posttoday

เลือกตั้งสะท้อนความตื่นตัว แต่ความน่ากลัวอยู่หลังจัดตั้งรัฐบาล

24 มีนาคม 2562

"อรรถสิทธิ์ พานแก้ว" นักวิชาการ ย่านธรรมศาสตร์ ผู้คร่ำหวอดงานวิจัยกระบวนการเลือกตั้ง ฉายภาพประชาธิปไตยผ่านการหย่อนบัตรที่ต้องติดตามนับจากนี้

"อรรถสิทธิ์ พานแก้ว" นักวิชาการ ย่านธรรมศาสตร์ ผู้คร่ำหวอดงานวิจัยกระบวนการเลือกตั้ง ฉายภาพประชาธิปไตยผ่านการหย่อนบัตรที่ต้องติดตามนับจากนี้

****************************

โดย....ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการในวันนี้ 24 มี.ค. 2562 เป็นอีกภาพการเมืองที่ต้องจดจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองที่ประชาชนผู้มีสิทธิตามกฎหมายจะออกมาใช้สิทธิลงคะแนน ยิ่งหากย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มี.ค. จะเห็นความตื่นตัวของประชาชนมาใช้สิทธิกันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิกันไว้ 2.6 ล้านคน ซึ่งจากวันนี้ไปจนถึงหลังเลือกตั้งทิศทางประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

“อรรถสิทธิ์ พานแก้ว” รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพปรากฏการณ์เลือกตั้งล่วงหน้า ก่อนมาถึงวันนี้ ผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่า หากถามว่าประชาชนตื่นตัวหรือไม่ ต้องบอกว่าใช่ อย่างไรก็ตาม อยากให้ถอยออกมาก้าวหนึ่ง และอย่าลืมว่าคนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า คือคนอยากไปเลือกตั้งอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะรู้ว่าวันที่ 24 มี.ค. อาจไม่สะดวก

อรรถสิทธิ์ มองว่าเป็นความตั้งใจคูณสอง แล้วก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร แม้จะมีภาพยุ่งยาก ล่าช้า ทว่าคนก็เตรียมใจ และเมื่อไปเจออุปสรรคในวันจริง มันอดทน ต่างจากครั้งก่อนๆ ไปเลือกตั้งปกติ รถติดก็ไม่ไป เพราะเลือกตั้งจุดเดียว แต่ครั้งนี้ต่อให้รถติดคนก็ยังตื่นตัวไป

ทั้งนี้ หากถามว่าวันที่ 24 มี.ค. จะเป็นอย่างไร ต้องบอกว่าประเทศไทยประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก เฉลี่ย 70% ชนะประเทศที่พัฒนาทางอุตสาหกรรม หรือประเทศที่มีประชาธิปไตยเยอะๆ ประเทศอื่นใช้สิทธิเพียง 50-60% เท่านั้น ประเทศไทย 70% บางจังหวัด 80-90% และมุมมองส่วนตัวครั้งนี้เพิ่มขึ้น 80% หากจะให้ถึง 90% เลยคงยาก แล้วจะโหวตให้ใครนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องดูหลังปิดหีบ

ส่วนภาพการเมืองในวันที่ 24 มี.ค. ปกติคนออกไปเลือก 70% และมีคนอีก 30% ที่ไม่ไปเลือก ถ้าครั้งนี้ออกไปเลือก 80% แสดงว่าเพิ่ม 10% แต่เป็น 10% ที่มาจาก New Voter หรือมาจาก 30% นี้ แสดงว่าการเพิ่มขึ้น มันอาจจะเลือกจากคนใหม่ที่เข้ามาในทางการเมือง มากกว่าคนที่ไม่สนใจการเมืองอยู่แล้ว

