posttoday

"เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" พลิกวงการโฆษกไม่ตอบโต้การเมือง

21 ตุลาคม 2561

"เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" ทิ้งเก้าอี้รองประธาน กสทช.สู่เวทีการเมืองในตำแหน่งกระบอกเสียงพรรคภูมิใจไทย เพื่ออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

"เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" ทิ้งเก้าอี้รองประธาน กสทช.สู่เวทีการเมืองในตำแหน่งกระบอกเสียงพรรคภูมิใจไทย เพื่ออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

*********************

โดย....ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สละเก้าอี้รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หันมาสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย (ภท.) สำหรับ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พร้อมกับตำแหน่งใหม่ในนามโฆษกพรรค

การตัดสินใจสู่เวทีการเมืองครั้งนี้ มีที่มาอย่างไร พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ได้เปิดเผยเบื้องหลังผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่า เนื่องด้วยรู้จักกับ (พี่หนู) อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มาก่อนหน้านี้ และถูกทาบทามให้เข้ามาช่วยงานการเมือง เพราะเห็นว่ามีความชำนาญด้านดิจิทัล จากนั้นจึงได้ปรึกษาเพื่อนสนิท และน้องๆ หลายคน ก่อนตัดสินใจร่วมงาน

เจ้าตัวยอมรับว่า ไม่ค่อยมีความรู้ด้านการเมืองมากเท่าไร แต่การตัดสินใจครั้งนี้เนื่องด้วยนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ค่อนข้างตรงกับความสามารถของตัวเองที่น่าจะทำงานได้ และไม่อยากไปโดยอาศัยอำนาจอยู่ก็ไม่อยากทำ เหมือนสมัยยังเป็นทหาร เมื่อตัดสินใจเป็น กสทช.ก็ลาออกจากข้าราชการมาทำ

“ผมคิดว่าวันนี้ผมคิดถูกแต่ก็กลัวใจ ผมก็เดินออกมา ไม่คิดอะไรมาก ไม่มีใครทัดทาน ทุกคนเชื่อการตัดสินใจของผม และการมาครั้งนี้ พอรู้นโยบายของพรรคบ้าง หากไม่สอดคล้องกับความเชื่อและความสามารถของเรา คงไม่ตัดสินใจร่วมงาน”

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ บอกพร้อมเสียงหัวเราะถึงการเข้ามาทางการเมืองต้องปรับตัวอยู่พอสมควร ซึ่งต่างจากสมัยยังทำงานอยู่กับ กสทช. เพราะต้องฟังนโยบายของพรรคด้วย และการได้รับตำแหน่งโฆษกพรรค ส่วนตัวยอมรับว่าช็อก แต่การเมืองไม่ใช่ต้องมาตอบโต้อย่างเดียว ซึ่งอยากมาสร้างมิติใหม่เพื่อให้ประเทศไปได้ดีกว่านี้ และเป็นนโยบายที่พรรคต้องการเปลี่ยนให้มีความทันสมัย

“การมาการเมืองผมไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย แค่เตรียมใจ ซึ่งการตัดสินใจมาก็ไม่ถึงสัปดาห์ ผมไม่เคยคิดจะมาเล่นการเมือง ถ้าไม่มีพี่หนูชวนก็ไม่มา แต่มาแล้วอยากทำให้สำเร็จ และการไม่ตอบโต้การเมือง ผมมองว่าจะเป็นการพลิกการเมืองรูปแบบใหม่”

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ บอกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า การเข้ามาการเมืองครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยมอบหมายให้ดูด้านนโยบายดิจิทัลให้เชื่อมโยงกับนโยบายอื่นๆ ของพรรค เพราะทุกอย่างต่อจากนี้ต้องผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยในอนาคตจะต้องเป็นไปในแบบออนไลน์ หรือ “Thailand Sharing University” ส่วนตัวเห็นด้วยและชอบนโยบายนี้ เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปมากอยากให้คนได้เรียนหนังสือ

“คนไม่ต้องมาโรงเรียนทุกวัน มาครึ่งหนึ่งแล้วมาทำเวิร์กช็อปที่โรงเรียน และไปเรียนทฤษฎี เรียนกับอาจารย์บ้าง แต่สุดท้ายคนมันต้องอยู่กับชุมชน คือ ไม่ใช่เข้าเมืองมาหมดแล้วปล่อยให้คนแก่นอนหรือเลี้ยงหลานอยู่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องจริงในต่างประเทศที่เขาทำกัน

