posttoday

เอาไม่อยู่แล้ว! ฝ่าวิกฤต PM2.5 ถึงเวลารัฐบาลต้อง "กล้า" แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

03 กุมภาพันธ์ 2562

ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ทว่ามาตรการภาครัฐที่ดำเนินการกลับเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถึงเวลาแล้วที่ควรใช้มาตรการเด็ดขาดอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ทว่ามาตรการภาครัฐที่ดำเนินการกลับเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถึงเวลาแล้วที่ควรใช้มาตรการเด็ดขาดอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

**************************

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ปัญหาฝุ่นละอองเป็นพิษ PM2.5 กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญเพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างหนัก คนกรุงเทพฯ แทบจะขาดอากาศบริสุทธิ์หายใจ ขณะที่มาตรการภาครัฐที่เร่งดำเนินการขณะนี้กลับเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ ฉีดน้ำบนถนน ขอความร่วมมือประชาชนลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล สนับสนุนให้ใช้บริการรถไฟฟ้า หรือแจกหน้ากากอนามัยฟรี แต่ทั้งหมดยังไม่อาจฝ่าวิกฤตฝุ่นละอองเป็นพิษอย่างยั่งยืนได้

โพสต์ทูเดย์ได้สัมภาษณ์พิเศษ “สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวแก่สาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐนำไปประยุกต์ใช้ฝ่าวิกฤตฝุ่น PM2.5 คืนอากาศบริสุทธิ์แก่คนกรุง

แนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้น “สนธิ” ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เสนอว่า มาตรการในระยะสั้นจนถึงเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี แต่สิ่งสำคัญที่เราได้เห็น คือ ทุกภาคส่วนได้ลงมาดำเนินการอย่างเต็มที่ ถึงขนาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมาสั่งการด้วยตัวเองซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่นายกรัฐมนตรีลงมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

ขณะที่ปัญหาดังกล่าวจริงๆ แล้วจะไม่เกิดขึ้นเลย หากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายมาตั้งแต่ต้น แต่กลับมาตื่นตัวในตอนนี้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ดังนั้นจากนี้ไปทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องนำกฎหมายที่มีอยู่นำออกมาบังคับใช้อย่างเต็มที่และจริงจังเสียที เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง เพราะที่ผ่านมาภาครัฐละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่ตัวเองมีอยู่ อาทิ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.โยธาและผังเมือง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรือ พ.ร.บ.อาคารและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

“ที่ผ่านมาภาครัฐคิดว่าเอาอยู่ แต่พอเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้บอกให้รู้ว่านี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ภาครัฐต้องหันกลับมาคิดแล้วว่า ถึงเวลาที่ต้องเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมายกันเสียที เพราะเรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริหารระดับประเทศอย่างนายกรัฐมนตรีต้องลงมาจี้หน่วยงานภาครัฐด้วยตัวเอง ขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย” สนธิ กล่าว

นอกจากการเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย “สนธิ” เสนออีกว่า ภาครัฐต้องกล้าใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดหากพบพื้นที่ใดมีค่าเกินมาตรฐานต้องสั่งปิดโรงงานหรือพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ก่อสร้าง ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะเป็นต้นตอของการปล่อยฝุ่นหรือควันดำที่ต้องเร่งดำเนินการทันที

เอาไม่อยู่แล้ว! ฝ่าวิกฤต PM2.5 ถึงเวลารัฐบาลต้อง "กล้า" แก้ปัญหาอย่างจริงจัง “สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

นอกจากนี้ อยากเสนอให้ภาครัฐต้องเสริมบทบาทของกรมอุตุนิยมวิทยา จะต้องสามารถประเมินหรือพยากรณ์ให้ได้ว่าเขตหรือพื้นที่ใดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าฝุ่นละอองสูงหรือต่ำเท่าไร พื้นที่ใดอันตราย หรือพื้นที่ใดปลอดภัย เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่พี่น้องประชาชนจะได้เตรียมตัวตั้งรับทัน

ตั้งแต่เมื่อตื่นนอนแต่เช้าขึ้นมาก่อนไปทำงานในแต่ละวันจะได้รู้ทราบข้อมูลว่า วันนี้เขตหรือพื้นที่ใดมีฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานจะได้เตรียมตัวใส่หน้ากาก หรือไม่ควรนำรถยนต์ส่วนตัวไปทำงาน ถือเป็นมาตรการขอความร่วมมือที่ภาครัฐต้องช่วยกันรณรงค์และสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง และรัฐบาลต้องแจกหน้ากากให้กับประชาชนฟรี เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะประชาชนที่ทำงานกลางแจ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรรมกร หรือแม่ค้าพ่อค้าหาบเร่แผงลอย รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุควรใส่หน้ากากตลอดเวลาในพื้นที่ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ฝุ่นละอองสูงตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูล

“อยากเสนอให้ภาครัฐจัดถนนคนเดินในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยการขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวในบริเวณถนนที่มีการจราจรแออัด เพราะจะเป็นการเพิ่มควันหรือฝุ่นในพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่กันหนาแน่นจากการจราจรติดขัด เช่น ถนนสีลม สุขุมวิท หรือสยามสแควร์ เป็นต้น ควรสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถขนส่งมวลชน หรือรถไฟฟ้าเพื่อช่วยแก้ปัญหาฝุ่น ดังนั้นเรื่องนี้จะรอช้าไม่ได้ต้องเร่งรณรงค์โดยเร็ว” สนธิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้ภาครัฐนำประสบการณ์ในต่างประเทศโดยเฉพาะจีนมาใช้ เพราะเป็นวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือ ต้องติดตั้งหัวกระจายน้ำเป็นฝอยบนหลังคาของตึกสูงไม่เกิน 100 เมตร เรียกว่า Skyscraper Sprinkler System โดยจะพ่นละอองฝอยของน้ำขนาด 0.1-3 ไมครอน (ขนาดใกล้เคียงฝุ่น 2.5) ออกไปสู่บรรยากาศโดยรอบในรัศมีอย่างน้อย 50 เมตร จะสามารถจับฝุ่นดังกล่าวลงสู่พื้นดินได้ แต่ต้องทำพร้อมกันหลายๆ ตึกในระดับความสูงไม่เกิน 100 เมตร โดยทำในวันที่มีค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐานและลมสงบ (Bad Day) รวมถึงการพ่นละอองน้ำต้องทำอย่างต่อเนื่องกันอย่างน้อย 30 นาที และเว้นระยะ 30 นาที-1 ชั่วโมง ซึ่งหากพ่นต่อได้สามารถลดฝุ่นลงได้ถึง 70% โดยเฉพาะในพื้นที่โซนที่มีค่ามลพิษสูง เช่น พระราม 2 บางขุนเทียน หรือพระประแดง

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนขอความร่วมมือให้ตึกสูงที่ตั้งอยู่ในเมืองทุกแห่งติดตั้ง Skyscraper Sprinkler System ที่ได้ออกแบบมาดังกล่าวและช่วยพ่นละอองฝอยของน้ำไปในบรรยากาศในวันที่มี PM2.5 สูงเกินมาตรฐานที่กำหนด (Bad Day) และจีนได้ผลิต Water Cannon หรือปืนใหญ่ฉีดน้ำขนาดใหญ่เพื่อใช้พ่นน้ำเป็นละอองฝอยขึ้นไปในอากาศได้สูงถึง 2,000 ฟุต โดยให้มีขนาดละอองน้ำ 0.1-3.0 ไมครอน เพื่อช่วยลด PM2.5 ในวันที่อากาศปิดและมีค่าฝุ่นสูงประกอบกันด้วย

เอาไม่อยู่แล้ว! ฝ่าวิกฤต PM2.5 ถึงเวลารัฐบาลต้อง "กล้า" แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

สนธิ กล่าวย้ำว่า ในการไม่นำรถยนต์ส่วนตัวไปทำงาน ต้องเริ่มต้นที่ภาครัฐก่อนเป็นอันดับแรก ที่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน ด้วยการไม่นำรถยนต์ส่วนราชการออกมาขับขี่บนท้องถนนในเขตประกาศควบคุม รวมถึงต้องสนับสนุนให้มีการจัดตั้งอาสาสมัครภาคประชาชน หรือ Citizen Watchdog ในการตรวจสอบฝุ่น PM2.5 ในเขตประกาศควบคุมด้วยการตระเวนไปตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษว่ามีอยู่ตรงจุดใดบ้าง เน้นบริเวณที่มีการเผาหรือควันดำ รวมถึงร้านอาหารปิ้งย่างต่างๆ ต้องลดการปล่อยควัน หรือแม้แต่เมรุฌาปณกิจต้องมีการตรวจสอบว่าระบบการเผาไหม้ถูกต้องและได้มาตรฐานหรือไม่ รวมถึงเขตก่อสร้างที่มีการใช้เครื่องจักรที่ใช้น้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซลในเขตประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม ต้องหยุดไว้ก่อน