“ผมกำลังจะบอกว่าบางทีพฤติกรรมการโหวตของคนอาจจะไม่เปลี่ยน เพราะ 30% ที่เป็นพลังเงียบแท้จริงยังไม่ออก และคนรุ่นใหม่ที่ออกไปใช้สิทธิ 10% อาจจะทั้งหมดก็ได้ แต่ 70% ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปทั้งหมด คนรุ่นใหม่หากถามว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองเลยหรือไม่ มันอาจจะไม่ได้เยอะ เวลาเลือกตั้งต้องดู Momentum จุดเปลี่ยนในการเลือกตั้งช่วงนั้น แต่เชื่อว่าจะไม่มีพรรคไหนที่คนไทยเฮโลอยู่หลังพรรคนี้ มันยังเป็นแต่ละพรรคยึดกุมฐานเสียงของตัวเองได้ และอาจกินฐานเสียงใหม่ได้นิดหน่อย”

อรรถสิทธิ์ ระบุเหตุผลสำคัญ อย่าลืมว่าระบบเลือกตั้งถูกออกแบบไม่ให้ใครสามารถได้คะแนนเสียงมากสุด เมื่อก่อนเข้าใจว่าเลือกพรรคไหนเยอะที่สุด พรรคนั้นได้เป็นรัฐบาล ได้นายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ต้องมานั่งคิดคะแนนและคำนวณกันใหม่ ไม่ใช่ชนะแล้วได้เลย ชนะไว้ก่อน แต่ต้องมาดูปาร์ตี้ลิสต์อีก ยิ่งประชาชนออกไปเยอะ โอกาสของพรรคขนาดเล็ก ขนาดกลาง จะได้คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ยิ่งน้อยลง

อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ก็ยังไม่ใช่ตัวเปลี่ยนทางการเมือง แต่แค่เพิ่มจำนวน เพราะคนไม่เคยไป 30% ก็ยังไม่ไป ที่สำคัญอย่ามองคนรุ่นใหม่เป็นก้อนเดียว คนรุ่นใหม่คืออายุ 18-30 ปี ต้องแยกคนที่อยู่ในระบบการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย อาชีวะ ซึ่งคนในระบบการศึกษากับนอกระบบการศึกษา มีความสนใจและทุ่มเททางการเมืองแตกต่างกัน

เลือกตั้งสะท้อนความตื่นตัว แต่ความน่ากลัวอยู่หลังจัดตั้งรัฐบาล

อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจากคนในระบบการศึกษา คือ เรียนหนังสือ จะอยู่ในวงของการรับข้อมูลข่าวสาร การตื่นตัว แต่ไม่ได้บอกว่าคนนอกวงการศึกษาไม่ตื่นตัว เพียงแต่จะมีโฟกัสอย่างอื่นก่อน เช่น ทำงาน ดังนั้นคนเรียนหนังสือก็จะนึกถึงแต่เรียนหนังสือ แต่คนทำงาน ก็ต้องนึกถึงการทำงาน จึงทำให้พฤติกรรม 2 กลุ่มนี้แตกต่างกัน

“แม้เป็น First Time Voter ก็จริง แต่ไม่ใช่คนจะมีแนวคิดเหมือนกันทั้งก้อน ถ้าเราบอกว่าคนรุ่นใหม่มีอยู่ 7 ล้านคน แต่คนที่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 1 ล้านคน แต่ที่เหลือไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งโฟกัสอาจไม่ได้อยู่ที่การเมือง ไม่ได้บอกว่าไม่สนใจการเมือง แต่โฟกัสการเมืองจะมองไม่เหมือนกัน คนเหล่านี้อาจไม่ได้มองหาพรรคการเมืองใหม่ แต่อาจมองพรรคที่จะทำเศรษฐกิจอย่างไรให้มันดี”

