขสถานการณ์ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เข้ามาด้วย โดยทางภาคเอกชนเองก็ริเริ่มเปิดเว็บไซต์ชื่อ  www.thaiflood.com และก็จะมีเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ส่งความช่วยเหลือหรือแม้แต่มีการแจ้งเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ไหน อย่างไร
        
อภิรักษ์ กล่าวอีกว่า คชอ.ได้เร่งดำเนินการเปิดศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย และในการทำงานของศูนย์ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการพยากรณ์อากาศ การตรวจสอบสภาพพายุดีเปรสชัน ซึ่งก่อให้เกิดสภาพอากาศฝนตกการบริหารจัดการน้ำ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ที่ดูแลในเรื่องของภาพถ่ายทางด้านดาวเทียม ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มานั่งทำงานที่ศูนย์เต็มเวลา

นอกจากนี้ ศูนย์ก็เปิดสายด่วน 1111 ที่ปกติเป็นสายด่วนร้องทุกข์ของประชาชนอยู่แล้ว ก็เปิดให้ประชาชนได้ร้องทุกข์ พร้อมกับเปิดเว็บไซต์www.pm.go.th/flood ที่ได้เชื่อมโยงกับเว็บไซต์  www.thaiflood.com มีการนำข้อมูลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือภาพถ่ายดาวเทียม ก็ถือว่ามีข้อมูลครบในเรื่องของข้อมูลที่ประชาชนร้องทุกข์เข้ามา ตอนนี้ได้ประสานงานไปยังสื่อมวลชนทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุ

ช่วงหลังๆ ก็จะเห็นภาคเอกชน หรือสื่อมวลชนได้เข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในพื้นที่ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่าความเดือดร้อนประชาชนต้องให้ครบถ้วน แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะรู้สึกว่าพื้นที่ที่ความช่วยเหลือของภาครัฐเข้าไปไม่ถึง

"จริงๆ แล้วไม่อยากกล่าวว่า เกิดปัญหาการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นหรือไม่ แต่เนื่องจากว่าเป็นเรื่องที่สถานการณ์เกิดผลกระทบวงกว้างและจำนวนครัวเรือนเป็นล้านครัวเรือนแต่เห็นพลังว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาคส่วนใดๆ ก็อยากเข้าไปช่วย แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาอาจจะรู้สึกว่าต่างคนต่างทำ ดังนั้นบางทีความช่วยเหลืออาจไปกระจุกตัวอยู่บางจุดหรือบางพื้นที่ก็ไม่ได้รับการดูแล"

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น "อภิรักษ์" แจกแจงว่า นอกเหนือจากรัฐบาลจะเร่งมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนผ่านคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ในเบื้องต้นมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (เฉพาะราษฎรที่ถูกน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินไปสู่ที่ปลอดภัยได้หรือผู้ที่มีที่อยู่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน) ครัวเรือนละ5,000 บาท ในจำนวน 6.3 แสนครัวเรือน 

ทั้งนี้ พยายามทำให้เร็วที่สุด โดยเน้นความเป็นระบบ โปร่งใสไม่รั่วไหล ผ่านเครือข่ายธนาคารออมสินให้ครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนโดยไม่พิจารณาเฉพาะบุคคลที่มีทะเบียนบ้านเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เช่น ครัวเรือนที่อยู่บ้านเช่า เพื่อกระจายให้ไปดูแลในคนที่เดือดร้อนจริง

ขณะที่พี่น้องเกษตรกรจะเข้าไปช่วยดูแลด้วย เพราะสมัยก่อนนาล่มจะได้ไร่ละหกร้อยกว่าบาท แต่ตอนนี้คิดจากต้นทุนการผลิตที่เสียหายได้ 55% หรือไม่ว่าจะเป็นพืชไร่พืชสวนการทำบ่อปลา หรือปศุสัตว์ ก็จะได้รับมาตรการเยียวยาที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และจังหวัดก็จะเร่งไปสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด

พลิกวิกฤตสร้างโอกาสรวมใจทุกสี

โอกาสท่ามกลางวิกฤตในครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นโอกาสของคนไทยที่จะใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นเรื่องของการร่วมแรงร่วมใจ และรวมพลังโดยการไม่แบ่งกลุ่มแบ่งสี โดยเอาเป้าหมายเรื่องของการฟื้นฟูสภาพจิตใจฟูฟื้นสภาพความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์น้ำท่วม และหากพูดกันตรงๆ ในสถานการณ์ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการเมือง แต่วิกฤตในครั้งนี้จะเห็นว่าการทำงานไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย ทุกคนพยายามที่จะร่วมไม้ร่วมมือกัน

"ผมเองก็ไปในหลายพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่ไม่นึกเลยว่าจะเป็นพื้นที่สีแดง แต่เวลาทำงาน คชอ. ก็แบ่งการทำงานออกเป็นสีๆ เช่น สีแดงสีส้ม สีเหลือง และสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานที่ประสบความเสียหายน้ำท่วมรุนแรง น้ำท่วมยาวนาน ก็คือ สีแดงก็แปลว่าต้องระดมความช่วยเหลืออย่างเต็มที่มากกว่า" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าว