ซึ่งบ้านเราก็จะเป็นอย่างนั้นในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ผมศึกษาตัวเลขเหล่านี้มาตลอด ในอดีต 7.5 คน เสียภาษีเพื่อดูแลคนแก่ 1 คน เมื่อประมาณ 10 ที่แล้ว แต่ปัจจุบันเหลือ 5 คน เสียภาษีเพื่อเอาเงินมาดูแลสวัสดิการคนแก่ 1 คน อีก 10 ปี เหลือคนเสียภาษี 2.5 คน มาดูแลคนแก่ 1 คน มันจะใหญ่มากปัญหานี้”

"เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" พลิกวงการโฆษกไม่ตอบโต้การเมือง

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ยืนยันหนักแน่นว่า เมื่อมาอยู่จุดนี้แล้วอยากนำแนวคิดสมัยดำรงตำแหน่งใน กสทช. มาผลักดันให้เป็นนโยบาย “Thailand Sharing University” และมีอีกอย่างซึ่งพรรคคิดไว้เหมือนกัน คือ Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน ความหมาย คือ สามารถเอาทรัพย์ตัวเอง อย่าง รถ บ้าน ทำเป็น Homestay ได้

“ทำไมต้องสร้างเป็นโรงแรมใหญ่ๆ ในชุมชน และให้เขาเป็นลูกจ้าง ทำไมไม่ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ดูแลชุมชนกันเอง แล้วสร้างเป็นระบบเศรษฐกิจชุมชนได้ ซึ่งผมก็สนใจ อีกทั้งคนยังได้เรียนหนังสือด้วย ทำงานในชุมชน สร้างงานให้เกิดขึ้น มีที่ท่องเที่ยว เป็นการท่องเที่ยวทันสมัย แต่ต้องเก็บภาษีให้ได้

เราอาจสร้างสร้างแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นของเมือง ให้คนได้เจอกันแล้วมาหางานทำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ ต่างประเทศก็ทำ และเป็นนโยบายระดับชาติ แต่ที่ผ่านมา เรายังไปกลัวคนทำงานอยู่แบบเดิม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จริง เพราะช่วยให้คนเดิมทำงานแบบเดิม มีรายได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ”

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ขยายความแนวคิดนี้เนื่องด้วยอนุทินไม่ต้องการให้คนหนีจากชุมชน แต่ต้องการให้คนไปเที่ยวชุมชน กลับกลายไม่มีคนมาทำงานในเมืองต่างจังหวัด แถมไปส่งเสริมให้เมืองใหญ่เกิดอุตสาหกรรมไม่กี่จังหวัด สรุปคือต้องเอาคนกลับไปอยู่ในชุมชนให้ได้ และเรียนหนังสือ มหาวิทยาลัยเองต้องเปลี่ยนไป สามารถเรียนทางออนไลน์ได้ เป็นคอนเซ็ปต์ที่เห็นด้วยและสากลอยู่แล้ว หากหยุดตรงนี้ คงไปเป็นอาจารย์หรือแค่ที่ปรึกษาบริษัทเท่านั้น

สำหรับโครงสร้างต่างๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตนั้น จากตัวเลขที่มีอยู่พบว่า ประชากร 98% เข้าถึงสมาร์ทโฟน และตอนนี้มีเงิน กสทช.ประมูลไป เข้ากระทรวงการคลัง แล้วเจียดออกมาในโครงการสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้าน โรงเรียน ถ้าตรงนี้ไปถึงทุกอย่างจะเปลี่ยน

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มองถึงคลื่น 5จี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยคาดว่าจะมีการประมูลไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าตามที่วางโรดแมปไว้ ซึ่งประเด็นนี้ทุกประเทศต้องปรับตัว เพราะระบบนี้จะเชื่อมกับระบบเซ็นเซอร์ ระบบตรวจจับ ระบบควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ประชาชนมีอินเทอร์เน็ตเร็วๆ ใช้ มันสามารถควบคุมการผลิต เช่น หุ่นยนต์จากระยะไกลได้

“จากนี้วิศวกรไม่จำเป็นต้องไปนั่งในโรงงานเหมือนเมื่อก่อน อาจจะคุม 3 โรงงานคราวเดียว หรือแค่นั่งอยู่ที่บ้านควบคุมงานผ่านแท็บเล็ต แล้วโรงงานสามารถเชื่อมกับโรงงานต่างประเทศได้ โรงงานจะผลิตสินค้าอัตโนมัติ และคนไปทำงานกับหุ่นยนต์ คนไม่ได้หายไป

