posttoday

น้ำตา"เหยื่อ"น้ำท่วม

26 ตุลาคม 2553

วิบากกรรมของยาย วิมล ทรัพย์ประเสริฐ ชาวอำเภอสามโคก ปทุมธานี ที่ต้องเผชิญสถานการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงฉายภาพความลำบากผ่านสภาพมือและเท้า ที่เปื่อยยุ่ยและซีดขาว....

วิบากกรรมของยาย วิมล ทรัพย์ประเสริฐ ชาวอำเภอสามโคก ปทุมธานี ที่ต้องเผชิญสถานการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงฉายภาพความลำบากผ่านสภาพมือและเท้า ที่เปื่อยยุ่ยและซีดขาว....

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

วิบากกรรมของยาย วิมล ทรัพย์ประเสริฐ ชาวบ้านตำบลกระแซง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งกำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในชีวิต ฉายภาพความลำบากผ่านสภาพมือและเท้า ที่เปื่อยยุ่ยและซีดขาว

น้ำตา"เหยื่อ"น้ำท่วม วิมล

“น้ำมันท่วมถึงตรงนี่” หญิงชราวัย 69 ปี ใบ้มือเทียมอกเชิงอธิบาย ก่อนจะเล่าด้วยน้ำเสียงแหบแห้งว่า อยู่อย่างนี้มานานกว่าสัปดาห์แล้ว ไปไหนมาไหนก็ลำบากเพราะต้องพายเรือตลอด ถ้าเดินด้วยเท้าคิดว่าน้ำคงจะสูงมิดหัว ที่สำคัญตอนนี้ตัวเองก็ลุยน้ำไม่ไหวแล้ว เท้าเปื่อยและเจ็บมาก

“เขาแจกอะไรเหลวๆ มาให้เราก็ไม่รู้ นึกว่าเป็นยาก็เลยเอาไปทาเท้า พอเด็กๆ มาบอกว่ามันเอาไว้ล้างมือเราก็หัวเราะ”ยายวิมลปล่อยมุขตลกที่ผู้ฟังรู้สึกสะเทือนใจ    

หญิงชราในเสื้อคอกระเช้าสีเหลืองลายดอก เล่าต่อไปว่า เคยประสบเหตุน้ำท่วมครั้งรุนแรงเมื่อปี 49 แต่ขณะนั้นระดับน้ำต่ำกว่านี้มาก มีหน่วยราชการและเอกชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือไม่ขาด อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคมีเพียงพอ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับครั้งนี้รู้สึกแตกต่างกันอย่างลิบลับ เพราะจนถึงตอนนี้ยังคงหุงหาอาหารอย่างลำบาก ยารักษาโรคก็ยังเข้ามาไม่ถึง

“ตอนนี้คนมันเครียดไปหมด กระทบกระทั่งกันหน่อยก็ฉุนเฉียว จะตีกันให้ได้” เธอ เว้นช่วงหายใจสักครู่ ก่อนจะพูดต่อว่า แรกๆ ก็ไม่เป็นอย่างนี้ แต่พอนานเข้าคนเดือดร้อนก็เริ่มพาลใส่กัน

ยายวิมลอาศัยอยู่กับหลานๆ ในบ้านพักชั้นเดียวซึ่งสร้างอยู่ต่ำถนนสายหลักที่ตัดผ่าน เมื่อระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนขึ้นสูงจนล้นตลิ่งและโถมเข้ามาในบ้านพัก จึงจำเป็นต้องยกที่นอนให้สูงขึ้นด้วยการนำโต๊ะมาซ้อนกัน

“พยายามหลบน้ำมา 2 – 3 รอบแล้ว แต่มันก็ยังสูงขึ้นอีกๆ ตอนนี้ก็ไม่อยากได้อะไร ขอแค่มีข้าวกินรอให้น้ำลดก็พอ”เธอผ่อนลมหายใจออกเบาๆ ก่อนจะเปรยในทำนองว่า จะไปน้อยใจใครได้เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ น้ำท่วมเดี๋ยวก็แห้งไป ที่กังวลคือกลัวว่ามันจะสูงขึ้นจนอยู่ไม่ได้เท่านั้น

“ใหม่ๆ มันก็พอซุกหัวนอนได้ แต่ถ้าน้ำสูงขึ้นอีกก็ไม่รู้จะทำยังไง ปล่อยไปตามยถากรรมนั่นแหละ” หญิงชรากล่าวตัดพ้อต่อโชคชะตา แต่ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งบ้านไปไหน แม้บ้างครั้งจะรู้สึกท้อก็ตาม

น้ำตา"เหยื่อ"น้ำท่วม สภาพชุมชนที่ถูกน้ำท่วม

“คิดถึงในหลวง พอหมดแรงก็จ้องดูรูปท่าน ท่านเหนื่อยกว่าเรามาก พอเห็นท่านเราก็หายท้อ มีกำลังใจ รักท่านนะ ตอนนี้ท่านป่วยก็อยากให้หาย อยากให้แข็งแรงอยู่กับเราไปตลอด”ยายวิมลกล่าวพร้อมประนมมือเหนือหัว

ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงมักจะมีการแจกเงินเพื่อชดเชยความเสียหาย ยายวิมล บอกว่าไม่อยากให้เหมือนครั้งก่อนๆ ที่แจกไม่เท่ากัน กระทั่งเป็นเหตุให้ชาวบ้านทะเลาะกันในที่สุด

“ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงแจกไม่เท่ากัน บ้านห่างกันไม่กี่หลังมีเงินตั้งแต่ 1,000 – 3,000 – 1 หมื่นบาท เจ้าหน้าที่เขาก็ถามนะว่า บ้านยายน้ำท่วมด้วยเหรอ เราก็บอกว่าท่วมทุกครั้งแหละ เขาก็อยากได้หลักฐาน เราก็ไม่รู้จะเอาอะไรให้เขาดู สภาพบ้านมันยังเป็นหลักฐานไม่ได้อีกหรือ”เธอตั้งคำถาม

ในขณะที่ผู้ประสบอุทกภัยกำลังกังวลและหดหู่ต่อชะตากรรมที่พบเจอ พรรณสิริ กุลนาถศิริ รมว.สาธารณสุข ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผลการออกหน่วยจิตแพทย์เคลื่อนที่ ตั้งแต่วันที่ 18 – 25 ต.ค. ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี เพชรบุรี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี มีผู้มาใช้บริการ 5,625 คน มีอาการเครียดวิตกกังวล 1,265 คน และมีถึง 121 คนที่มีอาการน่าเป็นห่วง จำเป็นต้องติดตามรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้