posttoday

เปิดแผนบูรณาการน้ำป้องอุทกภัย-สกัดแล้งรอแค่รัฐลงมือ

28 ตุลาคม 2553

เปิดแผนป้องกันน้ำท่วม-ภัยแล้งระยะยาวของ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และ กรมชลประทาน แผนพร้อม-คนพร้อม รอแค่รัฐลงมือ 

เปิดแผนป้องกันน้ำท่วม-ภัยแล้งระยะยาวของ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และ กรมชลประทาน แผนพร้อม-คนพร้อม รอแค่รัฐลงมือ 

โดย...สิทธิณี ห่วงนาค

แม้วันนี้ใจกลางกรุงเทพฯ แหล่งธุรกิจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศจะพ้นห่วงปัญหาน้ำท่วมไปแล้ว หากแต่พื้นที่ชานกรุงโดยรอบ และหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคกลาง พี่น้องคนไทยยังระทมทุกข์ไม่เลิก

เปิดแผนบูรณาการน้ำป้องอุทกภัย-สกัดแล้งรอแค่รัฐลงมือ

เกิดคำถามตามมาว่า ปีหน้าพื้นที่ไหนจะรับเคราะห์ เพราะหลายพื้นที่ที่ประสบภัยในปีนี้ ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะโดนน้ำถล่ม มีทางไหนหรือไม่ที่จะป้องกันไม่ให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำอีกในปีต่อๆ ไป

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางการป้องกันปัญหาน้ำท่วมระยะยาว สามารถทำได้ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งแบบบูรณาการ

น้ำท่วมครั้งนี้ ต้องสรุปบทเรียน เพื่อวางมาตรการแก้ไขให้เป็นแผนปฏิบัติของทุกรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาไม่มีการพูดถึงกันมานานมากแล้ว
ปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากปริมาณฝนที่มีมากเกินเกณฑ์ปกติ จากผลของลานินญา บวกกับการจัดการน้ำมีปัญหา ทำให้สถานการณ์รุนแรง และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

แนวทางในการแก้ไขอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาควรประกอบด้วย

1.ขุดคลองแม่น้ำชัยนาท-ป่าสัก โดยขุดขยายเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ

2.ทำแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ซึ่งในพื้นที่ดินเปรี้ยวทุ่งรังสิตประมาณ 1.5 แสนไร่ หรือฉะเชิงเทราในพื้นที่ ส.ป.ก. 4 หมื่นไร่ มีความเหมาะสมที่จะทำได้

3.เพิ่มอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประมาณ 10 อ่าง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำให้เขื่อนและเป็นตัวช่วยสนับสนุนน้ำในภาวะแห้งแล้ง เนื่องจากพบว่า ปีนี้มีปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์เกือบ 2,000 ล้าน ลบ.ม. เป็น 2 เท่าของความจุอ่าง หากมีน้ำส่วนนี้เพิ่มจะทำให้การบริหารน้ำในพื้นที่ดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

4.ทำโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จะช่วยดูแลพื้นที่ปราจีนบุรี

5.ขุดคลองเชื่อมคลองระพีพัฒน์ไปแม่น้ำบางปะกง เนื่องจากพื้นที่บางปะกงสูงกว่า 1 เมตร ทำให้การระบายน้ำยังมีปัญหา หากมีโครงการนี้จะทำให้การระบายออกสู่คลองบางปะกงเร็วขึ้น

6.ทำโครงการขุดคลองลัดในแม่น้ำท่าจีน เพื่อลดระยะเวลาเดินทางของน้ำไปออกทะเลที่มหาชัยเร็วขึ้น

นายรอยล สำทับอีกว่า หลายครั้งที่มีปัญหาก็จะมีการยกเอาวาระน้ำท่วมมาพูด แต่ก็จบไปเมื่อสถานการณ์ผ่านไป เหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่มีการเดินหน้าต่อเพื่อป้องกันภัยในอนาคต ทำให้วันนี้จึงเห็นน้ำท่วมในบางพื้นที่ที่ไม่ควรท่วม และในหลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

ด้าน นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งในระยะยาว กรมชลประทานได้เคยศึกษาโครงการไว้และได้มีการเสนอต่อรัฐบาลเมื่อปี 2549 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งหมดจนวันนี้ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

แนวทางที่กรมชลประทานได้ทำไว้ กรณีป้องกันน้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยา

1.ขุดคลองชัยนาท-ป่าสัก เป็นคลองคู่ขนานอีก 1 เส้น เพื่อรับน้ำจากภาคเหนือ ที่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงมายังคลองรพีพัฒน์ที่ต้องขุดขยายคลองเพิ่ม ต่อเนื่องมายังคลองชายทะเล บริเวณบางพลี บางนา จะลดผลกระทบในฝั่งเจ้าพระยาตะวันออก ทำให้คลองชัยนาท-ป่าสักแห่งใหม่ เป็นคลองคู่ขนานเหมือนกับเจ้าพระยา 2 ส่งผลต่อการระบายน้ำจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะคล่องและเร็วขึ้น เป็นการลดปริมาณน้ำที่จะไหลมารวมกันลงสู่ กทม.

โครงการนี้ หากรัฐบาลไฟเขียวจะทำได้ทันที เพราะมีที่ดินของกรมชลประทานอยู่แล้วไม่ต้องเวนคืนที่ดินประชาชนเพิ่ม

2.ทำแก้มลิงตะวันออก เป็นพื้นที่ดักน้ำที่จะมาจาก อ.ท่าตะโก ตาคลี ตากฟ้า เพื่อลดปริมาณน้ำลงมาสมทบเหนือเขื่อนเจ้าพระยา แต่ต้องเป็นแก้มลิงที่มีความสามารถเก็บน้ำได้มากกว่า 30-50 ล้าน ลบ.ม. เหมือนทุ่งทะเลหลวง

3.โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะเก็บน้ำได้ประมาณพันล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จแล้ว รอแต่รัฐบาลว่าจะเดินหน้าหรือไม่

ทั้งหมดหากทำได้จะบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด ไม่ต้องขุดหรือขยายแม่น้ำท่าจีน โดยพับโครงการขุดแม่น้ำเจ้าพระยาสองที่ไจกาเคยเสนอไว้ต้องใช้งบประมาณเป็นแสนล้านบาทได้เลย เพราะทำไม่ได้ จะมีปัญหากับประชาชนจำนวนมาก

การป้องกันพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูล

1.ควรขุดเส้นทางระบายน้ำ หรือฟลัดเวย์ เป็นคลองเลี่ยงเมือง กรณีที่มีแม่น้ำผ่านเมือง ฉะนั้นใน จ.นครราชสีมา จะต้องขุด 2 คลอง เพื่อรับน้ำลงสู่แม่น้ำให้เร็วที่สุด

คลองแรก เป็นคลองเลี่ยงเมืองโคราช และคลองที่สองคือ เลี่ยงเมืองพิมาย ระบายลงสู่แม่น้ำมูล ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จุดนี้จะต้องมีแก้มลิงอีก 1 จุด หน่วงน้ำก่อนลงแม่น้ำมูล ทำ ฟลัดเวย์จากแม่น้ำมูลที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบล ราชธานี ช่วยระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ศึกษาไว้แล้ว

สุดท้ายคือการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในแม่น้ำชี-แม่น้ำลำชีรอง ที่จะไหลลงแม่น้ำมูล ที่ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร โดยขยายลำน้ำให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบ จ.ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วน จ.เชียงใหม่ ถือว่าขณะนี้มีระบบระบายน้ำที่ดีอยู่แล้ว

ที่ผ่านมา กรมชลประทานมีโครงการจะก่อสร้างเขื่อนประมาณ 3 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนลำชีบน เขื่อนโปร่งขุนเพชร เขื่อนยางนาดี แต่ทั้งหมดยังไม่ได้รับการอนุมัติ

รองอธิบดีกรมชลประทาน ทิ้งท้ายอีกว่า การรับมือและแก้ปัญหาน้ำในประเทศไทย มีการศึกษาไว้หมดแล้ว ขาดแต่การสานต่อ พอปัญหาผ่านไปคนก็ลืม เหมือนเขื่อนแก่งเสือเต้น พอน้ำยมท่วมคนก็นึกจะเอาเขื่อนแก่งเสือเต้น หลังน้ำลดรัฐบาลต้องเสียเงินช่วยเหลือ พอน้ำแล้งก็ไม่มีน้ำใช้

“วันนี้ได้บทเรียนกันเกือบทั่วประเทศ ผมก็คิดว่าถึงเวลาที่คนไทยต้องเลือกว่า จะเดินหน้ากันอย่างไรได้แล้ว”