อย่างไรก็ดี ทุกคนอยากเห็นประเทศในทางที่ดี แต่ไม่ใช่ต้องเปลี่ยนเป็นแบบนั้นแบบนี้ ที่สำคัญนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคมีความคล้ายกัน เว้นเพียงหีบห่อที่ต่างกัน ทุกคนให้ค่าแรง ให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น หรือลดภาษี ซึ่งเหมือนกัน แต่ในที่สุดจะเลือกเพราะอะไร ซึ่งการมีส่วนร่วมทางการเมืองอาศัย 3 อย่าง คือ เงิน เวลา และทักษะ ไม่ว่าชนชั้นนั้นถ้ามี 3 อย่างนี้ มันจะไป แต่คนที่ยังต้องทำมาหากิน ก็ต้องเอาเวลาไปทำเรื่องนี้ก่อน ดังนั้นการมองคนรุ่นใหม่เป็นตัวกำหนดอนาคต มันเป็นการตีขลุมเกินไป

อรรถสิทธิ์ ขยายความต่อว่า นอกจากนโยบายเป็นตัวกำหนดในการเลือกแล้ว ประการต่อมา คือ ความชอบ ซึ่งจากงานวิจัยที่เคยทำ คือ ชอบพรรคนั้น ชอบหัวหน้าพรรคคนนี้ ทุกคนคิดว่าเวลาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทุกคนมีเหตุมีผล แต่จริงๆ ไม่ใช่เสมอไป ความเป็นเหตุเป็นผล หมายความว่า ต้องเอานโยบายทุกอย่างมา แล้วใส่ตาราง วิเคราะห์ วิจารณ์ แล้วให้คะแนน จึงเลือกพรรคนี้

ทว่า แต่ทุกคนคือ ตกลงเลือกใครดี ถามจากคนรู้จัก หรือชอบใคร การลงคะแนนเสียงจริงๆ มันไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของอารมณ์เพียงอย่างเดียว ดังนั้นนโยบายดี ไปครึ่งหนึ่ง ที่เหลือชอบหรือไม่ และอย่าลืมว่าระบบการเลือกตั้งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคน

“เมื่อก่อนเรามีบัตร 2 ใบ เลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบ ตอนนี้ต้องเลือกคนที่ชอบ พรรคที่ใช่ นายกฯ ที่รัก แล้วคนจะเลือกอะไรในบัตรใบเดียว เรามองว่าคนจะโหวตเพื่อความต้องการทางการเมืองหรือหมายถึงอุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง แล้วมองข้ามว่าพรุ่งนี้มีปัญหาในพื้นที่ ต้องการใช้ สส.ไหม อีกครั้งที่ไปมองว่าคนทุกคนมีความคิดคล้ายๆ กัน และลืมแบ่งคนออกเป็นส่วนๆ ที่ต้องการสัมพันธ์กับ สส. แต่คนในเมืองไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับ สส. ก็จะเป็นอีกแบบ คิดว่าถ้าวันเลือกตั้งไปแล้วมีปัญหาจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปบ้าน สส.เพื่อคุยปัญหาได้ไหม”

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าพฤติกรรมกับความคิดต้องแยก จะบอกว่าภูมิทัศน์การเมืองไทยต่างไปแล้ว คนส่วนใหญ่ของประเทศสนใจการเมืองมากขึ้นกว่าเก่า แต่อย่าลืมว่าความสนใจจะเปลี่ยนความต้องการทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งไม่ได้ไปด้วยกัน เพราะคนยังเลือก สส.เพราะนโยบายและความสัมพันธ์บุคคลเชิงใกล้ชิด ดังนั้นภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไป แต่ความคิดทางการเมืองของคนยังไม่เปลี่ยน

สำหรับเรื่องที่หลายฝ่ายจับตาหลังเลือกตั้งเนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการให้มีนายกฯ อรรถสิทธิ์ ระบุว่า ต้องพูด 2 แบบ ถามว่าใช้เวลานานแปลกหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่แปลก ไม่ผิด เพราะระบบการเลือกตั้งทำให้ได้รัฐบาลผสม และโดยปกติทั่วโลก การผสมแล้วต้องไปด้วยกันได้ ต่างประเทศเวลาผสมจะมี Stagement ออกมาให้ประชาชนดูว่า ตกลงเรื่องอะไรบ้าง เพราะการผสมต้องมีพรรคแตกต่างกัน

