posttoday

เรื่องน่ารู้ "ไม่ไปเลือกตั้ง" เจอตัดสิทธิอะไรบ้าง

24 มีนาคม 2562

ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากไม่ไปเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิด้านการเมืองเป็นเวลา 2 ปี

ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากไม่ไปเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิด้านการเมืองเป็นเวลา 2 ปี

*************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

วันนี้ (24 มี.ค. 2562) ถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อคนไทยทั้งชาติ เพราะได้ออกไปใช้สิทธิใช้เสียง กำหนดอนาคตผ่านการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเสนอตัวขอมาทำหน้าที่บริหารประเทศแทนประชาชน และแน่นอนว่าถ้าอยากเห็นโฉมหน้าประเทศเป็นไปในทิศทางใดก็ต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ทว่า หากไม่ไปใช้สิทธิจะเกิดผลอะไรตามมาต่อประชาชนที่นอนหลับทับสิทธิ เมื่อส่องเนื้อหาใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กรณีไม่ไปใช้สิทธิตามมาตรา 35 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่ เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้

1.ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง สส.

2.สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น สว.

3.สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องถิ่น

4.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา

5.ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิให้มีกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้นับเวลาการจำกัดสิทธิ ครั้งหลังนี้โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ หากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใด ให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง

ขณะเดียวกันถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้ระบุวิธีการป้องกันไม่ให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง มาตรา 33 ในการเลือกตั้งครั้งใด ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควร

ทั้งนี้ ให้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งไว้ในแต่ละเขตเลือกตั้งภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้ามีเหตุไม่สามารถอาจแจ้งได้ภายใน 7 วันก่อนเลือกตั้ง ให้ดําเนินการแจ้งตามที่คณะกรรมการกําหนด

อย่างไรก็ตาม การแจ้งเหตุดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการแจ้งเหตุ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทําหนังสือหรือวิธีการอื่นเพื่อชี้แจงเหตุดังกล่าว โดยอาจมอบหมายให้บุคคลใดไปยื่นต่อบุคคล ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งแทน หรือจัดส่งหนังสือชี้แจงเหตุทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

สำหรับกรณีบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ให้แจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับแจ้งมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง

ส่วนการแจ้งเหตุ วิธีการแจ้งเหตุทางอิเล็กทรอนิกส์ บุคคลที่จะรับแจ้งเหตุ สถานที่รับแจ้งเหตุ การพิจารณาการแจ้งเหตุ และการอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด โดยในการกําหนดให้คํานึงถึงการอํานวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วย และในการนี้ให้คณะกรรมการกําหนดรายละเอียดของเหตุที่ทําให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งด้วย

อย่างไรก็ดี ประชาชนสามารถดาวน์โหลดหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หัวข้อ บริการข้อมูล จากนั้นเลื่อนไป หัวข้อที่ 7 แบบฟอร์มแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น (ส.ถ./ผ.ถ.31) เพื่อกรอกและนำไปใช้ยื่นรักษาสิทธิทางการเมืองต่อไป http://www2.ect.go.th/download-file.php?Action=download&DataID=8843

เรื่องน่ารู้ "ไม่ไปเลือกตั้ง" เจอตัดสิทธิอะไรบ้าง

นอกจากนี้ ยังมี 11 ข้อพึงระวังกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง คือ

1.ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน พยายามออกเสียงลงคะแนน หรือออกเสียงลงคะแนนโดยแสดงหลักฐานที่ไม่ใช่ตนเอง

2.ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใดๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้

3.ผู้ใดมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียง

4.ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง

5.ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

6.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว 7.ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 น. ของก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง + วันเลือกตั้งล่วงหน้า

8.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียกรับ หรือยอมที่จะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน

9.ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง

10.ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง

11.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง

ทั้งนี้หากพบการทุจริตเลือกตั้ง สามารถแจ้งได้ที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัด หน่วยปฏิบัติการข่าว โทร. 02-141-8045-51 สายด่วน กกต. โทร. 1444 กด 2 หรือเว็บไซต์ กกต. https://www.ect.go.th/ect_th/report_corruption.php โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บเป็นความลับ