posttoday

"คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ" จุดพลิกผันผลเลือกตั้ง

17 กุมภาพันธ์ 2562

"คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ"เป็นอีกตัวแปรสำคัญต่อทิศทางการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง อันจะมีผลต่อไปถึงจำนวนเก้าอี้ และโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล

"คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ"เป็นอีกตัวแปรสำคัญต่อทิศทางการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง อันจะมีผลต่อไปถึงจำนวนเก้าอี้ และโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล

************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถือเป็นอีกตัวแปรสำคัญต่อทิศทางการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง อันจะมีผลต่อไปถึงจำนวนเก้าอี้ และโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ต้องติดตามรอดูผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาอย่างไร

สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมองว่าถือเป็นจุดเปลี่ยนต่อทิศทางการเมืองไทยโดยมีความเป็นไปได้หลายแนวทาง

เริ่มตั้งแต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง ก็ต้องดูต่อไปว่าจะมีคำสั่งพ่วงให้ระงับสิทธิการสมัครเลือกตั้งรอบนี้ด้วยหรือไม่ ถ้าระงับ วันศุกร์ที่ 15 ก.พ. กกต.ก็จะไม่ประกาศรับรองผู้สมัครของพรรค ทษช. หรือหากไม่ระงับสิทธิ บัตรเลือกตั้งก็ต้องมีเลขของผู้สมัคร ทษช.

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำสั่งอะไรเพิ่มเติม พรรค ทษช.ก็ต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะตัดสินใจอย่างไร ทั้งการจะเดินหน้าเลือกตั้งต่อไปแบบเต็มที่ ทั้งหาเสียง ลงพื้นที่เหมือนปกติ หรือจะไม่ทำกิจกรรมเลยแล้วรอให้ถึงการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. โดยรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรคออกมาในช่วงจังหวะเวลาใด ซึ่งจังหวะของคำวินิจฉัยที่จะออกมาล้วนแต่มีผลทางการเมืองไม่มากก็น้อย

เริ่มตั้งแต่กรณีแรก ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค. กรณีที่ไม่ยุบพรรค ทุกอย่างก็เดินต่อไปตามปกติ แต่สมมติกรณียุบพรรค ทษช. ก็ต้องมาดูต่อว่าคำสั่งยุบพรรคนั้นเกิดก่อนเลือกตั้งนานแค่ไหน เพียงพอจะปรับแผนให้แก้เกมได้หรือไม่ เพราะหากพอมีเวลาก็อาจจะแอบไปสื่อสารกับกองเชียร์ของตนให้ไปเลือกใคร ซึ่งหากทำแบบเปิดเผยก็อาจมีความผิด ที่จะต้องไปพิจารณากันต่อไป

ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายพรรคการเมืองมีประเด็นเรื่องห้าม “คนนอก” เข้ามาแทรกแซง หรือยินยอมให้คนนอกเข้ามาแทรกแซง ประเด็นคือหากจะไปหาเสียงให้เทคะแนนของ ทษช.ซึ่งถูกยุบแล้วไปพรรคอื่น ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงถูกร้องว่ามีความผิด เช่นเดียวกับพรรคที่จะถูกเทคะแนนไปให้ หากไม่ออกมาคัดค้านก็อาจเข้าข่ายยินยอมให้คนนอกเข้ามาแทรกแซงได้อีก ตรงนี้เป็นรายละเอียดยิบย่อยทางข้อกฎหมาย

โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 ระบุว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

ส่วนมาตรา 29 “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

“แต่ถามว่าในทางปฏิบัติเขาจะทำไหม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะแอบไปทำแบบลับๆ ไม่ให้จับได้ เพราะถ้าคะแนน ทษช.ในกรณีที่ถูกยุบแล้วไม่บริหารจัดการ คะแนนส่วนนี้ก็จะกระจัดกระจาย เพราะความรู้สึกคนเมื่อถูกยุบพรรคก็อาจจะโมโห ออกไปทำบัตรเสีย หรือโหวตโน กลายเป็นคะแนนเสียของ แทนที่จะไปอยู่กับฝั่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน”

