posttoday

ห้ามสอบเข้าป.1ยังคลุมเครือ ไร้ทิศทาง"เด็กแบกรับกรรม"

18 กุมภาพันธ์ 2562

เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของหลายฝ่าย ทำให้การห้ามสอบเข้าป.1ยังคลุมเครือ

เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของหลายฝ่าย ทำให้การห้ามสอบเข้าป.1ยังคลุมเครือ

********************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ช่วงเดือน ต.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื้อหากำหนดว่า คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นผู้กำหนดแนวทางการรับเด็กเข้าเรียนทั้งในระดับ “อนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 จะไม่มีการสอบ” หากสถานศึกษาใดฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

ล่าสุด ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว และเตรียมประกาศเป็นกฎหมาย โดยมีการปรับใหม่ตัดการ “ห้ามสอบอนุบาล-ป.1” ออก หลังกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า “การกำหนดโทษอาญาปรับเงินไม่ได้” อีกทั้งยังนิยามการสอบไม่ชัดเจน แต่เห็นชอบให้เป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ในการรับเด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและ ป.1 ทั้งนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

กรองทอง บุญประคอง ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้และจัดการองค์ความรู้โรงเรียนจิตตเมตต์ ปฐมวัย กล่าวถึง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย หลังผ่าน สนช.ว่า ถือเป็น พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยฉบับแรกของประเทศไทยถูกผลักดันกลายเป็นกฎหมายแล้ว ส่วนเรื่องประเด็นปัญหาการห้ามสอบนั้น ตอนนี้ถือว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวคุ้มครองการจัดการศึกษาของระดับปฐมวัยไว้ว่า ต้องไม่มุ่งเน้นเรื่องการสอบแข่งขัน ทั้งในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนสอนพิเศษ จะสอนพัฒนาเด็กเพื่อมุ่งเน้นการแข่งขันไม่ได้ หากใครทำหรือฝ่าฝืนถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนนี้คือสิ่งที่ได้จาก พ.ร.บ.ดังกล่าว

ประเด็นการ “ห้ามสอบ” ของโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาต่อการจัดคัดเลือกด้วยวิธีการสอบนั้น ยังต้องรอคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจากในมาตรา 14 (7) ของกฎหมายนี้ยังระบุไว้ว่า ให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาหลักเกณฑ์การรับเด็กนักเรียน และการรับเด็กนักเรียนต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย ฉะนั้นการฟันธงออกมาเป็นคำพูดยังไม่ชัด แต่ได้ให้แนวทางไว้แล้ว หลังจากนี้ต้องดูว่าจะออกหลักเกณฑ์หรือนโยบายให้มีความชัดเจนเพียงใด

“จะเป็นคำพูดใดก็ตามขอให้กฎหมายคุ้มครองเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 0-6 ปี ไม่ว่าคุณจะรับเด็กนักเรียนด้วยวิธีใดต้องไม่กระทบต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย ต้องรอเพียงคณะกรรมการฯ พิจารณาคำว่าไม่กระทบต่อเด็กปฐมวัยว่า อนุญาตสิ่งใด ไม่อนุญาตอะไรบ้าง” กรองทอง กล่าว

กรองทอง กล่าวว่า เนื้อหาตามกฎหมายฉบับนี้ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของหลายฝ่าย เดิมหวังว่าควรจะมีคำในเชิงกฎหมายที่มีผลต่อการคุ้มครองเด็กในทันที แต่ตอนนี้คำที่ใช้ยังไม่ไปถึงขนาดนั้น ยังทอดเวลาเพื่อให้คณะกรรมการฯ เป็นผู้ออกนโยบาย และยังไม่แน่ใจว่าจะออกเป็นกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องอนาคต สิ่งที่ปรารถนาคือ กฎหมายที่ออกมาต้องคุ้มครองเด็กทันที ในเมื่อยังไม่คุ้มครองทันทีจะต้องหาช่องทางคุ้มครองเด็กให้ได้

สาเหตุสำคัญที่โรงเรียนมีการสอบเพราะโรงเรียนกลัวเจอเด็กพิเศษ อาจกังวลในเรื่องการดูแลเด็กพิเศษในปริมาณมากเกินประสิทธิภาพการดูแลของโรงเรียน ทั้งที่ความจริงส่วนนี้เป็นข้อยกเว้นได้ เช่น โรงเรียนรับนักเรียนได้ 200 คน ให้จับสลาก 300 คน น่าจะพอสัมภาษณ์ผู้ปกครองและดูเรื่องพัฒนาการเด็กได้

