posttoday

ยาแรงวงการ "แป๊ะเจี๊ยะ" พลิกสารพัดวิธีติดสินบน

11 กุมภาพันธ์ 2562

เมื่อมีนโยบายมีกฎหมายที่ชัดเจน สังคมไทยจะเกิดการรับรู้ว่าแป๊ะเจี๊ยะคือสิ่งที่ไม่ถูกและต้องกำจัดไป

เมื่อมีนโยบายมีกฎหมายที่ชัดเจน สังคมไทยจะเกิดการรับรู้ว่าแป๊ะเจี๊ยะคือสิ่งที่ไม่ถูกและต้องกำจัดไป

**********************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับเงินหรือประโยชน์ เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.คงต้องเปลี่ยนแปลงไป หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอให้ยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ 7 ข้อ เช่น บุตรข้าราชการครู รับนักเรียนที่ทำคุณประโยชน์ให้โรงเรียนต่อเนื่อง รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษตามข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน ฯลฯ เนื่องจากเป็นต้นตอให้เกิดปัญหาการทุจริตขึ้นในวงการศึกษา

สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้เห็นข่าวเรื่องการรับเงินหรือแป๊ะเจี๊ยะในสถานศึกษา หลัง ป.ป.ช.เข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไข ถือว่าเห็นผลทันทีในเรื่องการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะหยุดชะงักลงทันที การที่ ป.ป.ช.เข้าไปแทรกแซงถือว่ามีข้อดี เพราะมีคำหลายคำที่หลังจากนี้คนจ่ายเงินหรือจ่ายแป๊ะเจี๊ยะต้องระวังตัวมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการจ่ายเงิน “เท่ากับติดสินบนแล้ว” อีกทั้งยังมีความผิดทางคดีอาญา

“วัฒนธรรมเรื่องการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะมันอาจจำเป็นต้องใช้ยาแรงขึ้น เชื่อว่าในระยะเวลา 3-4 ปีจากนี้เรื่องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะหลังมีประกาศคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว มีข้อเสนอแนะหลายเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องพิจารณา เช่น เรื่องกรณี 7 ข้อพิเศษพิจารณาเข้าเรียนควรยกเลิกหรือไม่ ทาง สพฐ.อาจต้องทบทวนพิจารณาใหม่ เนื่องจากมันคือจุดอ่อนที่เปิดช่องโหว่”

ในมุมมองส่วนตัว สมพงษ์เห็นว่ากฎหมายใหม่ที่ออกมานี้ดูดีขึ้นทันกับสถานการณ์ อาจทำให้กระบวนการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะในสถานศึกษาหยุดไปชั่วคราว และรูปแบบการให้แป๊ะเจี๊ยะจะอยู่ได้อีกประมาณ 2-3 ปี

สมพงษ์ กล่าวว่า แต่บางเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องจะทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลางที่มีอยู่ให้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม ได้รับเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องความแตกต่างของโรงเรียน เรื่องความเหลื่อมล้ำสูงขนาดไหน ส่วนนี้น่าคิดว่าต้องทำอย่างไรให้คุณภาพของโรงเรียนเกิดความใกล้เคียงกันมากที่สุด

“กรณีการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะส่วนตัวยังมองว่ามีปัญหาอยู่ โดยโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะรับนำกฎหมายนี้ไปปฏิบัติหรือไม่ หากรับแล้วจะปฏิบัติตามที่ ป.ป.ช.เสนอหรือไม่ ขณะเดียวกันสิ่งที่เห็นช่องว่างอยู่คือการตีความเรื่องแป๊ะเจี๊ยะเป็นการจ่ายสินบน จะมีบทลงโทษเด็ดขาดจริงจังแค่ไหน ตรงนี้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน” สมพงษ์ ระบุ

ยาแรงวงการ "แป๊ะเจี๊ยะ" พลิกสารพัดวิธีติดสินบน

นักวิชาการครุศาสตร์ คาดการณ์ว่า อีก 2-3 ปี จะเห็นรูปแบบแป๊ะเจี๊ยะในวิธีอื่น เช่น การจองโรงเรียนกันตั้งแต่เกิด ย้ายทะเบียนบ้านใกล้โรงเรียนดัง จ่ายแป๊ะเจี๊ยะที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น รถประจำตำแหน่ง พาครูไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ทั้งโรงเรียน ซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ แอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จ้างครูสอนภาษาอังกฤษ ฯลฯ ต่อไปรูปแบบนี้สังคมไทยได้เห็นอย่างแน่นอน นั่นหมายความว่ารูปแบบเดิมจะปรับเปลี่ยนจากเงินไปสู่การจ่ายแบบวัตถุสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ และใช้กับเด็กนักเรียนทุกคนมากขึ้น ที่สำคัญยังสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู และเป็นโปรแกรมพิเศษๆ ทำให้โรงเรียนเป็นที่ยอมรับ