“ของประเทศไทยไม่เคยมีการบอกไปผสมกันได้อย่างไร จากที่เคยหาเสียง แล้วเมื่อต้องมารวมมันทำไม่ได้ แต่จะพบกันตรงนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องมีข้อตกลงในการเป็นรัฐบาลผสม แต่ไม่เคยมีการเรียกหา ดังนั้นกลายเป็นว่าผสมกันไป แต่ต่างประเทศกว่าจะตกลงกันได้มันนาน คนยอมรับ

แต่ประเทศไทยการรวมกันได้เร็ว ไม่ได้ตกลงแบบนั้น ครั้งนี้ถ้ายาวเพราะอะไร แต่ถ้าจะใช้เวลานานมันก็เป็นเรื่องปกติ เพราะตกลงกันไม่ได้เนื่องจากคนมีความแตกต่างกัน แต่จริงๆ อีกมุมแล้วไม่ควรยาว เพราะไม่ได้แตกต่างในเรื่องนโยบาย หรือแทบเหมือนกันทั้งนั้น”

เลือกตั้งสะท้อนความตื่นตัว แต่ความน่ากลัวอยู่หลังจัดตั้งรัฐบาล

อรรถสิทธิ์ มองถึงข้อกังวลว่า การเลือกตั้งเป็นวงจร คือ ก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังวันเลือกตั้ง แต่ความน่ากลัวอยู่หลังวันเลือกตั้ง ก่อนและวันเลือกตั้ง ทำอย่างไรก็ได้ให้การแข่งขันเท่าเทียม เป็นธรรม ใช้สิทธิใช้เสียงอย่างเสรีภาพ แต่หลัง คนจะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งสำคัญ

ทั้งนี้ หากคนไม่ยอมรับผล การเลือกตั้งก็ไม่ใช่คำตอบ ประเทศอื่นเลือกตั้งแพ้ไม่เป็นไร จะรอ 4 ปีแล้วเลือกใหม่ แต่คนไทยเริ่มมีกระแส ถ้าไม่ได้จะเกิดม็อบหรือปฏิวัติ ซึ่งอาจไม่เกิดขึ้น แต่พอมีความคิดแบบนี้ แสดงว่าเลือกตั้งไม่ได้จบ คนไม่ยอมรับจากเสียงเลือกตั้ง

อรรถสิทธิ์ ยกตัวอย่าง ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลนาน แต่ไม่มีใครพูดเลยเรื่องการประชุมอาเซียนซัมมิต ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และจะเกิดขึ้นในสิ้นเดือน มิ.ย. ซึ่งต่างชาติ นักการทูต หรือสื่อต่างชาติ มักจะถามเรื่องนี้เสมอ แล้วใครจะไปจัด ถ้ายึดอาเซียนซัมมิต ดังนั้นรัฐบาลต้องมีความสง่างาม มีนายกฯ มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ แต่นี่เป็นการเมืองภายใน ถ้ายังไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปเร่ง คำถามนานเท่าไหร่ รัฐบาลรักษาการต่อๆ ไป สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือเปล่า

“ที่ผ่านมาบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี พอมีเลือกตั้งแล้วจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจดีจะนาน 3-6 เดือน ก็อาจเป็นไปได้ แต่เศรษฐกิจต้องดีจริงและการเมืองอย่าน้ำเน่า แต่ถ้านานเพราะเป็นการตกลงผลประโยชน์ตัวเองไม่ลงตัว ตรงนี้สังคมจะกดดัน แต่ถ้านานเพื่อทำนโยบายร่วมกันให้ลงตัวในการพัฒนาประเทศ อย่างนี้คนเข้าใจได้”