posttoday

จับตากระทรวงหมอย้อนยุค4.0 รวบอำนาจ "ข้อมูลสุขภาพ"?

24 ตุลาคม 2561

ยังมีความพยายามจาก "ฝ่ายการเมือง" ภายในกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพยายามรวบอำนาจข้อมูลด้านสุขภาพ

ยังมีความพยายามจาก "ฝ่ายการเมือง" ภายในกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพยายามรวบอำนาจข้อมูลด้านสุขภาพ

*****************************

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

จนถึงขณะนี้ยังคงมีความพยายามจาก “ฝ่ายการเมือง” ภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2556 ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็น “เคลียริงเฮาส์” หรือหน่วยงานกลางในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมด

ทุกวันนี้โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จะส่งเบิกและรับเบิกจากเคลียริงเฮาส์ โดย สปสช.ทำหน้าที่มาช้านานและได้รับการยอมรับว่ามีระบบความปลอดภัยด้านข้อมูลที่ได้มาตรฐาน ถึงขั้นได้รับรางวัลรับรองมาตรฐานศูนย์ระบบข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2552

การทำงานของ สปสช.ทำให้ประเทศไทยได้รับเสียงชื่นชมจากเวทีโลก ในฐานะแหล่งศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการด้านสารสนเทศการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ ในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยปัจจุบันข้อมูลเบิกจ่ายผู้ป่วยมากกว่า 80% ทำหน้าที่เบิกจ่ายผ่าน สปสช.

อย่างไรก็ตาม หากอำนาจในการจัดการ “เคลียริงเฮาส์” ถูกเปลี่ยนมือจาก สปสช.ไปยัง “หน่วยงานใหม่” ที่ฝ่ายการเมืองพยายามจัดตั้งขึ้น โดยให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งมี นพ.นพพร ชื่นกลิ่น เป็นผู้อำนวยการ เป็นผู้เร่งผลักดัน ย่อมสร้างความกังวลและความปั่นป่วนในระบบสุขภาพอยู่ไม่น้อย

คำถามคือ อะไรเป็นเหตุผลหรือความเหมาะสมในการดึงอำนาจกลับไปยัง สธ. ภายใต้การดำเนินการของ สวรส. และอีกคำถามที่ตามมาก็คือ หากเป็นเช่นนั้นจริง ทุกวันนี้องค์ความรู้ บุคลากร ระบบ ของราชการมีความพร้อมแล้วหรือไม่

หรือประเทศไทยจะต้องนับหนึ่งใหม่ ทั้งการหางบประมาณ กำลังคน หรือแม้แต่สถานที่ในการจัดตั้งเคลียริงเฮาส์

ขณะเดียวกัน หากจะดึงอำนาจการเบิกจ่ายเงินด้านสุขภาพกลับไป ก็เป็น สปสช.อีกที่ต้องวุ่นในการรื้อ และวางระบบของตัวเองใหม่ ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมาก รวมถึงหน่วยบริการทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ระบบบัตรทอง ดูแลผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน ก็ต้องเปลี่ยนระบบใหม่

การวางแผนบริหารจัดการเรื่องนี้ จึงไม่มีประโยชน์อะไรกับประเทศ และยังทำให้การเบิกจ่ายที่ไร้รอยต่อก่อนหน้านี้ต้องหยุดชะงักลง

มากไปกว่านั้น ยังต้องถามต่ออีกว่า หากตั้งศูนย์กลางเบิกจ่ายข้อมูลด้านสุขภาพขึ้นใหม่ ระบบจะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ การรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลเป็นอย่างไร และมีความพร้อม เชื่อมโยงกับหน่วยบริการ มีระบบตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบความถูกต้องเพื่อชดเชยค่าบริการทางการแพทย์หรือไม่

เพราะเคลียริงเฮาส์ต้องครอบคลุมทั้งงานทะเบียนสิทธิ งานขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ การโอนเบิกจ่ายชดเชยผ่านธนาคารแบบอี-เพย์เมนต์ ซึ่งถ้าหากเปลี่ยนหน่วยงานการบริหารจัดการ ข้อมูลก็จะถูกแยกส่วน ต้องส่งต่อข้ามหน่วยงาน จากหน่วยงานหนึ่งไปยังหน่วยงานหนึ่ง จนเกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

น่าสนใจว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการจะรื้อระบบเพื่อตั้งศูนย์เคลียริงเฮาส์ใหม่ คือการพัฒนาระบบ หรือแค่ความพยายามในการรวบอำนาจไว้กับตัวเอง

ขณะนี้มีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาว่าเคลียริงเฮาส์แห่งใหม่จะดึงอำนาจหน้าที่ไปเฉพาะข้อมูลผู้ป่วยบางส่วน เช่น ข้อมูลผู้ป่วยในที่ง่ายและไม่ซับซ้อน แต่ในส่วนอื่นๆ ยังให้คงไว้ที่ สปสช.เช่นเดิม ซึ่งการแยกส่วนแบบนี้จะยิ่งทำให้หน่วยบริการยุ่งยากมากขึ้นแน่นอน

ปัจจุบันระบบเคลียริงเฮาส์ที่ สปสช.ดำเนินการมาได้ถูกพัฒนาและเชื่อมต่อจนเป็นระบบไร้รอยต่อแล้ว และควรที่จะเดินไปข้างหน้าต่อ เพื่อดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศด้านสุขภาพแห่งชาติ” (National Health Information Center) ในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศต่อไป เพื่อวางแผนเป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อพัฒนาและวางแผนด้านสุขภาพในระยะยาว มากกว่าจะชะงักงัน และย้อนกลับไปเริ่มต้นจัดตั้งศูนย์เคลียริงเฮาส์ใหม่ในหน่วยงานที่ไม่มีประสบการณ์ และไม่มีความพร้อมใดๆ

การกลับไปเริ่มต้นใหม่ เท่ากับจะอยู่ในยุค 0.4 ทั้งที่ประเทศภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการพาไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0