“มันจะไม่ใช่รูปแบบตัวเงินอีกต่อไป เพราะถ้าโจ๋งครึ่มจะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นสินบน ต่อไปคงมีหลายรูปแบบอื่นเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องการจ่ายเงินเหมือนเดิม ทั้งนี้ ระเบียบ ป.ป.ช.ที่เกิดขึ้นมาถือเป็น ยาแรงจะช่วยลดปัญหาเรื่องแป๊ะเจี๊ยะลงได้ระดับหนึ่ง ทุกข้อเสนอแนะในทุกประเด็นมีข้อดีหมด เพียงแต่จะได้รับการนำไปปฏิบัติทุกข้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัดมากกว่า โดยเฉพาะ สพฐ.” สมพงษ์ กล่าว

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มองว่า การศึกษาต้องเปิดโอกาสให้เท่าเทียมกันสำหรับคนไทยทุกคน แต่ว่ากลุ่มคนที่มีศักยภาพที่สามารถจ่ายเงินจำวนมากได้ก็ต้องมีทางเลือกของกลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นโรงเรียนเอกชน โปรแกรมการศึกษาพิเศษ ไม่เป็นการปิดกั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.มาถูกทางแล้ว เนื่องจากการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไทยต้องออกมาตรการเป็นชุดๆ ในรูปแบบเฉพาะเรื่องเฉพาะราว

“อนาคตเรื่องการแต่งตั้งเฉพาะเรื่อง เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจ เป็นต้น ก็ต้องมีการออกกฎหมายเฉพาะเพิ่มเติมออกมา ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่จะไปกวาดเหมารวมไม่สามารถไปทำประโยชน์อะไรได้ วิธีการเฉพาะเจาะจงเป็นประโยชน์มากกว่า”

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เชื่อว่า เรื่องการรับแป๊ะเจี๊ยะจะเปลี่ยนไปแน่นอน เพียงแต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้นและทั้งหมด แต่จะดีขึ้น ระบบจะไปอย่างถูกต้องเท่าเทียม ส่วนคนที่จะทุจริตจะหาช่องทาง หาโอกาสต่อไปเรื่อยๆ

“เชื่อว่าอีกสักระยะถ้าเราพยายามทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเด็กยากจน เด็กบ้านใกล้โรงเรียนมีโอกาสได้เรียนโรงเรียนดีมีคุณภาพ นั่นคือสิ่งที่สังคมต้องการเห็นมากที่สุด เด็กจะได้รับโอกาสเพิ่ม”

แต่จะสกัดการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะหรือสินบน แต่มานะเชื่อว่ายังมีผู้ปกครองบางคน ผู้บริหารสถานศึกษาพยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดช่องทางช่องโหว่
ในการเรียกรับเงินในรูปแบบต่างๆ ซึ่งต้องพยายามปิดกั้นช่องทางเหล่านั้นให้ได้ โดยต้องครอบคลุมทุกคำ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า แป๊ะเจี๊ยะ บริจาค ฯลฯ ต้องดูวิเคราะห์อย่างรัดกุม ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่ถือว่าเห็นเป็นรูปธรรมรอบคอบมากขึ้น

มานะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ต่อไปหลังจากนี้สังคมจะเกิดการรับรู้ว่าแป๊ะเจี๊ยะคือสิ่งที่ไม่ถูกและต้องกำจัดไป คนให้และคนรับเงินล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เมื่อมีนโยบายมีกฎหมายที่ชัดเจนเท่ากับการตีตราในระบบว่าเรื่องแหล่านี้ไม่ถูกต้อง ใครที่พูดว่า “ใครเขาก็ทำกัน ในระบบมีอยู่” จะเป็นคำอธิบายที่จะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป ดังนั้นเรื่องทัศนคติ ค่านิยมของสังคมจึงเป็นเรื่องจำเป็น