posttoday

85 ปี "ราชันผู้สละราชย์"

03 มีนาคม 2562

85 ปีเต็มล่วงมาแล้ว เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2477 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ


85 ปีเต็มล่วงมาแล้ว เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2477 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ

**********************************

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

85 ปีเต็มล่วงมาแล้ว เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2477 เวลา 13.45 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงลงพระปรมาภิไธยท้ายพระราชหัตถเลขา พระราชทานให้กับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไปเข้าเฝ้าฯ

เนื้อหาในพระราชหัตถเลขานั้นทรงประกาศสละราชสมบัติ ความตอนหนึ่งว่า

“...บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป”

การที่รัฐบาลส่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นผู้แทนไปกราบบังคมทูลเชิญกลับประเทศ ก็เนื่องจากทรงมีพระราชดำริจะสละราชสมบัติมาเป็นระยะ จากความไม่ลงรอยกับแนวทางการเมืองการปกครองของคณะราษฎร อาทิ เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมนิยม เกิดความแตกแยกในสภา นำไปสู่การบีบบังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีลาออก และพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

กรณีกบฏบวรเดช มีการจับกุมปฏิปักษ์ของคณะราษฎรเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้รัฐบาลได้ตราพรบ.จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เห็นด้วย โดยทรงเห็นว่า การป้องกันมิให้เกิดกบฏนั้น ต้องดำเนินการปกครองอย่างดีและขจัดความไม่พอใจต่างๆ มิใช่การปราบปราม

รวมทั้งการที่คณะราษฎรแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 โดยทรงเห็นว่าการเลือกแต่พวกที่อยู่ในคณะผู้ก่อการเป็นส่วนมากนั้นเป็น “สมบูรณาญาสิทธิของคณะ”

ระหว่างนั้นมีพระราชประสงค์จะรักษาอาการพระเนตรในต่างประเทศ จึงเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2476 ถึงแม้ว่าจะประทับอยู่นอกแผ่นดินสยาม แต่ปัญหาขัดแย้งก็ยังไม่คลี่คลาย

85 ปี "ราชันผู้สละราชย์" พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในพระราชบันทึกถึงรัฐบาล เมื่อเดือน ธ.ค. 2477 ทรงรับสั่งถึงกรณีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 นี้ว่า

“ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้วว่า ข้าพเจ้ายอมสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง เว้นแต่จะรู้แน่ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น”

พระราชกระแสรับสั่งดังกล่าว ปรากฏขึ้นอีกครั้งในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ อีก 3 เดือนต่อมา ซึ่งเป็นข้อความที่เราคุ้นเคยกันดีว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิเด็ดขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

เป็นการประกาศสละราชสมบัติขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อทรงเห็นว่าจุดยืนของพระองค์และคณะราษฎร ไม่อาจสอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้ รวมระยะเวลาที่เสด็จฯออกจากประเทศไทย กระทั่งถึงการสละราชสมบัติ เป็นระยะเวลา 14 เดือน (ตามการนับศักราชแบบเก่าก่อน พ.ศ. 2484)

ภายหลังสละราชสมบัติ ทรงกลับไปใช้พระราชอิสริยยศเดิม คือ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักโนล ชานกรุงลอนดอน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และพระประยูรญาติ ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เมื่อรัฐบาลสั่งให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จฯ กลับประเทศไทย จึงทรงซื้อพระตำหนักใหม่ที่เล็กลง พระราชทานชื่อว่า พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์ Glen Pammant ซึ่งทรงสลับอักษรจากคำว่า “ตามเพลงมัน” หรือ Tam Pleng Man หมายถึงยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทรงพบกับความโทมนัสอีกครั้ง ในปี 2482 เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากกรมพระคลังข้างที่ และฟ้องร้องเรียกเงินกว่า 6 ล้านบาท ที่พระองค์ได้โอนย้ายไปตั้งเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการฟ้องคดีย้อนหลังก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ คดีนี้ศาลพิพากษาให้ยึดวังสุโขทัยซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อชดใช้

ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ ราชเลขานุการในพระองค์ขณะนั้น เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า

“เวลามีเรื่องร้ายที่นำความทุกข์โศกหรือความเดือดร้อนมาสู่พระองค์ท่าน ก็ทรงอดทนทุกอย่าง แม้ภายหลังที่ทรงสละราชย์แล้ว คนไทยในต่างประเทศยังวางตัวไม่ถูกเมื่อพบกับพระองค์ท่าน เพราะสถานการณ์ตอนนั้นปั่นป่วนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หากถวายความเคารพ หรือคบค้าสมาคมกับพระองค์ท่าน อาจมีภัยถึงตัวและครอบครัวหรือไม่ จนถึงกับเคยรับสั่งด้วยความเสียพระทัยว่า เรามันหมาหัวเน่า คนเห็นก็หนีหมด ตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่ง เสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารที่ภัตตาคารจีน พอเสด็จฯ เข้าไป คนไทยหลายคนที่นั่งกันอยู่ ซึ่งก็รู้จักพระองค์ท่านอยู่แล้ว ต่างก้มหน้ามองจานกันหมด ทอดพระเนตรปั๊บ ก็ไม่ทรงทราบว่าจะทำอย่างไร และทรงเห็นใจที่เขาทำตัวไม่ถูก”

