posttoday

"สส.ชุดแรกของไทย" เลือกตั้งท่ามกลางควันปืน

24 มีนาคม 2562

ย้อนประวัติศาสตร์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของไทยในปี 2476 ที่เป็นการเลือกตั้งท่ามกลางความรุนแรงและความวุ่นวายทางการเมือง

ย้อนประวัติศาสตร์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของไทยในปี 2476 ที่เป็นการเลือกตั้งท่ามกลางความรุนแรงและความวุ่นวายทางการเมือง

********************************

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้ จะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 28 ซึ่งอีกไม่นานจากนี้ก็คงจะทราบผลการเลือกตั้ง และเห็นเค้าโครงของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่

การเลือกตั้งครั้งนี้ กล่าวได้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารจากผู้สมัคร จากพรรคการเมืองต่างๆ ไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

สมรภูมิการเมืองในโซเชียลมีเดียครั้งนี้จึงดุเดือดเข้มข้นอย่างยิ่ง

ความเข้มข้นของสถานการณ์การเมืองในครั้งนี้ ชวนให้ย้อนหวนรำลึกถึงการเลือกตั้ง สส.ครั้งแรกของไทย เมื่อปี 2476 ซึ่งมีเหตุรุนแรงจากกบฏบวรเดชแทรกซ้อนขึ้นในระหว่างการจัดการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 เป็นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 จากการเลือกตั้งของราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้ง สส.ทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศไทย โดยกำหนดให้ สส.ประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 1 คน ยกเว้น จ.เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา มี สส.ได้จังหวัดละ 2 คน ขณะที่พระนครหรือ กทม.และ จ.อุบลราชธานี มี สส.ได้ 3 คน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ 4.2 ล้านคน ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 1.7 ล้านคน คิดเป็น 41.45% จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิมากที่สุดคือ จ.เพชรบุรี

การเลือกตั้งแยกเป็น 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้แทนตำบล จากนั้นผู้แทนตำบลจึงเป็นผู้เลือกตั้ง สส.ต่อไป

การเลือกตั้งผู้แทนตำบลทั่วประเทศนั้นดำเนินไปในช่วงวันที่ 1 ต.ค.-15 พ.ย. 2476 แต่ในระหว่างนั้นก็เกิดวิกฤตการณ์สำคัญทางการเมือง นั่นคือกบฏบวรเดช โดย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำกำลังทหารจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นรถไฟเคลื่อนกำลังเข้ามาถึงชานพระนคร โดยอ้างถึงการที่รัฐบาลปล่อยให้มีผู้ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเหตุวุ่นวายทางการเมืองจากการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์

เกิดการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลที่มี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่สถานีรถไฟบางเขน หลักสี่ ต่อเนื่องไปจนถึง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ต่อเนื่องกันระหว่างวันที่ 11-28 ต.ค. 2476

"สส.ชุดแรกของไทย" เลือกตั้งท่ามกลางควันปืน

กำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสานของคณะกู้บ้านกู้เมือง ไม่อาจต้านรับการบุกโจมตีของฝ่ายรัฐบาลที่มี พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการ แกนนำคนสำคัญของคณะกู้บ้านกู้เมือง คือ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เสียชีวิตในการรบ กำลังทหารของคณะกู้บ้านกู้เมืองถูกฝ่ายรัฐบาลจับกุมเป็นเชลยได้จำนวนมาก ทั้งฝ่ายรัฐบาลและคณะกู้บ้านกู้เมือง สูญเสียรวมกันทั้งหมด 17 ราย

ในที่สุด พระองค์เจ้าบวรเดช หลบหนีไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส การสู้รบที่ยืดเยื้อมาครึ่งเดือนจึงยุติลง แต่ผลที่ตามมานั้นก่อให้เกิดความแตกแยกในชาติอย่างรุนแรง รัฐบาลคณะราษฎรจับกุมปฏิปักษ์ทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะการจับกุม ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ นายทหารรักษาวัง พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และปฏิเสธที่จะอภัยโทษแก่กลุ่มกบฏ แม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงขอก็ตาม

ขณะเดียวกัน ในการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 นั้น รัฐบาลคณะราษฎรก็แต่งตั้งคนของฝ่ายตัวเองเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานคำทัดทาน โดยทรงเห็นว่าเป็น “สมบูรณาญาสิทธิของคณะ”

ผลพวงความแตกต่างที่เกิดขึ้นตามมาหลังกบฏบวรเดช เป็นสาเหตุหนึ่งของการกระทบกระทั่ง กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นำมาซึ่งการประกาศสละราชสมบัติในอีก 1 ปีต่อมา

ในระหว่างเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับอยู่ที่ จ.สงขลา ภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติลงแล้ว จนสามารถจัดการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัติพระนครเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และทรงประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภา

"สส.ชุดแรกของไทย" เลือกตั้งท่ามกลางควันปืน ทหารรัฐบาลขึ้นรถไฟไปปราบกบฏบวรเดช

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความรุนแรงและความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็ได้เห็นถึงความรู้สึกของประชาชนชาวไทยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยประชาชนจำนวนมากร่วมบริจาคเงิน สิ่งของ อาหาร ทรัพย์สิน แม้แต่แหวนแต่งงาน รวมทั้งอาสาสมัครช่วยเหลืองานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบปรามฝ่ายกบฏ

หลังการเลือกตั้ง สส.ประเภทที่ 1 และแต่งตั้ง สส.ประเภทที่ 2 เสร็จสิ้น สส.ทั้งสองประเภท รวม 156 คน ได้เลือก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาชุดที่ 1 นี้ ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ 4 ปี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2480

สส.ในสภาชุดนี้ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี อาทิ พล.ท.พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ประเภทที่ 1 จ.พระนคร ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และเลียง ไชยกาล สส.ประเภทที่ 1 จาก จ.อุบลราชธานี

ทองอินทร์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายสมัย ในรัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ ส่วนเลียง ได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประชาชนชาวอีสาน และเป็น 1 ใน 4 รัฐมนตรีอีสานที่ถูกสังหารที่ทุ่งบางเขนเมื่อปี 2492 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่วนเลียงก็มีโอกาสดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายสมัยเช่นกัน

นี่คือเรื่องราวจากอดีตการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อเริ่มต้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยซึ่งผ่านมาถึง 86 ปี ถึงปัจจุบันนี้การเมืองไทยก็ยังไปไม่พ้นวังวนของความขัดแย้งวุ่นวาย แต่อย่างน้อย 1 สิทธิ 1 เสียง ของประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็จะเป็นการประกาศเจตจำนงถึงการเมืองที่เราคาดหวังและต้องการ