“วิธีการที่จะช่วยบรรเทาลดความเข้มข้นของฝุ่นละอองได้ คือ การไปเอกซเรย์พื้นที่และจัดการกับแหล่งกำเนิดจะดีที่สุด โดยเฉพาะแหล่งต้นกำเนิดที่ถูกประกาศเขตควบคุมต้องมีมาตรการเร่งด่วน เช่น ปิดโรงเรียน ถือว่ารัฐบาลดำเนินการถูกต้องแล้ว” สนธิ กล่าว

สำหรับมาตรการระยะยาว “สนธิ” เห็นว่าวันนี้ประชาชนมีความรู้ตื่นตัวและรับทราบข้อมูลมาโดยตลอด ในปีหน้าประชาชนต้องไม่ยอมให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้อย่างแน่นอน หากยังเป็นแบบนี้อยู่หน่วยงานภาครัฐย่อมต้องถูกตำหนิได้ ดังนั้นในปีหน้าภาครัฐต้องมีมาตรการที่เข้มข้นและเห็นผลเป็นรูปธรรมที่เป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว

อันดับแรก อยากเสนอ คือ ต้องเปลี่ยนการใช้น้ำมันดีเซลเป็น บี5 รวมถึงต้องสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับสนับสนุนบริษัทรถยนต์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาถูก และต้องจำกัดรถยนต์ส่วนตัวโดยเฉพาะรถยนต์ใหม่ ต้องบังคับให้มีการจดทะเบียนเจ้าของรถยนต์ต้องมีพื้นที่จอดรถที่บ้านไม่เช่นนั้นจะไม่อนุญาตให้บุคคลดังกล่าวซื้อรถยนต์ได้ ที่สำคัญระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดต้องใช้ไฟฟ้าหรือเอ็นจีวี และต้องมีมาตรการเข้มงวดกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันพิษด้วยการเพิ่มค่ามาตรฐานเพื่อให้ลดการปล่อยควันพิษลดน้อยลง ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการปรับระเบียบการควบคุมมาตรฐานการปล่อยควันดำที่ปลายปล่องของโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ หรือแม้แต่ท่อไอเสียจากรถยนต์ดีเซล ต้องมีการตรวจสอบเข้มงวด ต้องไม่ให้มีการปล่อยควันดำที่มีค่าเกินมาตรฐาน

เอาไม่อยู่แล้ว! ฝ่าวิกฤต PM2.5 ถึงเวลารัฐบาลต้อง "กล้า" แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

สนธิ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้ต้นตอของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งมากจากไอเสีย ที่มาจากเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้กับรถยนต์และเครื่องจักร โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน คาดว่าเป็นต้นเหตุหลักเนื่องจากใน กทม. มียานพาหนะมากหลายล้านคัน และในจำนวนดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ขณะเดียวกันยังมีการก่อสร้างจำนวนมากทั่วเมือง จนส่งผลต่อระบบจราจรและมีผลต่อการระบายไอเสียมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น จึงอยากเสนอมาตรการระยะยาวที่รัฐบาลควรรับฟัง คือ รัฐบาลต้องกล้าออกนโยบายเก็บภาษีค่าธรรมเนียมรถยนต์เก่าให้แพงขึ้นเพื่อให้ในอนาคตรถยนต์เก่าจะได้มีปริมาณลดน้อยลง และต้องลดการเก็บภาษีรถยนต์ออกใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือเอ็นจีวีให้ถูกลง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น มาทดแทนรถยนต์เก่าที่ใช้พลังงานฟอสซิส และลดการใช้รถยนต์รุ่นเก่าให้น้อยลงแล้วจะช่วยลดมลพิษทางอากาศจากท่อไอเสียรถยนต์ อย่างไรก็ตามมาตรการที่เสนอนั้นจะดำเนินการได้กับระบบรางของรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนที่เน้นใช้ระบบไฟฟ้าและเอ็นจีวีต้องให้บริการเต็มระบบแล้วเท่านั้น จึงสามารถจะออกมาตรการที่กล่าวมาได้

“วันนี้ภาครัฐหรือรัฐบาลจะรอไม่ได้อีกแล้ว ต้องสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าให้มากขึ้น ควบคุมหรือขึ้นทะเบียนรถยนต์ ใครจะซื้อรถต้องมีพื้นที่จอดที่บ้าน หรือต้องสนับสนุนให้เลิกการใช้รถยนต์เก่าที่ใช้พลังงานฟอสซิลให้น้อยลง หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ที่สำคัญต้องเข้มงวดกับต้นกำเนิดมลพิษหรือควันดำจากโรงงานอุตสาหกรรม เท่านี้ก็จะแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้และไม่เกิดแรงต้านจากประชาชนหากระบบรางให้บริการเต็มระบบแล้วเท่านั้น”สนธิ กล่าว