posttoday

"ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" แม่ทัพใหญ่พลังประชารัฐวางกลยุทธ์พิชิตเมืองกรุง

10 กุมภาพันธ์ 2562

"ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกับบทบาทแม่ทัพใหญ่นำผู้สมัครกว่า 30ชีวิตสู้ศึกเลือกตั้งกรุงเทพฯ

"ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกับบทบาทแม่ทัพใหญ่นำผู้สมัครกว่า 30ชีวิตสู้ศึกเลือกตั้งกรุงเทพฯ

**********************

โดย...ปริญญา ชูเลขา

กรุงเทพมหานครนับเป็นสมรภูมิเลือกตั้งที่ดุเดือดที่สุดที่ทุกพรรคต้องการคว้าชัยเช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รองหัวหน้าพรรคเป็นแม่ทัพใหญ่ ผู้นำในการพาผู้สมัครกว่าสามสิบชีวิต ลงสู้ศึกสมรภูมินี้ โอกาสนี้โพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์พิเศษถึงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์คว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งทางการเมือง

ณัฏฐพล ในฐานะศิษย์เก่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค กล่าวว่า แม้จะยากสำหรับพรรคใหม่อย่าง พลังประชารัฐ เพราะต้องสู้กับเจ้าของพื้นที่เดิม คือ ประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยที่มีอดีต สส.หลายสมัย แต่สำหรับกลยุทธ์ของพลังประชารัฐ คือ การผสมผสานระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน กับคนรุ่นใหม่ทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมาเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน

เหตุผลที่เลือกคนรุ่นใหม่ลงแข่งขัน เพราะคนเหล่านี้ต่างมีประสบการณ์ทางธุรกิจที่สามารถนำความสำเร็จตรงนั้นมาปฏิบัติใช้ในการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน นโยบายสธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือการให้ทุนคนรุ่นใหม่ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างชีวิตตัวเองและครอบครัว

“สิ่งที่เราคิด คือ ผู้ที่จะมาทำนโยบายแก้ปัญหาความยากจนได้ต้องประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ทั้งชีวิตครอบครัวและการงานที่เข้าใจการวางแผนครอบครัวทั้งด้านการศึกษาและการลงทุนให้คนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมา จึงเลือกบุคลากรที่มีคุณลักษณะนี้มากกว่า และไม่เน้นส่งคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบเพราะขาดประสบการณ์ชีวิตและการงาน”ณัฏฐพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการคัดเลือกพื้นที่ที่จะนำคนรุ่นใหม่ลงแข่งขัน จะมีนักการเมืองท้องถิ่นในระดับ สก.หรือ สข.ที่ทำงานติดพื้นที่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงทางการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่ โดยเน้นพื้นที่ กทม.ด้านในเป็นหลัก ส่วนพื้นที่รอบนอก กทม.จะเน้นเป็นนักการเมืองเจ้าของพื้นที่ตัวเองมีความคุ้นเคยกับท้องถิ่นและชุมชนอยู่แล้ว เพราะพื้นที่รอบนอกมีการแข่งขันสูงกับเจ้าถิ่นเดิมทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ขณะที่คนรุ่นใหม่จะใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อทำให้ประชาชนได้รู้จัก เช่น เนวิน ภัชริน คนหนึ่งเป็นสถาปนิก โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่อยู่ในเมืองเพราะคนกรุงเทพฯ นิยมบริโภคสื่อผ่านโซเชียลมีเดีย

ณัฏฐพล กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์โซเชียลมีเดียจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ กระแสว่าที่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านมีโซเชียลมีเดียของตัวเองอยู่แล้ว จึงสามารถเชื่อมต่อกันได้ กระแสพรรคซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนได้รู้จักมากที่สุด และกระแสตัวผู้สมัคร ทั้งอดีตนักการเมืองท้องถิ่นหรือคนรุ่นใหม่ ทุกคนมีพลังในตัวเองที่จะไปแสดงภาพลักษณ์และศักยภาพให้ประชาชนได้รู้จัก