สติธร กล่าวต่อว่า กรณีที่สองคือคำวินิจฉัยออกหลัง 24 มี.ค. หากไม่ยุบพรรคก็เดินไปตามปกติ แต่หากยุบพรรคก็มี 2 เงื่อนไขที่ต้องติดตามคือ ยุบพรรคก่อนประกาศผลเลือกตั้ง กรณีนี้จะคล้ายกับยุบก่อนเลือกตั้ง เพราะคะแนนเปลี่ยนอะไรไม่ได้ กับเงื่อนไขที่สองคือ ยุบพรรคหลังประกาศผลแล้ว หากเขตไหน ทษช.ชนะก็จะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ส่วนหากเขตไหน ทษช.แพ้ก็ไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่คะแนนที่ ทษช.ได้ ไม่ว่าจะที่ 2 3 4 5 ก็จะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นสัดส่วนบัญชีรายชื่อ

ส่วนกรณีที่มีคำสั่งยุบพรรคหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งแล้ว สำหรับกรณีที่ สส.ของ ทษช.ชนะเลือกตั้งประกาศผลแล้ว สส.ก็จะสามารถย้ายพรรคได้ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด หากยังหาพรรคสังกัดไม่ได้ก็จะสิ้นสภาพไปเหมือนกัน

ยังไม่รวมกับกรณีมีเรื่องร้องเรียนในภายหลังในระยะเวลา 1 ปี หรือที่เรียกว่ารับรองก่อนแล้วสอยทีหลัง ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายกรณีได้ใบดำใบแดงแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหนึ่งบัตรจะนำมาคำนวณ 2 ระบบ ทำให้สัดส่วน สส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคเปลี่ยนแปลงได้ตลอด

"คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ" จุดพลิกผันผลเลือกตั้ง สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้

สติธร มองต่อไปว่า กรณียุบพรรค ทษช.ย่อมกระทบยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันแน่นอน เพราะหากคำนวณจากฐานคะแนนเลือกตั้งเมื่อปี 2554 หากพิจารณาจากการส่งผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย และ ทษช. มีส่วนที่ไม่ทับซ้อนกัน 100 เขต คือ เพื่อไทยส่ง ทษช.ไม่ส่ง หรือกลับกัน ทษช.ส่ง และเพื่อไทยไม่ส่ง ขณะที่มีพื้นที่ทับซ้อนที่ส่งด้วยกันสองพรรค 50 เขต ดังนั้นจึงต้องมียุทธศาสตร์วางแผน เพราะการจะถูกยุบหรือไม่ถูกยุบ ไปจนยุบเร็ว ยุบช้า มีผลที่ต่างกัน

ทั้งนี้ หากเทียบจากฐานเลือกตั้ง 2554 คะแนนของ ทษช.จะมีประมาณ 40 ที่นั่ง หากตัดสินใจผิดคะแนนตรงนี้จะกลายเป็นศูนย์ และไปเพิ่มให้ฝั่งอื่น เพราะคำนวณจำนวนประชาชน 35 ล้านคน หารด้วย 500 เขต สส.พึงมี 1 คน จะต้องได้เสียงสนับสนุน 7 หมื่นคะแนน ดังนั้นคะแนนหายไป 3 ล้านเสียง ยอมรวมจะเหลือ 32 ล้านเสียง หารแล้วจากเสียงสนับสนุน 7 หมื่นคน จะเหลือ 6.4 หมื่นคน

ดังนั้น เมื่อนำฐาน 6.4 หมื่นคน กลับไปหารคะแนนของแต่ละพรค ดังนั้นพรรคที่เคยได้ สส.บัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งก็จะได้เพิ่มแน่นอน ยกตัวอย่างพรรคตรงข้ามพรรรคหนึ่งเคยมี 7 ล้านเสียง หารตอนแรกได้ 100 ที่นั่ง แต่เมื่อเปลี่ยนตัวหารจาก 7 หมื่น เป็น 6.4 หมื่น จำนวนที่นั่งก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก 4-5 ที่นั่ง

“กรณีเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะแม้จะเปลี่ยนตัวหารคะแนนของพรรคเพื่อไทยก็จะไม่เพิ่ม หรือเพิ่มน้อยกว่าพรรคอื่นๆ คำนวณคร่าวๆ 250 เดิมได้เขตละ 5 หมื่น รวม 12.5 ล้านคะแนน หากหาร 7 หมื่นคะแนนรอบแรก ได้ สส.พึงมี 180 คน ซึ่งหากได้ สส.เขตประมาณนี้ก็แทบจะเต็มเพดานไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนตัวหารเป็น 6.4 หมื่น อาจได้ สส.พึงมี 190 คน ซึ่งก็แทบเต็มเพดานจนอาจไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม เพราะเมื่อแตกคะแนนเพื่อสู้กับระบบ เมื่อระบบย้อนกลับมาตีคืนเขาจะไม่ได้ประโยชน์อยู่ดี”

