posttoday

การเมืองพลิกโฉม ล้มช้างครั้งประวัติศาสตร์

25 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำการเมืองพลิกโฉม เกิดการล้มช้างครั้งประวัติศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ สูญเสียที่นั่งในฐานที่มั่นทั้งในกทม. และภาคใต้

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

กทม.ถือเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดความ เปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยพรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่าสูญเสียที่นั่งเกือบทั้งหมดทุกเขต

ว่าที่ สส.หน้าใหม่ของ กทม. ซึ่ง น่าสนใจ อาทิ เขต 1 ดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี) ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร และสัมพันธวงศ์ ธเนษฐ เศรษฐาวาณิช พรรคพลังท้องถิ่นไท เขตเลือกตั้งที่ 3 บางคอแหลมและยานนาวา ม.ล. อภิมงคล โสณกุล พรรคประชาธิปัตย์ เสียเก้าอี้ให้กับ วรรณวรี ตะล่อมสิน พรรคอนาคตใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 6 จตุจักร (เฉพาะแขวงจอมพล แขวงจตุจักร) พญาไทและราชเทวี คริส โปตระนันทน์ พรรคอนาคตใหม่ ล้ม อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี แชมป์เก่าพรรคประชาธิปัตย์ เขตเลือกตั้งที่ 8 ลาดพร้าว วังทองหลาง (ยกเว้นแขวงพลับพลา) สรรเสริญ สมะลาภา แชมป์เก่า พ่ายแพ้แก่ กษิดิ์เดช ชุติมันต์ พรรคพลังประชารัฐ

เขตเลือกตั้งที่ 9 จตุจักร (ยกเว้นแขวงจอมพล แขวงจตุจักร) และหลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครหน้าใหม่ แต่ชื่อชั้นน่าจะเรียกคะแนนนิยมได้มากอย่าง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือมือปราบ หูดำ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่ สิระ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ เขตเลือกตั้งที่ 13 เขตบางกะปิและวังทองหลาง (เฉพาะแขวงพลับพลา) พรรคประชาธิปัตย์ ส่งคนรุ่นใหม่ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม หลานชายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็พ่ายแพ้แก่ ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ พรรคพลังประชารัฐ

เขตเลือกตั้งที่ 19 เขตประเวศ (ยกเว้นแขวงหนองบอน แขวงดอกไม้) และสะพานสูง นาถยา เบ็ญจศิริวรรณ หรืออดีตนักแสดง นาถยา แดงบุหงา พรรคประชาธิปัตย์ เสียเก้าอี้ให้กับ ประสิทธิ์ มะหะหมัด พรรคพลังประชารัฐ

เขตเลือกตั้งที่ 22 คลองสานและธนบุรี (ยกเว้นแขวงบุคคโล แขวงดาวคะนอง แขวงสำเหร่) บางกอกใหญ่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พรรคอนาคตใหม่ อดีตผู้ต้องหาลักลอบผลิตคราฟต์เบียร์ ได้เข้าสภาเป็น สส.ครั้งแรก เขต 26 บางบอน หนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม) วัน อยู่บำรุง พรรคเพื่อไทย ล้มแชมป์เก่า พ.ต.อ.สามารถ ม่วงศิริ ลงได้สำเร็จ

เขตเลือกตั้งที่ 27 เขตตลิ่งชัน (เฉพาะแขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน) ทวีวัฒนา และหนองแขม (ยกเว้นแขวงหนองแขม) เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ พ่ายให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ แห่งพรรคอนาคตใหม่ คะแนนทิ้งห่างนับหมื่นคะแนน

เขตเลือกตั้งที่ 30 เขตบางกอกน้อยและบางพลัด รัชดา ธนาดิเรก แชมป์เก่า เสียที่นั่งให้กับ จักรพันธ์ พรนิมิตร พรรคพลังประชารัฐ

ภาคใต้ ที่มั่นอีกแห่งของพรรคประชาธิปัตย์ จ.ภูเก็ต 2 เขตเลือกตั้ง เขต 1 สุทา ประทีป ณ ถลาง พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 นัทธี ถิ่นสาคู พรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนนำแชมป์เก่าจากพรรคประชาธิปัตย์

เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.กระบี่ สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย ล้มแชมป์เก่า สุชีน เอ่งฉ้วน พรรคประชาธิปัตย์

จ.สงขลา 8 เขตเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์รักษาที่มั่นไว้ได้เพียง 3 เขต จากเขต 5 เดชอิศม์ ขาวทอง เขต 6 ถาวร เสนเนียม และเขต 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส่วนที่เหลือเป็นของพรรคพลังประชารัฐ 4 เขต ประกอบด้วย เขต 1 วันชัย ปริญญาศิริ เขต 2 ศาสตรา ศรีปาน เขต 3 พนม พรหมเพชร และเขต 4 ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส่วนเขต 7 ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ พรรคภูมิใจไทย มีคะแนนนำ ศิริโชค โสภา จากพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งตระกูล เทือกสุบรรณ ย้ายสังกัดเข้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยพรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่า รักษาที่มั่นไว้ได้ทั้งหมด ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีนักการเมืองในตระกูลเทือกสุบรรณเข้าสภาได้เลยแม้แต่คนเดียว

จ.ชลบุรี เขตเลือกตั้งที่ 6 จรัส คุ้มไข่น้ำ พรรคอนาคตใหม่ มีคะแนนนำ อิทธิพล คุณปลื้ม พรรคพลังประชารัฐ

และเขตที่ถูกจับตามาก นั่นคือเขต 3 สุพรรณบุรี ผลปรากฏว่า ประภัตร โพธสุธน พรรคชาติไทยพัฒนา ชนะ จองชัย เที่ยงธรรม ที่ย้ายสังกัดเข้าพรรคภูมิใจไทยได้สำเร็จ

ส่วนการเลือกตั้ง สส.ตราด ก็ส่อพลิก เมื่อ ศักดินัย นุ่มหนู พรรคอนาคตใหม่ คะแนนทิ้ง ธีระ สลักเพชร สส.ตราด 5 สมัย กว่า 5,000 คะแนน

ขณะเดียวกัน ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคอนาคตใหม่ คะแนนนำแชมป์เก่า วรงค์ เดชกิจวิกรม จากพรรคประชาธิปัตย์

ที่ จ.นครราชสีมา เขต 3 ประเสริฐ จันทรรวงทอง พรรคพลังประชารัฐ ล้มแชมป์ ประเสริฐ บุญชัยสุข พรรคเพื่อไทย เขต 10 สุภรณ์ อัตถาวงศ์ พรรคพลังประชารัฐ พ่าย พรชัย อำนวยทรัพย์ พรรคภูมิใจไทย ส่วนเขต 2 วัชรพล โตมรศักดิ์ แชมป์เก่าจากพรรคชาติพัฒนา พ่าย สุธรรม พรสันเทียะ พรรคเพื่อไทย ที่ จ.สุรินทร์ เขต 2 ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ พรรคพลังประชารัฐ ทลายฐานที่มั่น ชูชัย มุ่งเจริญพร พรรคเพื่อไทย ได้สำเร็จ