posttoday

"โซเชียลมีเดีย" สมรภูมิการเมืองแห่งใหม่

26 พฤศจิกายน 2561

โซเชียลมีเดียกลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิสำคัญของการเมืองไทยที่กำลังเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

โซเชียลมีเดียกลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิสำคัญของการเมืองไทยที่กำลังเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

*******************************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายสถานการณ์ของโลกยุคใหม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบทบาทของ “โซเชียลมีเดีย” อันเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์แพร่ขยายอิทธิพลอย่างกว้างขวางในทุกวงการ ได้เข้ามามีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง การเมืองไทยที่กำลังเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ย่อมเลี่ยงอิทธิพลของโลกออนไลน์ไม่ได้เช่นกัน

อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่าโลกออนไลน์ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจะเข้ามามีบทบาทในการเมืองและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ปัจจุบันคนไทยใช้เฟซบุ๊กเฉลี่ยวันละ 2-3 ชั่วโมง คนไทยมีแอ็กเคาต์ของเฟซบุ๊กเกือบ 40 ล้านคน จำนวนผู้ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ของไทยเป็นรองแค่ประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมาความเห็นทางการเมืองถึงส่งผ่านทั้งสองช่องทางรวมถึงช่องทางอื่นๆ ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้งานโลกออนไลน์นั้นตอบสนองต่ออุปนิสัยเลือกเสพสื่อตรงตามที่ตัวเองคิด เพื่อยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ จนมีแนวโน้มสูงมากที่สื่อออนไลน์จะมีพลังกล่อมเกลาความคิดคนให้เชื่อและแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างสุดโต่งมากขึ้น” อานนท์ กล่าว

“โลกออนไลน์สามารถปั่นกระแสให้เกิดความชอบและความเชื่อว่าจะชนะได้ ปั่นให้ชอบคือทำให้คล้อยตามความเห็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง และเชื่อไปสุดทางว่าพรรคที่ตัวเองชอบจะได้รับชัยชนะ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา

ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กถูกนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกทางการเมือง เพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อได้ตรงเป้า ตรงจุด เอื้อประโยชน์ให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้ว และถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเลือกตั้งยุคใหม่จึงอาจจะวัดกันที่ฝีมือในการใช้โลกออนไลน์ ทำการตลาด สร้างความน่าสนใจ สร้างความได้เปรียบให้พรรคตัวเอง” อาจารย์คณะสถิติประยุกต์นิด้า กล่าว

พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการหาเสียงของพรรคการเมืองไทยในการเลือกตั้งต้นปีหน้าอย่างแน่นอน

“ตอนนี้ความสนใจเรื่องต่างๆ ของคนไทยถูกพัฒนาให้อยู่ในโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นพื้นที่หลักในการให้ข้อมูลข่าวสารกับคน แต่จะมีส่วนในการตัดสินใจในการโหวตหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมีองค์ประกอบมากมายที่จะทำให้ตัดสินใจลงคะแนนให้ใคร เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะใช้โซเชียลมีเดียหาเสียงอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของโซเชียลมีเดียก็คือ เป็นสื่อที่ใครก็สร้างขึ้นได้ สิ่งที่จะตามมาก็คือปัญหาเฟกนิวส์ หรือข่าวปลอม เพื่อโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม และกว่าเฟกนิวส์ดังกล่าวจะถูกพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องที่ถูกปั่นกระแสขึ้น เป็นเรื่องไม่จริง ก็อาจจะใช้เวลานาน จนสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับพรรคใดพรรคหนึ่งไปแล้ว” หัวหน้าภาควิชาวารสารศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

พิจิตรา ระบุเช่นกันว่า การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกากลายเป็นต้นแบบสำคัญในการคำนึงถึงขอบเขตของการใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้โลกโซเชียล เพื่อผลิตแคมเปญสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการลงคะแนนเลือกตั้ง

“ที่ผ่านมาในอเมริกามีการนำข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียมาเรียกคะแนน โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง ในประเทศไทยก็อาจจะมีพรรคการเมืองที่คำนึงถึงเรื่องนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่คนรุ่นใหม่ที่จะได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ที่น่ากังวลคืออาจจะมีการนำข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้กลุ่มนี้มาสร้างแคมเปญใส่สีใส่ไข่ สร้างข่าวปลอม เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกา ซึ่งทำให้เกิดการตัดสินใจลงคะแนนที่ผิดพลาดตามมา การกำกับดูแลให้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” พิจิตรา กล่าว