posttoday

"คึกฤทธิ์ ปราโมช" ต้นตำรับพรรคเล็กตั้งรัฐบาล

17 มีนาคม 2562

เหตุการณ์ที่พรรคการเมืองที่ได้จำนวนส.ส.รองลงมาพลิกขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี2518

เหตุการณ์ที่พรรคการเมืองที่ได้จำนวนส.ส.รองลงมาพลิกขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี2518

**********************

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

การเลือกตั้ง สส. ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ จนถึงขณะนี้กระแสข่าวพรรคที่ได้จำนวน สส.รองลงมาอาจพลิกขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก็พูดกันหนาหูมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2518 หรือเมื่อ 44 ปีล่วงมาแล้ว

การเลือกตั้ง สส. เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2518 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งมีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 และประกาศใช้เมื่อเดือน ต.ค. 2517

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกตั้งมากเป็นอันดับ 1 มี สส. 72 คน จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมกับพรรคเกษตรสังคม ซึ่งมี สส. 19 คน และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม ซึ่งมี สส. 10 คน แต่จำนวน สส.ที่ได้มีเพียง 101 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน สส.ทั้งสภา ซึ่งต้องมีถึง 135 คน จากจำนวน สส.ทั้งหมด 269 คน ทำให้การแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2518 รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภา ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2518 ดำรงตำแหน่งได้เพียง 18 วัน จึงต้องพ้นจากตำแหน่งไป

หลังจากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมีจำนวน สส. เพียง 18 คน มีสถานะเป็นพรรคอันดับ 5 ก็รวบรวมพรรคต่างๆ อีก 12 พรรคจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเสียงสนับสนุนถึง 140 เสียง

รัฐบาลชุดนี้มีฉายาว่ารัฐบาลสหพรรคเนื่องจากมีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจำนวนมาก ประกอบกับอยู่ในช่วงที่ความตื่นตัวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ2516 การบริหารประเทศของรัฐบาลผสมที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นผู้นำจึงมิได้ราบรื่น

ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เองก็ถูกท้าทายจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะกรณีตำรวจบุกบ้านซอยสวนพลูทำลายข้าวของภายในบ้านเมื่อเดือน ส.ค. 2518

มูลเหตุครั้งนั้นมาจากข้าราชการตำรวจออกมาคัดค้านการออกกฎหมายโอนอำนาจการสอบสวนจากตำรวจไปให้กับฝ่ายปกครอง ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไปว่า หากตำรวจนัดหยุดงานก็จะนำลูกเสือมาทำหน้าที่แทนตำรวจ

ต่อมามีเหตุจับกุมชาวบ้านภาคเหนือ 9 ราย ในคดีเผาป่าและบุกรุกยึดพื้นที่เหมืองแห่งหนึ่ง รวมทั้งก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ขอประกันตัวผู้ต้องหาด้วยตัวเอง ทำให้ตำรวจไม่พอใจ จึงรวมตัวบุกบ้านซอยสวนพลู แต่ขณะนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่ได้อยู่ในบ้าน โดยไปที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันเพื่อเจรจากับตำรวจอีกกลุ่มหนึ่ง

นโยบายสำคัญในยุครัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และถือเป็นต้นแบบที่นโยบายประชานิยมในปัจจุบันนำมาปรับใช้คือ นโยบายเงินผัน

โดยหลังจากแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาแล้ว รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการพัฒนาท้องถิ่น และช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 เพื่อจัดสรรงบประมาณ 2,500 ล้านบาท ไปสู่ชนบท เพื่อให้ประชาชนมีงานทำในช่วงฤดูแล้ง ก่อนการทำไร่ทำนาในฤดูฝน ลักษณะการดำเนินการคือให้สภาตำบลเสนอความต้องการเกี่ยวกับการปรับปรุง คู คลอง ทำนบ ฝายกั้นน้ำ สะพาน ตลอดจนการซ่อมแซมต่อเติมอาคารสิ่งก่อสร้างสาธารณประโยชน์ เพื่อรัฐบาลจะได้จัดสรรเงินอุดหนุนจ้างแรงงานในท้องถิ่นดำเนินการ แต่นโยบายนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นมุ่งหวังผลทางการเมือง และกระบวนการดำเนินการในระดับพื้นที่ซึ่งไม่โปร่งใส

แม้นโยบายเงินผันจะเป็นที่รู้จักกันดี แต่นโยบายสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการสร้างจุดเปลี่ยน สร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในกระแสสงครามอินโดจีน ซึ่งฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังมีชัยเหนือประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็คือ การฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

"คึกฤทธิ์ ปราโมช" ต้นตำรับพรรคเล็กตั้งรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์พบกับเหมาเจ๋อตง

รัฐบาลไทยโดย พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) รมว.ต่างประเทศ ได้เริ่มกระบวนการฟื้นความสัมพันธ์กับจีน กระทั่งต่อมาในช่วงเดือน ก.ค. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรี จึงเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการพบกับ เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิสนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น

ว่ากันว่า เหมาเจ๋อตง ให้เวลา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เข้าพบร่วม 1 ชั่วโมง ซึ่งไม่เคยให้เวลาใครเข้าพบนานขนาดนี้มาก่อน และในวันที่ 1 ก.ค. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ก็ร่วมลงนามในแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งที่ตามมาคือรัฐบาลไทยเปลี่ยนท่าทีต่อประเทศคอมมิวนิสต์ โดยประกาศรับรองรัฐบาลเขมรแดงที่จีนให้การสนับสนุน

การฟื้นสัมพันธ์กับจีนครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูที่สำคัญ ซึ่งส่งผลดีตามมาหลังจากนั้นอีกหลายปี หลังกองทัพเวียดนามบุกกัมพูชา ขับไล่รัฐบาลเขมรแดง และรุกประชิดชายแดนไทย ซึ่งความสัมพันธ์ที่เราเปิดกับจีนเอาไว้แล้ว ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ของประเทศไทยได้อย่างมาก

หลังเผชิญปัญหาการเมืองทั้งในรัฐบาลผสมและกระแสเรียกร้องของกลุ่มมวลชนต่างๆ มาถึง 9 เดือน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2519

การเลือกตั้งในเดือน เม.ย. 2519 แม้พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะได้รับเลือกตั้งเพิ่มขึ้น แต่ตัว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้ สอบตกในสนามเลือกตั้ง สส.เป็นครั้งแรก จากการย้ายเขตลงสมัครรับเลือกตั้งของนักการเมืองหนุ่มหน้าใหม่ที่ชื่อ สมัคร สุนทรเวช

สมัครนั้นได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ครั้งแรกในปี 2518 ในเขตเลือกตั้งที่ 6 กทม. ซึ่งประกอบด้วยเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ และบางรัก แต่ครั้งนี้เขาย้ายมาลงเขต 1 ดุสิต ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

ว่ากันว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญให้สมัครย้ายเขตคือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งขัดแย้งกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ปลด ทวิช กลิ่นประทุม หัวหน้าพรรคธรรมสังคม ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเชิญให้ พล.อ.กฤษณ์ เข้าร่วมพรรคหลังเกษียณอายุราชการ และต่อมา พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็โยกย้ายนายทหารที่ พล.อ.กฤษณ์ วางไว้เป็นทายาทในกองทัพ ส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองของ พล.อ.กฤษณ์

เขต 1 ดุสิตนั้นถือเป็นเขตทหารและความปราชัยของปรมาจารย์แห่งซอยสวนพลูก็มาจากปมเงื่อนดังกล่าว