ศิริน โรจนสโรช หัวหน้าหน่วยสนเทศสุโขทัยศึกษา สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขียนไว้ในหนังสือ “120 ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก” ว่า หนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีป้ายบรรณสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของหนังสือติดไว้ที่ด้านหลังของปกหน้าหรือที่ใบรองปก โดยมี 3 แบบ ซึ่งมีความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่เกี่ยวกับช่วงพระชนม์ชีพ โดยแบบที่ 1 เมื่อยังมิได้ทรงครองราชย์ แบบที่ 2 ช่วงที่ครองราชย์ และแบบที่ 3 ในช่วงหลังสละราชสมบัติ

85 ปี "ราชันผู้สละราชย์" ป้ายบรรณสิทธิ์

ความน่าสนใจของป้ายบรรณสิทธิ์หนังสือส่วนพระองค์ คือป้ายในแบบที่ 3 ช่วงหลังสละราชสมบัติ โดยมีบทกวีภาษาอังกฤษ ซึ่งทรงตัดตอนมาจากบทกวี A nook and a book ประพันธ์โดย William Freeland กวีชาวสกอตแลนด์ ซึ่ง ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระโอรส ม.จ.กมลีสาณ ชุมพล ข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แปลเป็นไทยเอาไว้ ความว่า

“ฉันขอเพียงมุมหนึ่งกับหนังสือเล่มหนึ่ง,

และปล่อยให้โลกแห่งความโอหังหมุนไป;

เพื่อไขว่คว้าเกาะเกี่ยวด้วยเล่ห์กล

เพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียง

ฉันขอเพียงหนังสือเล่มหนึ่งกับมุมหนึ่ง

ห่างไกลจากแสงแพรวพราวและความขัดแย้งอลหม่าน;

ขอไม้เท้ากับไม้ปลายขออย่างละด้าม,

อีกความสงบและความหอมหวานของชีวิต;

โอ้ โลกที่ช่างโอ้อวดเอ๋ย จงปล่อยให้ฉันได้ครองมุมของฉัน,

ราชาแห่งอาณาจักรนี้, หนังสือของฉัน,

อาณาบริเวณที่สมัยนิยมได้ทอดทิ้งไป;

จงผ่านฉันไป, บรรดาท่านนักเสี่ยงโชคเพียงเพื่อความรุ่งโรจน์เอ๋ย,

ขออย่าได้มาขัดจังหวะทำนองอันไพเราะแห่งเรื่องราวของฉันเลย!”

กวีบทนี้อาจสะท้อนถึงความในพระราชหฤทัยที่ปราถนาชีวิตสงบสุข เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ทรงปฏิเสธการระดมกองทัพหัวเมืองต่อต้านคณะราษฎร เพราะไม่ต้องการประทับอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือด ทรงยอมเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ รับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงด้วยพระราชหฤทัยเปี่ยมขันติธรรม เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชน

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระอาการประชวรด้วยโรคพระหทัยพิการก็กำเริบขึ้น ทรงย้ายมาประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ในเดือน เม.ย. 2484 พระอาการหนักขึ้นทำให้ทรงอ่อนเพลียต้องจ้างพยาบาลดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด

กลางเดือน พ.ค. 2484 พระอาการมีแนวโน้มดีขึ้น ทรงลุกขึ้นเสด็จพระราชดำเนินได้ ครั้นวันที่ 30 พ.ค. หลังตื่นบรรทม ทรงเสด็จพระราชดำเนินไป
ตามระเบียงพระตำหนัก ทอดพระเนตรดอกทิวลิปที่ทรงปลูก หลังเสวยพระกระยาหารเช้าทรงบรรทมต่อ ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่งออกไปเก็บของยังพระตำหนักเก่า

ช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. ทรงกดกริ่งเรียกพยาบาล เมื่อพยาบาลขึ้นไปถึงพบว่าทรงบรรทมหงายเหยียด พระเนตรทั้งสองข้างปิดสนิท พยาบาลรีบแจ้งแพทย์แต่ก็หมดหนทาง เสด็จสวรรคตไปเสียแล้วด้วยพระชนมายุ 48 พรรษา 6 เดือน 23 วัน ยังความโศกเศร้าแก่พสกนิกร ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “ธรรมราชา” ผู้ทรงเมตตาใช้ขันติธรรมเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญในประเทศชาตินั้นดำเนินไปอย่างสันติ

85 ปี "ราชันผู้สละราชย์" พระตำหนักโนล สถานที่ทรงพระราขหัตถเลขาสละราชสมบัติ

**************************************

หมายเหตุ : เดือนและปีที่ใช้ในบทความนี้นับแบบศักราชเก่า ก่อนพ.ศ. 2484 ซึ่งเดือนแรกของปีคือเดือน เม.ย. และเดือนสุดท้ายคือเดือน มี.ค.