การดูพัฒนาการเด็กไม่ใช่ดูเพียงคัดเด็กเก่ง แต่ยังเป็นการดูแลเด็กกลุ่มนี้ในแบบปกติได้ ส่วนเด็กพิเศษ เมื่อรับเข้ามาก็ต้องดูแลด้วยความเข้าใจเป็นพิเศษ หากแยก 2 กลุ่มนี้จะสามารถแยกสัดส่วนการดูแลที่รับไหวได้ ประเด็นคือโรงเรียนกลัวว่า หากมีเด็กพิเศษจำนวนมากเข้ามาจะทำอย่างไร จึงกลายเป็นความคิดว่าการสอบแบบวิชาการจะช่วยคัดเลือกเด็กพิเศษออกได้ระดับหนึ่ง

“ในสถานการณ์สอบเด็กช่วงวัย 5-6 ปี การสัมภาษณ์ถือว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากการสัมภาษณ์กับคนแปลกหน้าในสถานการณ์ที่แปลกไม่ได้วัดเด็กได้จริง เด็กตื่นเต้นก็ไม่พูด ถ้าโรงเรียนมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องวัดเด็กในการสอบ แต่นั่นหมายความโรงเรียนนั้นไม่สามารถพัฒนาเด็กช่วงวัยนี้ได้จริงหรือ” กรองทอง กล่าว

เธอระบุด้วยว่า ปัญหาการสอบเกิดขึ้นมานานแล้ว เช่นเดียวกับความพยายามยกเลิกสอบเข้าชั้น ป.1 แต่ไม่สำเร็จ ยอมรับว่าปัญหาการเข้าเรียนชั้น ป.1 เป็นปัญหาหนักหนาสาหัสอย่างมากและหนักขึ้นเรื่อยๆ อดีตเน้นสอบเรื่องของเชาวน์ปัญญาและข้อสอบไม่ได้โหดร้ายเหมือนปัจจุบัน ข้อสอบเด็กเหมือนข้อสอบระดับมหาวิทยาลัย เมื่อผู้ปกครองทราบว่าข้อสอบยากขึ้น จึงให้เด็กไปติวหรือเรียนพิเศษให้เด็กซักซ้อมในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ ทั้งที่เด็กวัยนี้ไม่ควรรู้เรื่องเหล่านี้

“เวลามีเท่ากันทุกคน 24 ชั่วโมง จะให้เด็กทำอะไร เด็กอยากเล่นก็อดเล่น แต่กลับต้องมาติวหนังสือที่ฝืนธรรมชาติเพื่อหวังผลสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ ดังนั้นข้อสอบที่ยากเกินวัยไม่สอดคล้องกับวัยเรียนรู้ตัวเด็กเอง ทั้งยังสร้างความเครียดให้เด็ก นั่นคือการสร้างผลกระทบต่อเด็กโดยตรง”

ขณะเดียวกัน กรองทอง บอกด้วยว่า ยังมีผลกระทบต่อเด็กทั้งเรื่องการขาดโอกาสในการพัฒนา ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สติปัญญา สังคม เด็กถูกยัดเยียด ไม่มีโอกาสได้เล่นกับเพื่อน สังเกตชัดเจนเด็กในปัจจุบันการทำงานเป็นทีมมักทำไม่เป็น เนื่องจากในวัยที่ควรเรียนรู้ถูกใช้ไปกับการติวหนังสือหมด เด็กเหล่านี้จึงซักซ้อมเพียงว่า ใครจะเก่งกว่าใครเท่านั้น แต่ไม่มีการเล่น ยืดหยุ่น ประนีประนอม รักกัน ทำงานเป็นทีมได้ มันหายไปหมด

ที่สำคัญการเรียนพิเศษของเด็กเพื่อการสอบไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กที่ไม่เกิดการเรียนรู้ พลังของการเรียนรู้หายไป เพราะเด็กรู้สึกว่าในเมื่อยากขนาดนี้การเรียนรู้มันต้องน่าเบื่อ ทำให้ทัศนคติต่อการเรียนรู้หายไป และยังมีผลกระทบต่างๆ อีกจำนวนมาก โดยมีงานวิจัยรองรับจำนวนมาก

“ไม่ว่าจะสอบแบบใดก็ไม่ควรทำ ทั้งด้านสติปัญญา ความเป็นคนดี ไม่สามารถวัดได้เลย ไม่ว่าโรงเรียนจะรับเด็กนักเรียนด้วยวิธีใดก็รับได้จำนวนเท่าเดิม ในเมื่อโรงเรียนรับเด็กได้เท่าเดิมแล้วจะรับเด็กทำร้ายเด็กไปทำไม โรงเรียนระดับประถมศึกษาน่าจะคิดวิธีการรับที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่วิธีรับที่โรงเรียนสบายใจแล้วเด็กต้องมาแบกรับเคราะห์กรรม” กรองทอง ขยายข้อเสียการสอบเข้า ป.1

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ผู้ที่สนับสนุนให้ยกเลิกการห้ามสอบเข้า ป.1 ยังต้องรอลุ้นและติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดต่อไป