“พื้นที่ที่คิดว่าน่าจะได้แน่นอน แต่ก็ไม่ได้ประมาท เช่น หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา มีนบุรี คลองเตย บางแค ทุ่งครุ พญาไท เป็นพื้นที่ที่ผู้สมัครของพลังประชารัฐมีพลังในตัวเองสูงมั่นใจว่าจะต่อสู้ได้” ณัฏฐพล กล่าว

"ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" แม่ทัพใหญ่พลังประชารัฐวางกลยุทธ์พิชิตเมืองกรุง

ในฐานะศิษย์เก่าประชาธิปัตย์ “ณัฏฐพล” ได้สะท้อนความคิดว่ามอง ปชป.เป็นเจ้าถิ่นที่ล้มยาก แต่คิดว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยต่อเนื่อง นี่คือจุดแข็งของพรรค เพราะว่าใน กทม.คือ พื้นที่เศรษฐกิจและธุรกิจของประเทศ ซึ่งประชาชนต้องการความมั่นใจและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนหรือนักธุรกิจ เพราะคนกลุ่มนี้มีความหวั่นไหวสูง ดังนั้นนี่คือจุดขาย คือ การสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนให้ต่อเนื่อง สำหรับเพื่อไทยมีจุดแข็งในพื้นที่รอบนอก ที่พรรคจะต้องแข่งขันการเข้าถึงประชาชนและชุมชน จึงบอกผู้สมัครทุกคนต้องลุยไปหาประชาชนแบบเคาะประตูถึงหน้าบ้าน เพราะบางพื้นที่ ปชป.ยังชนะ พท.ไม่ได้ เช่น สายไหม ดอนเมือง หรือบางเขน ฯลฯ โดยผู้สมัครจะต้องแข็งแรงในตัวเองในการปกป้องพื้นที่

“ผมเคยอยู่ ปชป.มาเคยคิดว่า ปชป.กวาดที่นั่งได้ทั้งหมด แต่กวาดในบางพื้นที่ของ พท.ไม่ได้ ดังนั้นผู้สมัครที่จะชนะ พท.ได้ต้องแข็งแรงจริงๆ และยุทธศาสตร์ของพลังประชารัฐ คือ ต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของประชาชน ผู้สมัครทุกคนต้องเดินไปเคาะตามประตูบ้าน ที่สำคัญดึงทีมงานของทั้งอดีต สส.ประชาธิปัตย์ หรืออดีตเพื่อไทยมาช่วยอย่างหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี และคลองเตย ดังนั้นเมื่อดึงมือทำงานการเมืองมาแล้วเราหวังว่าจะสู้ได้แน่นอน”ณัฏฐพล กล่าว

ช่วงวิกฤตการณ์การเมือง 2557 “ณัฏฐพล” ลาออกจากการเป็น สส.ประชาธิปัตย์ เพื่อเข้าร่วมเป็นแกนนำในการชุมนุมของ กปปส. ซึ่งสนิทกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในฐานะแกนนำ “ณัฏฐพล” มองว่าพรรคของท่านสุเทพวางภาพรวมเอาไว้ในการเลือกตั้ง คือ เพื่อหวังกระแส กปปส. และกระแสที่ไม่เอา ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี ยังมีอยู่ ในภารกิจตรงนั้นการติดตามยังเหมือนเดิมหรือไม่ คงต้องพิสูจน์หลังเลือกตั้งและท่านเน้นเจาะบางเขตหลักๆ เช่น บึงกุ่มและคันนายาว เพราะเป็นพื้นที่ที่วางเป้าหมายกระแสของพรรคท่าน แตกต่างจากพื้นที่การเลือกตั้งในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เน้นสร้างความคุ้นเคยกับประชาชน เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้จักหรือคุ้นเคย ให้ประชาชนเปลี่ยนมารักหรือชอบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

