posttoday

"เปิดหลักสูตรเอง" แก้ปมคุณภาพนักศึกษา

10 กุมภาพันธ์ 2562

มหาวิทยาลัยต้องสอนเฉพาะทางแก้ปัญหาคุณภาพนักศึกษาไม่ตรงตามความต้องการ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคใหม่ ขาดคุณสมบัติ

มหาวิทยาลัยต้องสอนเฉพาะทางแก้ปัญหาคุณภาพนักศึกษาไม่ตรงตามความต้องการ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคใหม่ ขาดคุณสมบัติ

*********************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

วิกฤตจำนวนผู้เรียนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากที่นั่งเรียนซึ่งเหลือจากการสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีเคส ถึง 1.2 แสนที่ และอีกปัญหาหนึ่งที่รุมเร้ามหาวิทยาลัยหลายแห่ง นั่นก็คือเรื่องของปัญหาคุณภาพผู้จบการศึกษา

ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ต้องแก้ปัญหานี้หลังจากพบว่ารับนักศึกษาใหม่เข้าทำงานแล้วทำงานไม่ได้ ด้วยการจัดอบรมพนักงานใหม่หรือปฏิเสธที่จะรับตั้งแต่ขั้นตอนสัมภาษณ์เข้าทำงาน หรือแม้กระทั่งบางแห่งถึงกับสร้างหลักสูตรขึ้นเองสำหรับการสมัครทำงานหรือทำข้อตกลงรับเข้าทำงาน และติดต่อกับบริษัทใหญ่ๆ ให้พร้อมจะพิจารณารับผู้ที่จบหลักสูตรดังกล่าวเข้าทำงาน

ณรงค์ศักดิ์ ภูมิศรีสอาด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ และผู้แทนผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเคยรับนักศึกษาเข้ามาทำงานแล้วพบปัญหาไม่สามารถใช้งานนักศึกษาตามจุดประสงค์ที่ต้องการได้ ต้องจัดให้มีการอบรมเรียนรู้อีกหลายด้าน จึงมองว่าเป็นความสูญเปล่าของทรัพยากรบุคคลของประเทศ

“เมื่อเห็นแบบนั้นก็มีแนวคิดที่จะสร้างสถานศึกษาที่เรียนวิชาการไปด้วยและฝึกงานภาคปฏิบัติอาชีพไปด้วย และมองว่าบริษัทของเรามีความพร้อม จากนั้นก็เปิดศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาธุรกิจค้าปลีก เป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้ในด้านการค้าปลีกอย่างครอบคลุม และครบวงจรของการบริหารธุรกิจ เป็นการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมและความสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว วิชาที่สอนในหลักสูตรนี้จึงครอบคลุมในหลายๆ ด้าน เช่น บัญชี การขาย ธุรกิจค้าปลีก คอมพิวเตอร์เพื่องานอาชีพ ศิลปการขายการจัดแสดงสินค้า การบริหารงานคุณภาพและเพิ่มผลผลิต” ณรงค์ศักดิ์ กล่าวและเล่าอีกว่า

การเรียนการสอนทางไกลของศูนย์เป็นแบบ 2 ทาง มีอาจารย์สอนจากส่วนกลางผ่าน ระบบ Video Conference ไปยังสถานศึกษา โดยอาจารย์และผู้เรียนสามารถคุยโต้ตอบกันได้ตลอดเวลาและเรียนภาคปฏิบัติจริงในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

นอกจากนั้น ยังได้เปิดสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งนอกจากจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางที่เน้นการศึกษาและวิจัยทางด้านธุรกิจค้าปลีกแล้ว ยังเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ขาดแคลนทั้งคณะที่เปิดสอนด้านการเกษตร คณะที่เปิดสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน

“เราเชื่อว่าแนวทางในการจัดการศึกษาของเรา สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้และการทำงานยุคใหม่อย่างเท่าทันเป็นปัจจุบันได้ เพราะความรู้จากเทคโนโลยีที่นำมาสอนนั้นได้รับการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา และซอฟต์แวร์ที่ถูกคิดค้นขึ้น 80% ของทั้งหมดนั้นถูกใช้ในแวดวงของการค้าปลีก เราจึงทันโลกที่เปลี่ยนไปทุกนาทีเหมือนเรา และมีนักเรียนมาเรียนกับเราเพิ่มขึ้นทุกปี”

แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ จ๊อบไทย ระบุว่า พฤติกรรมของผู้ประกอบการในความต้องการรับคนเข้าทำงานในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต องค์กรต่างๆ เริ่มปรับตัว บางสายไม่เน้นไปที่ผู้จบการศึกษาจากศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งโดยตรงอีกต่อไป

“เทคโนโลยียุคใหม่เปิดโอกาสให้สามารถทำงานข้ามศาสตร์ได้มากขึ้น จึงหมายความว่าความรู้เฉพาะในห้องเรียนอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการทำงานยุคปัจจุบัน ต้องมีการอัพเดทความรู้เรื่องเทคโนโลยีตลอดเวลา ขณะเดียวกันหลายคนก็ใช้ศักยภาพที่มีทำงานอิสระ หรืองานฟรีแลนซ์มากขึ้น เพราะมองว่างานฟรีแลนซ์นั้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้มากกว่า”

หัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ จ๊อบไทย กล่าวอีกว่า เคยสำรวจพบว่า คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำงานประจำ และบางส่วนเลือกงาน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนคนที่ทำงานฟรีแลนซ์จากการเก็บตัวเลขของจ๊อบไทย มีอัตราอยู่ 4.36% เมื่อเทียบกับคนทำงานประจำ แบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มคน Gen X (คนที่มีอายุ 43 ปีขึ้นไป) = 6.62% จากคนที่สนใจทำงานฟรีแลนซ์ทั้งหมด Gen Y (คนที่มีอายุ 25-42 ปี) = 78.65% จากคนที่สนใจทำงานฟรีแลนซ์ทั้งหมด และ Gen Z (คนที่มีอายุไม่เกิน 24 ปี) = 14.74% จากคนที่สนใจทำงานฟรีแลนซ์ทั้งหมด โดยแนวโน้มความสนใจงานอิสระยังคงเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะกลับเข้าทำงานประจำ หากมีปัจจัยที่สนองตอบความต้องการดีพอ

สำหรับตัวเลขจากการสำรวจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า สัดส่วนของคนทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ต่อคนวัยทำงานทั้งหมด อยู่ที่ 30% จากผู้ตอบแบบสอบถาม 9,387 คน โดย 1 ใน 3 นั้นประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

“เราเคยมีการสำรวจพบด้วยว่า นอกจากการสอบสัมภาษณ์เข้าทำงานแล้ว สถานประกอบการบางแห่งใช้วิธีเฟ้นหาคุณสมบัติของผู้สมัครงานให้ตรงตามความต้องการ โดยการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เข้าค่ายกิจกรรม เปิดเวิร์กช็อปเก็บตัวให้มาอยู่ร่วมกัน ให้โจทย์ในการทำงาน นำเสนอรูปแบบธุรกิจจำลอง เพื่อสังเกตทัศนคติ ความคิด ตัวตนของแต่ละคนว่ามีคุณสมบัติตรงตามความต้องการหรือไม่” แสงเดือน กล่าว