คิดว่าจริงๆ แล้ววันนี้แน่นอนการที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นนักการเมืององค์กร เอกชน หรือแม้แต่จะเป็นสื่อมวลชน หากทำด้วยใจและเจตนาบริสุทธิ์ แปลว่าเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้งและก็เข้าไปช่วยเหลือ แน่นอนว่าอาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียง แต่การทำงานอยากให้มองถึงเป้าหมายความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ผมเชื่อว่าหากปราศจากอคติทางการเมือง หรือบทบาทของคนแต่ละกลุ่มแล้ว เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ก็จะเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับคนไทย เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็ประสบปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างจนบานปลายไปสู่วิกฤตการเมือง

ดังนั้น วันนี้อาจจะใช้วิกฤตความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัย จะทำให้สำนึกได้เลยว่าในที่สุดแล้วจริงๆ เราก็เป็นคนไทยด้วยกัน ถ้าพี่น้องประชาชนที่ภาคใต้เดือดร้อน ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ หรือคนอีสานก็อยู่ไม่เป็นสุข และคนที่มาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วก็มีพี่น้องประชาชนจากทุกภาค ก็มาใช้ชีวิตและประกอบอาชีพหรือมาเรียนหนังสือ เชื่อว่านี้คือโอกาสอันดีจะทำให้คนไทยร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤตของพี่น้องประชาชนคนไทยที่ประสบวิกฤต ไม่ว่าจะอยู่ในภาคไหนหรือจังหวัดไหนก็ตามที

ทำประชาคมฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม

ที่สำคัญบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ก็คือได้คุยกับองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาชนในแผนฟื้นฟูร่วมกันด้วยการทำประชาคม เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็จะมีพื้นที่เป้าหมายเริ่มต้น 3 จังหวัด คือ นครราชสีมาชัยภูมิ และลพบุรี เพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วมหนักโดยบทเรียนที่จะเข้ามาคือ ก็จะทำในลักษณะประชาคม แปลว่าประชาชนอยู่ในพื้นที่ อยากให้มีความเข้มแข็งด้วยการอยากใช้วิกฤตครั้งนี้ให้

อภิรักษ์มือประสานแก้น้ำท่วม

เป็นโอกาสในการรวมพลัง คือแทนที่จะฟื้นฟูเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเดียว เช่นการซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน หรือเครื่องประกอบอาชีพหรือการซ่อมบ้านเรือน วัด มัสยิด โรงพยาบาลและสถานีอนามัย ก็จะใช้โอกาสนี้ในการวางแผนฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ไปด้วย

โดยนำเครือข่ายสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. เข้ามาดูว่าจะทำให้สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยดีขึ้นได้อย่างไร

สำหรับงบประมาณในเบื้องต้นทางรัฐบาลประเมินไว้อย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาท จะมีทั้งในส่วนของจำนวนครอบครัวที่จะได้รับการเยียวยาด้วยเงินชดเชย 5,000 บาท ในจำนวน6 แสนกว่าครัวเรือน แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังไม่นิ่งและยังมาเกิดเหตุการณ์ในภาคใต้อีก 10 จังหวัด ส่วนมาตรการเยียวยาความเสียหายของที่อยู่อาศัย อาชีพ และภาคเกษตรกรรมเช่น นาล่ม หรือพืชสวนไร่นาได้รับความเสียหาย

"ในขณะเดียวกันก็จะดูถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเช่น ผังเมืองการวางแผนชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้เข้มแข็งทั้งในเรื่องสิ่งปลูกสร้างที่ขีดขวางทางน้ำไหล หรือพื้นที่รับน้ำแบบแก้มลิงชุมชน นี้จะเป็นมาตรการในระยะยาวในการแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส"

อภิรักษ์ บอกอีกว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นทางด้านน้ำท่วมเป็นโอกาสทั้งในเรื่องของการวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพราะทราบดีว่าผลกระทบเรื่องโลกร้อนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรงขึ้นตลอด อย่างน้อยก็เป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกมากขึ้นและไม่เป็นฤดูกาล ปัญหาการก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ การไม่ดูแลสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะเป็นบทเรียนให้ทั้งส่วนของทางราชการ ภาคประชาชน หรือแม้แต่ภาคเอกชนที่ทำงานในเรื่องของการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ก็จะได้เห็นโอกาสแห่งการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ในระยะยาว แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ จะได้เห็นคนไทยได้ใช้วิกฤตครั้งนี้ร่วมแรงร่วมใจในการที่จะก้าวเดินหน้าต่อไปที่จะฟื้นฟูประเทศ

"เราจะใช้โอกาสนี้ไปดูศักยภาพแต่ละพื้นที่เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพ และภาคเอกชนเองที่มีเครือข่ายอยู่ในทุกจังหวัด เพราะภาคเอกชนเองก็เป็นเจ้าของบริษัท หรือโรงงาน ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมก็เป็นพนักงานของบริษัทหรือโรงงานเหล่านี้ ที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ก็จะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้วย หรือแม้แต่การซ่อมแซมบ้านเรือนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ต่างๆ ภาคเอกชนก็จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วย ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย หรือใช้โอกาสคราวนี้ในการดำเนินแนวทางซีเอสอาร์หรือกิจการเพื่อสังคมไปด้วยในตัว" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าว