posttoday

รับเงินเดือนหลวง "บิ๊กตู่" ไปไม่ถึงดวงดาว?

20 มีนาคม 2562

หากดูองค์ประกอบของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐของตำแหน่งหัวหน้า คสช. ต้องยอมรับว่าปฏิเสธได้ยาก โดยเฉพาะการรับเงินเดือนและการรับค่าตอบแทน

หากดูองค์ประกอบของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐของตำแหน่งหัวหน้า คสช. ต้องยอมรับว่าปฏิเสธได้ยาก โดยเฉพาะการรับเงินเดือนและการรับค่าตอบแทน

***************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ข้อพิพาทเกี่ยวกับความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งอาจมีผลต่อคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แม้ ณ วันนี้อาจจะซาลงไปบ้าง ภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาวินิจฉัยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่ในอนาคตยังมีความเป็นไปได้พอสมควรที่เรื่องนี้จะกลับมาร้อนอีกครั้ง หาก พล.อ.ประยุทธ์ ชนะการเลือกตั้งได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ อีกครั้ง

ย้อนกลับมาดูข้อเท็จจริงทั้งหมดจะพบว่ามีความน่าสนใจในแง่มุมทางกฎหมายอยู่พอสมควร

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมือง จะต้องไม่มีลัก ษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยหนึ่งในนั้นคือ ต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ด้วยเหตุนี้จึงนำมาซึ่งปัญหาที่ว่าแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ซึ่งตามข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ สวมหมวก 2 ใบ ได้แก่ 1.ตำแหน่งนายกฯ และ 2.หัวหน้า คสช.

ในแง่ของตำแหน่งนายกฯ แม้จะมีลักษณะความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็จริง แต่สถานะนายกฯ ตามกฎหมายนั้นเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งได้รับการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญที่ให้สามารถลงสมัครเป็นนายกฯ ได้อยู่แล้ว

เหลือแต่เพียงตำแหน่งหัวหน้า คสช.อย่างเดียวที่ต้องมาพิจารณาว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองยังไม่เคยวินิจฉัยมาก่อนว่าตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่อย่างไร เนื่องจากมีแต่องค์ประกอบของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยระบุว่าจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ได้แก่

1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย

2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ

3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ

4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย

เมื่อความไม่ชัดเจนในทางกฎหมายเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดข้อกังขาต่อความชอบด้วยกฎหมายในความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ พอสมควร

ยอดพล เทพสิทธา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด เพราะถ้าจะให้เกิดความชัดเจนอย่างเป็นทางการ จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เด็ดขาด แต่สำหรับส่วนตัวแล้วคิดว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันเป็นลักษณะต้องห้ามประการหนึ่งของการเป็น
แคนดิเดตนายกฯ

ยอดพล อธิบายว่า เมื่อเรานำข้อเท็จจริงในตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ มาพิจารณาไปทีละองค์ประกอบตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2543 จะเห็นได้ว่ามีความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐครบถ้วน อาทิ การได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย ไปจนถึงการใช้อำนาจออกคำสั่งหรือประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ที่สำคัญยังรับเงินเดือนตามกฎหมายอีกด้วย ดังนั้นหัวหน้า คสช.ย่อมมีความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอย่างแน่นอน

“ที่ผ่านมามีความพยายามอ้างว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่ได้เป็นตำแหน่งประจำ แต่เป็นแค่ตำแหน่งชั่วคราวนั้น คิดว่าประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะตามข้อเท็จจริงจะเห็นว่าหัวหน้า คสช.อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งนานกว่ารัฐบาลตามระบบปกติ เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน คิดว่าต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย”ยอดพล กล่าว

ด้าน พัฒนะ เรือนใจดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมุมมองว่า เชื่อว่าเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ กกต.จะมีความเห็นตามนั้น อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างคำวินิจฉัยมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อเทียบเคียงกับกรณีของหัวหน้า คสช. อาจจะไม่ถูกต้องเสียเดียว

พัฒนะ แสดงทัศนะว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 เป็นการวินิจฉัยองค์ประกอบความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐก็จริง แต่ไม่น่าจะเอามาเทียบเคียงกับกรณีของหัวหน้า คสช.ได้ เนื่องจากคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงตำแหน่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกับหัวหน้า คสช.แต่ประการใด

ทั้งนี้ ถ้าดูจากองค์ประกอบของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐของตำแหน่งหัวหน้า คสช. ต้องยอมรับว่าปฏิเสธได้ยาก โดยเฉพาะการรับเงินเดือนและการรับค่าตอบแทน ซึ่งผ่านขั้นตอนและระเบียบการเบิกจ่ายตามระเบียบและกฎหมาย

นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน สรุปว่า ถ้า กกต.ไม่ทำเรื่องนี้ให้เด็ดขาด หรือไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ คิดว่าจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังการเลือกตั้งและการเลือกนายกรัฐมนตรี หากรัฐสภาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพราะอาจจะมีการหาช่องทางเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินก็เป็นไปได้