สติธร กล่าวว่า เวลานี้ทาง ทษช.ต้องคิดหนัก ต้องประเมินว่าเสี่ยงแล้วจะไปต่อหรือจะถอยตอนนี้เลยดีกว่าเพื่อให้ 40 ที่นั่งไม่เสียของ เพราะ 40 คะแนนตรงนี้มีผลต่อการจับขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ตามยุทธศาสตร์เดิมฝั่งเพื่อไทยที่ประเมินจะได้ 180-190 เสียง หากได้เสียงจากตรงนี้ 40 เสียงแล้ว หากอีกนิดเดียวก็ได้ 250 ตั้งรัฐบาล หรือยันไม่ให้พรรคอื่นตั้งรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หาก ทษช.ถูกยุบ และต้องการจะนำคะแนนในส่วนนี้ให้ย้อนกลับมายังของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตย ก็ต้องมาไล่ดูทีละพรรค ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้นมีพื้นที่ที่ผู้สมัครเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครในพื้นที่ที่ ทษช.ส่งผู้สมัคร 100 เขต ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถได้คะแนนในส่วนนี้ จะเหลือเพียงแค่ 50 เขต ที่เพื่อไทยส่งผู้สมัครในพื้นที่ที่ ทษช.ไม่ส่งผู้สมัคร

ดังนั้น ต้องย้อนกลับมาดูว่า 100 เขตที่ไม่มีเพื่อไทยจะทำอย่างไร หากอยากได้คะแนนตรงนี้ก็ต้องทำให้คะแนนย้อนกลับไปยังพรรคพันธมิตร ซึ่งเท่าที่ดูก็มีหลายพรรคที่ส่งผู้สมัครในหลายเขต ทั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ ซึ่งหากจะเทคะแนนไปก็ต้องไปพิจารณาว่าจะเทไปพรรคใดพรรคหนึ่งให้หมดหรือจะแยกดูเป็นรายเขต

“ถามว่าวิธีเหล่านี้ต่างกันไหม ก็ต่างกันหน่อย เพราะตัวเลือกอย่างพรรคเพื่อชาติก็ดูใกล้ชิด อาจจะพูดคุยกันง่ายหน่อย แต่ถามว่ามีจุดขายมากน้อยแค่ไหน จะได้แค่คะแนนจัดตั้งถึงหรือไม่ถึง 40 ที่นั่งหรือไม่ เพราะคะแนนก่อนหน้านี้มีทั้งกระแสพรรค กระแสนายกรัฐมนตรีผู้หญิง พวกนี้เป็นคะแนนสวิงโหวต หากมาชูพรรคเพื่อชาติอาจได้คะแนนสวิงโหวตได้ยาก”

อีกด้านหนึ่งสมมติเลือกพรรคอนาคตใหม่ นอกจากคะแนนจัดตั้งแล้วอาจยังสามารถปลุกกระแสเพิ่มเติม และมีแนวโน้มจะเกิดคะแนนสวิงโหวตตามมาได้มากขึ้น แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เรื่องความใกล้ชิดที่ไม่ใช่ว่าจะสั่งให้ยกมือตามได้ทุกเรื่อง เพราะเขาเป็นตัวของตัวเอง

หรืออย่างกรณีพรรคเพื่อชาติส่วนใหญ่วางตัวผู้สมัครเจาะจงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อาจจะทำให้ขายภาพทั่วประเทศได้ลำบาก ไม่ต่างจากพรรคเสรีรวมไทยซึ่งมีจุดขายคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว ดังนั้นการจะหวังกระแสสวิงโหวตให้ได้คะแนนเยอะอาจทำได้ยาก

สติธร กล่าวสรุปว่า คดียุบพรรค ทษช. จึงถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง ตลอดจนทิศทางการเมืองไทยต่อไปในอนาคต อยู่ที่ว่าสุดท้ายแล้วผลของคดีนี้จะออกมาอย่างไร และในช่วงเวลาใด รวมทั้งการวางยุทธศาสตร์ของแต่ละฝ่ายเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น