ประเด็นไม่ใช่คนตกงาน แต่ถ้าเราไม่พัฒนาคนเพื่อไปทำงานกับหุ่นยนต์ ก็ทำงานไม่ได้ ถ้าวันนี้เตรียมพร้อม จึงได้กลับมาตอบโจทย์ที่ว่า Thailand Sharing University คือ สร้างทักษะ ความรู้ใหม่ๆ ให้คนเตรียมต่อไปในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพราะระบบพวกนี้เราปฏิเสธไม่ได้”

"เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" พลิกวงการโฆษกไม่ตอบโต้การเมือง

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ฉายภาพให้เห็นว่า วิชาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม แม้กระทั่งสื่อ เมื่อระบบ 5จี มา โรงงานจะค่อยอัพเกรด โรงงานยังต้องการคน แต่ต้องเป็นคนที่มีทักษะสอดคล้องกับงานรูปแบบใหม่ รองลงมา เป็นพลังงาน และการทำธุรกรรมทางการเงิน ส่วนเรื่องการแพทย์อาจมีผลนานนิดหนึ่งหลังจาก 5จี เกิด หมออาจต้องเปลี่ยนวิธีการรักษา ปรึกษาหมอทางไกล วัดการเต้นหัวใจผ่าน 5จี ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลเหมือนเมื่อก่อน

สำหรับการศึกษาต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เด็กๆ อยู่ในห้องอ่านหนังสือ เด็กสมัยใหม่เรียนผ่านออนไลน์ ยูทูบ หลักสูตร วิธีการเรียน การสอน การสอบ เช่น สิงคโปร์ มีการเปลี่ยนระบบเป็นที่เรียบร้อย ต่างจากของไทยยังต้องท่อง แต่ “Thailand Sharing University” เป็นการเรียนฟรี เพราะสามารถเข้าถึงเนื้อหาดีๆ

ขณะเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมาเรียน ทำงานก็เรียนได้ โอนหน่วยกิตก็สามารถจบได้ ซึ่งในความเป็นจริงอยากให้คนเรียนฟรีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย หรือจบปริญญาเอก แต่เด็กๆ ยังต้องเรียนที่โรงเรียน เพียงบางวิชาอาจขอเรียนทางออนไลน์ ถ้าเรียนประสบความสำเร็จก็นับให้ ไม่จำเป็นต้องมาโรงเรียน ในอนาคตการเรียนไม่ใช่มานั่งขังในห้อง 7 ชั่วโมง เหมือนสมัยก่อน

นโยบายนี้นอกจากจะเชื่อมในเรื่องการศึกษา ยังไปถึงอาชีพใหม่ๆ รวมไปถึงข้อมูลภาคประชาชนเกี่ยวกับระบบ อาทิ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คนติดหนี้ เรียนหนังสือเสียเงิน จะดูข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มนี้ว่ามีปัญหาตรงไหน จะยกหนี้ได้หรือไม่ ถ้าเรียนดีก็ยกให้เลย แต่ไม่ใช่ยกให้หมด ต้องมีอะไรมาแลกเปลี่ยน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษามาคิดเรื่องนี้เพื่อให้มีโอกาส

นอกจากนี้ ค้าปลีกยังได้รับผลจากเรื่องนี้ไปอัตโนมัติ โลกจะเปลี่ยนไปคล้ายช็อปปิ้งออนไลน์ ห้างสรรพสินค้ายังคงอยู่ เพียงแต่รูปแบบการให้บริการเปลี่ยนไปจากเดิม กลายเป็นคอมมูนิตี้ โชว์รูม สมมติจะซื้อของให้ทดลองตัวอย่าง จากนั้นสแกนแล้วส่งไปบ้าน เก็บเงินผ่านระบบ ไม่ต้องชำระเงินสด ซึ่งจากนี้จะไปสู่จุดนั้น แต่ไม่ใช่จะหายไปเลย คนอาจต้องไปทำอย่างอื่น ดังนั้น คนจำเป็นต้องอบรมอะไรใหม่ๆ มากขึ้นในคอร์สสั้นๆ เพื่อปรับตัว

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ให้ข้อคิดถึงคนรุ่นใหม่ที่จะมาเล่นการเมืองว่า “ส่วนใหญ่มักมองคนที่เข้ามาการเมืองเป็นเรื่องไม่ดี แต่ส่วนตัวไม่คิดแบบนั้น เพราะไม่มีอะไร มาทำงานโดยเอาความรู้มาทำ และการไม่รู้การเมืองบางอย่างมันก็ดี มาทำนโยบายให้ดี”