posttoday

"โพลเลือกตั้ง" วิชามารเรียกคะแนนปั่นกระแสพรรคการเมือง

10 มีนาคม 2562

มองโพลเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นผ่านสายตาของนักวิชาการจาก 2 สำนักโพลที่ชี้ว่า เป็นเรื่องของเกมการเมืองเพื่อเรียกคะแนนในพื้นที่

มองโพลเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นผ่านสายตาของนักวิชาการจาก 2 สำนักโพลที่ชี้ว่า เป็นเรื่องของเกมการเมืองเพื่อเรียกคะแนนในพื้นที่

*********************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งหรือเหตุการณ์สำคัญๆ จะได้ยินการพูดถึง หรืออยู่ในความสนใจของผู้คนในวงกว้าง ทุกครั้งเช่นกันที่เราจะได้ยินตามมาด้วยนั่นก็คือเรื่อง “โพล” (Poll) หรือการสํารวจความคิดเห็น ท่าทีของคนทั่วๆ ไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จัดทําขึ้นโดยการส่งทีมงานลงพื้นที่ไปสุ่มหรือสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้อง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า โพลนั้นถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ทิศทางทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง โพลถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2518 โดยโพลที่รู้จักกันดี คือ นิด้าโพล ต่อมามีสถาบันการศึกษาหลายแห่งเปิดสำนักโพลขึ้นเช่นกัน ผลการสำรวจของทุกสำนักมักจะได้รับความสนใจในช่วงเลือกตั้ง ท่ามกลางคำถามสำคัญว่าโพลทั้งหลายนั้นเชื่อถือได้แค่ไหน เพราะบางครั้งเราก็ได้เห็นผลโพลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏภายหลังจนมักจะได้เห็นพาดหัวข่าวในวันต่อมาในทำนอง “โพลพลิก หรือแหกโพล”

อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น หรือนิด้าโพล ระบุว่า โพลผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ และมักจะเกิดจากขั้นตอนของการทำโพล หรือเรียกว่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการสุ่มตัวอย่าง หรือ Sampling Error เช่น หากสำรวจผลการเลือกตั้ง แต่กลับไปสำรวจมาจากกลุ่มคนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนจริงๆ ผลที่ได้ก็ย่อมคลาดเคลื่อนได้ง่าย

“สำนักโพลส่วนใหญ่ยังบกพร่องในเรื่องการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ตรงตามเป้าหมาย และต้องดูด้วยว่าโพลดังกล่าวตั้งคำถามในการสำรวจแบบไหน คำถามนั้นสำคัญมาก ถามแบบชี้นำก็อาจจะทำให้ได้คำตอบที่ทายผลผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน ที่กล่าวมาเป็นสองประเด็นหลักที่ทุกสำนักโพลระวังกันมาก

นอกจากนี้ งานวิจัยที่เคยทำ บอกว่าคนไทยนั้นมีนิสัยเลือกผู้ชนะ หมายความว่าหากผลโพลบอกว่าใครชนะ ก็จะกลายเป็นการสร้างแรงโน้มน้าวจิตใจคนอื่นๆ ตามไปด้วย คนไทยเราชอบไก่ชนตัวที่มีแนวโน้มจะเป็นไก่ชนตัวชนะ เพราะเราอยากได้ผลประโยชน์จากผู้ชนะมากกว่ายอมเลือกพรรคหรือนักการเมืองที่ชอบในอุดมการณ์แต่ไม่มีแนวโน้มว่าจะชนะ พรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงอาจจะได้เปรียบที่จะมีโอกาสได้รับชัยชนะมากกว่าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือพรรคโนเนม” อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ นิด้า กล่าว

อดีตผู้อำนวยการนิด้าโพล ระบุด้วยว่ากรณีดังกล่าวนั้นเองที่ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดว่า ห้ามเผยแพร่ผลโพลหรือผลการสำรวจความเห็นสาธารณะก่อนการเลือกตั้ง 7 วัน โดย กกต.ให้เหตุผลว่าผลโพลอาจเป็นการชี้นำประชาชน หรือมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง ข้อนี้สำคัญมาก ผลการวิจัยชี้ชัดว่าหากมั่นใจว่าใครจะชนะ คนไทยมีแนวโน้มจะเฮตามคนชนะได้ ดังนั้นหากไม่ห้ามเผยแพร่ผลโพลก่อนเลือกตั้ง 7 วัน ก็อาจจะมีการใช้โพลเร่งเร้าให้เกิดความคาดหวังว่าจะชนะการเลือกตั้ง ให้คนเทคะแนนเลือกพรรคหรือนักการเมืองที่น่าจะชนะ กรณีนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง หากไม่ห้าม อาจจะนับโพลเป็นวิชามารเพื่อโกงการเลือกตั้งได้เลย

สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า โพลนั้นบิดเบี้ยวได้เพราะอคติของคนทำ หรือมีพรรคตัวเองอยู่ในใจ หรือทำโพลแบบตามกระแส

“โพลแบบตามกระแสช่วงเลือกตั้งนั้นคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะการสำรวจในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมักจะตอบโพลแบบแห่ตามกัน เพราะกลัวตัวเองเชย แต่เอาเข้าจริงตัวเองก็ไม่ได้ไปลงคะแนนหรือไปลงคะแนนน้อย ทฤษฎีการทำโพลนั้นเป็นทฤษฎีฝรั่งซึ่งประชาชนมีสถานะทางครอบครัวแต่ต่างกันไม่มาก แต่คนไทยแตกต่างกันมาก ลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ทำให้โพลผิดพลาดได้ นอกจากนี้บางช่วงคนอาจจะแอนตี้โพล ก็อาจจะแกล้งตอบผิดๆ ก็ทำให้คลาดเคลื่อน เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2556 ผลโพลแทบทุกสำนักผิดทั้งหมด หรือในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดในภาคใต้ ปี 2548 ผลโพลเกือบทุกสำนักที่ทำโพลก็ผิดพลาดหมด เพราะคนโกหกโพล”

การเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีโอกาสที่โพลทั้งหลายจะทายผิดมาก เพราะทุกพรรคการเมืองต่างมีโพลเป็นของตัวเองที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้เกมการเมือง ใช้เรียกคะแนนหรือหากรู้ว่าบางพื้นที่ตัวเองแพ้ก็เปลี่ยนกลยุทธ์การหาเสียงเป็นการซื้อเสียงไปเลย หรือเมื่อรู้ว่าตัวเองคะแนนนำในเขตนั้นเขตนี้ก็ตายใจ เพลี่ยงพล้ำให้ฝ่ายตรงข้ามที่เร่งหาเสียงอุดรูรั่ว ปัจจัยที่กล่าวมาต่างมีส่วนที่ทำให้ผลโพลพลิกได้แทบทั้งสิ้น