“วิเคราะห์ภาพรวมกระแสคนกรุง เป็นกลุ่มคนที่เสพข้อมูลและรับข้อมูลในทุกรูปแบบหลังจากนั้นจะไปกลั่นกรองเอาว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ในการเลือกอาจจะกรองไปจนถึง 3 วันสุดท้าย ดังนั้นทั้งกระแสว่าที่นายกรัฐมนตรีและนโยบายพรรคต้องผสมผสานกัน เพราะถ้าตัวว่าที่นายกฯ น่าสนใจแต่นโยบายไม่ดี และไม่เข้าใจการแก้ปัญหาจริงๆ ของคน กทม.อาจไม่เลือก ผมว่าทุกพรรคมีนโยบายที่ดี เช่น พรรคเล็กๆ พรรคหนึ่งเสนอให้เรียนฟรีถึง ป.โท แต่ก็ไม่ชนะ เพราะคน กทม.มองถึงความเป็นไปได้จริงของนโยบาย ดังนั้นนโยบายพลังประชารัฐ ที่นำเสนอ เรียกว่ามีความเป็นไปได้ เพราะเป็นแผนต่อยอดจากรัฐบาลนี้ได้ทำ” ณัฏฐพล กล่าว

"ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" แม่ทัพใหญ่พลังประชารัฐวางกลยุทธ์พิชิตเมืองกรุง

ณัฏฐพล กล่าวว่า สำหรับนโยบายของกรุงเทพฯ พรรคได้นำเสนอนโยบายแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ โครงการตั้งกองทุนรถแท็กซี่โดยได้เป็นเจ้าของรถ ไม่ต้องเช่า โครงการขยายเครือข่ายซูเปอร์ไว-ไฟให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่ว กทม. โครงการจัดตั้งตลาดสะอาดเขตละ 1 แห่ง โครงการขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าทั่ว กทม.เพิ่มเติมจากปัจจุบัน โครงการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้แก้ปัญหาจราจร โครงการขยายสวนสาธารณะอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง โครงการนำรถยนต์เก่ามาใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อรถไฟฟ้าได้คันละแสน โครงการสนับสนุนให้ใช้น้ำมันดีเซล บี20, โครงการก่อสร้างหอฟอกอากาศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองทั่ว กทม. โครงการจัดตั้งจักรยานยนต์กู้ชีพเขตละ 50 คน เป็นต้น

นับเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันโดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ที่ต้องการดูแลค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้ลืมตาอ้าปากโดยจะสานต่อนโยบายของรัฐบาลเป็นการวางแผนเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสด้วยการสำรวจเอกสารสิทธิต่างๆ ให้นำมาใช้ประโยชน์เป็นเรื่องที่สำคัญในอนาคตด้านการวางแผนผังเมือง และการลงทุนจากเอกสารสิทธิที่ประชาชนครอบครองอยู่ได้นำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

“ความเป็นไปได้จริงของนโยบายทางพรรคทำได้จริง เช่น แก้ปัญหามลภาวะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด อาทิ รถเมล์เป็นรถไฟฟ้า รถแท็กซี่เป็นรถไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างควรหันมาใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าด้วย ลองคิดดูหากรถขนส่งสาธารณะนับแสนคันเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าจะทำให้อากาศ กทม.ดีขึ้นขนาดไหน รวมถึงการสร้างสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวใน 50 เขต ซึ่งแต่ละพื้นที่มีที่ว่างอยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายใด สิ่งสำคัญคือต้องมีการประสานระหว่างรัฐบาลกับ กทม. ถือเป็นนโยบายสำคัญในการคำนึงถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและอากาศที่บริสุทธิ์ ด้วยการทำที่ว่างทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวคืนอากาศบริสุทธิ์แก่คนกรุง”ณัฏฐพล กล่าว

ณัฏฐพล กล่าวปิดท้ายว่า การชนะเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ไม่ใช่การปราศรัยหาเสียง แต่การชนะเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ได้ คือ การลงพื้นที่ให้ประชาชนได้รู้จักมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประชาชนรู้จักผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย และการเดินไปพบปะพี่น้องประชาชนด้วยตัวเองต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำคะแนนการเลือกตั้ง ดังนั้นจะสู้อย่างเต็มที่เพราะทุกคะแนนจากประชาชนมีความสำคัญทุกคะแนนเสียง