posttoday

เลือกตั้งเขต 2 ยะลาเดือด อับดุลการิม-ซูการ์โน-ริดวาน แพ้ไม่ได้

15 มีนาคม 2562

สนามเลือกตั้ง สส.ยะลา แม้มี 3 เขตเลือกตั้ง แต่การแข่งขันดุเดือดไม่แพ้จังหวัดอื่นๆแต่เขตที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ เขตเลือกตั้ง ที่ 2

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

จ.ยะลา มีเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 3 เขต มีผู้สมัคร สส.ทั้งหมดรวม 105 คน จาก 40 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ ประชาภิวัฒน์ พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย เพื่อธรรม ประชาธิปัตย์ พลังท้องถิ่นไท ไทยรักษาชาติ เพื่อคนไทย รวมพลังประชาชาติไทย สยามพัฒนา เสรีรวมไทย ชาติพัฒนา เพื่อชาติ รักษ์ผืนป่าประเทศไทย ประชาชนปฏิรูป ถิ่นกาขาวชาววิไล พลังชาติไทย คลองไทย เศรษฐกิจใหม่ ครูไทยเพื่อประชาชน พลังปวงชนไทย ประชาธิปไตยใหม่ ภราดรภาพ พลังสหกรณ์ กรีน พลังไทยรักชาติ พลังสังคม พลเมืองไทย พลังไทยรักไทย พลังไทสร้างชาติ ภูมิพลังเกษตรกรไทย มหาชน ไทรักธรรม พลังประชาธิปไตย ทางเลือกใหม่ ประชาธรรมไทย และพรรคแผ่นดินธรรม

ทั้งนี้ รวมผู้สมัคร สส.ยะลา จำนวน 105 ราย เขต 1 จำนวน 37 ราย เขต 2 จำนวน 34 ราย และเขต 3 จำนวน 34 ราย สำหรับ จ.ยะลา มี 8 อำเภอ 58 ตำบล 380 หมู่บ้าน 577 หน่วยเลือกตั้ง มี 3 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็น เขต 1 อ.เมือง อ.ยะหา เขต 2 อ.ยะหา อ.รามัน อ.กาบัง และ อ.เมืองยะลา บางส่วน เขต 3 อ.ธารโต อ.เบตง อ.กรงปินัง เขตเลือกตั้งทั้ง 3 เขต มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยเขตละกว่า 1.2 แสนคน

สนามเลือกตั้ง สส.ของ จ.ยะลา แม้มี 3 เขตเลือกตั้ง แต่การแข่งขันดุเดือดไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ แกนนำแต่ละพรรคต่างลงพื้นที่หาเสียงให้กับผู้สมัครอย่างเต็มที่ หวังเก็บชัยในช่วงโค้งสุดท้าย พร้อมชูนโยบายเอาใจประชาชน ทำให้เขตนี้เป็นที่เฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ ชนิดห้ามกะพริบตา ต้องดูในเขตเลือกตั้ง ที่ 2 ประกอบด้วย อ.เมืองยะลา (เฉพาะ ต.บุดี เปาะเส้ง และ ต.บันนังสาเรง) อ.รามัน ยะหา (ยกเว้นต.ยะหา ตาชี และ ต.บาโงยซิแน) อ.กาบัง

สำหรับผู้สมัครเลือกตั้งเขตที่ 2 คือ อับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คราวนี้ลงสนามพร้อมกับสวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) จบการศึกษาปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ เป็นทนายความในพื้นที่ จ.ยะลา มีฐานคะแนนเสียงแน่นปึ้กจากคนฐานรากในพื้นที่เป็นจำนวนมาก คู่แข่งคนสำคัญ คือ ซูการ์โน มะทาจากพรรคประชาชาติ (ปช.) น้องชาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นักการเมืองมุสลิม และ แกนนำ "กลุ่มวาดะห์" ซึ่งตัวซูการ์โนเคยเป็นผู้ช่วย สส. เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา 2 สมัย เคยเป็น สส.สังกัดพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.คนเดียวของพรรคในพื้นที่ ภาคใต้ โดยปี 2554 ซูการ์โนได้ลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) เขตเลือกตั้งที่ 2 แต่พ่ายให้กับ อับดุลการิม เด็งระกีนา จากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมองข้ามผู้สมัครน้องใหม่มาแรงอีกคนหนึ่งที่ลงสมัคร สส.ในเขตนี้ นั่นคือ ริดวาน มะเต๊ะ จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีดีกรีเป็นอดีต ส.อบจ.เขต อ.รามัน และมีบิดาชื่อ มะโซ๊ะ มะเต๊ะ เป็นอดีตกำนันคนดังแห่ง ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน ปัจจุบันเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตะโละหะลอ และในอดีตยังเป็นหัวคะแนนให้กับ อดีต สส.ในพื้นที่มาแล้ว

แต่เมื่อส่งลูกชายลงสนาม จึงต้อง จัดหนักจัดเต็ม หวังให้คะแนนท่วมท้นชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ ยิ่งในพื้นที่ อ.รามัน ถือเป็นพื้นที่หลักที่ทุกคนจะต้องเอาชนะให้ได้ หากมีคะแนนจาก อ.รามัน ชนะแบบท่วมท้น การได้นั่งเก้าอี้ สส.แบบ "นอนมา" เป็นไปได้อย่างแน่นอน สนามเลือกตั้งยะลา เขต 2 ถือเป็นศึกช้างชนช้าง ผู้สมัคร สส.แต่ละคนต้องลุ้นกันสุดตัวในวันที่ 24 มี.ค.นี้ว่าใครจะเข้าป้าย ต้องลุ้นจนนาทีสุดท้าย เพราะแต่ละคนมีฐานเสียงคะแนนดีไม่แพ้กัน

ขณะที่คอการเมืองต่างก็จับตามองว่ากลุ่มวาดะห์ที่นำโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ประกาศคว้าชัยทั้ง 3 เขตในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ได้หรือไม่ หลังจากลงพื้นที่ปราศัยใหญ่ที่สนามช้างเผือก อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยชูนโยบายหาเสียงหากได้เป็นฝ่ายรัฐบาลปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องยกไปเป็นปัญหาระดับชาติแล้ว เพราะว่าได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ใช้งบประมาณจำนวนมาก มีคนเสียชีวิต และทรัพย์สินเสียหายจำนวนมหาศาล ถึงเวลาแล้วที่ใครมาเป็นรัฐบาลต้องปรับแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่ต่อไปนี้จะผิดไม่ได้แล้วเราจะต้องสร้างให้เกิดความสงบสุขขึ้นอย่างยั่งยืนโดยเร็วๆ