posttoday

"เราจะเป็นเรือแจว ส่งคนสู่เกาะแห่งความสามัคคี"เปิดใจ "จตุพร-ยงยุทธ"

14 ตุลาคม 2561

จตุพร พรหมพันธุ์ และ ยงยุทธ ติยะไพรัช เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ถึงภารกิจการเมืองครั้งใหม่ที่ไม่ใช่สถานะ “นักการเมือง” ​แต่เป็น “ภารโรง” และ “กองเชียร์”

จตุพร พรหมพันธุ์ และ ยงยุทธ ติยะไพรัช เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ถึงภารกิจการเมืองครั้งใหม่ที่ไม่ใช่สถานะ “นักการเมือง” ​แต่เป็น “ภารโรง” และ “กองเชียร์”

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินร่วมกันตี” กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง ในวันที่กระแส “ยุบพรรค” เริ่มย้อนกลับมาหลอกหลอนพรรคเพื่อไทย คู่ขนานไปกับ “พรรคสาขา” และ “พรรคสำรอง” ที่เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง

การเปิดตัวแบบไม่เป็นทางการของ “พรรคเพื่อชาติ” กำลังถูกจับจ้องด้วยเป้าหมายเป็นพื้นที่ “กลาง” ดึงคนที่มีความคิดความเห็นจากทุกฝ่ายให้มาร่วมทำงานเพื่อประเทศ โดยมีคีย์แมนคนสำคัญอย่าง ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นผู้ประสานงาน

ท่ามกลางความคลุมเครือ ยงยุทธ-จตุพร ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ กับภารกิจการเมืองครั้งใหม่ซึ่งไม่ใช่สถานะ “นักการเมือง” ​แต่ด้วยสถานะที่ทั้งคู่นิยามตัวเองว่าเป็น “ภารโรง” และ “กองเชียร์”

ยงยุทธ เท้าความถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ว่า ตอนไปเยี่ยม จตุพร ที่เรือนจำก็ถามว่าอยู่ในนั้นชกกับใครบ้างไหม เขาบอกว่าไม่มี คุยกันดี ทำให้ได้ข้อสรุปว่าใน “ปัญหาเดียวกัน” แต่ละคนยืนอยู่คนละมุม พอได้คุยกันแล้วก็เข้าใจกัน แต่ที่ผ่านมาไม่เข้าใจเพราะไม่เคยได้คุยกัน มีจุดยืนคนละที่

อย่างไรก็ตาม หลังจาก จตุพร ออกจากเรือนจำ ก็ได้พูดคุยกัน ถามว่าเราน่าจะมีกิจกรรมที่ทำเพื่อสาธารณะ ช่วงนั้นเขารณรงค์เรื่องตั้งพรรค เราเห็นชื่อพรรคเพื่อชาติ Nation Building ซึ่งเริ่มตั้งมาตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว ก็เห็นเป็นชื่อที่ดี และทั้งเขาและจตุพรต่างคนต่างมีเพื่อนเยอะ น่าจะชวนกันมาอยู่ตรงนี้

ตอนนั้นคิดว่า ทำไมพวกที่ชอบการเมืองแต่ละสีเสื้อไม่มาอยู่เกาะกลางตรงนี้ เพื่อทำงานเป็นความหวังประชาชน ที่ผ่านมาเขาหาว่านักการเมืองแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้สักเรื่อง แต่วันนี้เราจะทำเป็นตัวอย่าง ไม่ต้องรอให้ทหารเอาปืนมาจี้ ไม่ต้องชนะเลือกตั้ง เพราะแค่เริ่มต้นก็อยู่ด้วยกันได้แล้ว บ้านเมืองสงบสุข

“ผมคุยกับพี่ตู่บอกผมแก่แล้ว ถ้ามีโอกาสเป็นผู้แทนก็ไม่เอา หรือจะไปลงเลือกตั้งหวังเป็นรัฐมนตรีก็ไม่เอา เราจะเป็นเรือแจวส่งคนขึ้นเกาะแห่งความสุข เกาะแห่งความสามัคคี เกาะแห่งความฝัน เพื่อสร้างบ้านเมือง”ยงยุทธ กล่าว

ยงยุทธ กล่าวอีกว่า จากนั้นก็ไปคุยกับคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อชาติ และ จตุพร ก็เริ่มชักชวนคนไปอยู่พรรคนี้ แต่เนื่องจากข้อห้ามของกฎหมายไม่ให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคไปยุ่งเกี่ยว อันอาจเป็นเงื่อนไขให้ถูกยุบพรรค เราก็ทำได้ตามแนวนี้ ส่วนคนที่ฟังการให้สัมภาษณ์ก็จะรู้สึกรำคาญว่าเรากั๊กหรือพูดได้ไม่สุด แต่หากถึงวันเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ก็จะมีคนใหม่ๆ หลากหลายความคิด หลายกลุ่มอาชีพเข้าไปอยู่ในนั้น

จตุพร อธิบายถึงแนวคิดว่า จากรูปแบบเลือกตั้งแบบบัตรเดียวที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คิดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเล่นตามแบบให้ได้ จะเห็นว่ากำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เล่นตามแบบ จึงวางคนของตัวเองไว้ 5 พรรคการเมือง เพราะฉะนั้นหลักคิดของพรรคเพื่อชาติ จึงจะส่งผู้สมัครครบ 350 เขต

“เขตไหน ผู้สมัครมีศักยภาพก็สู้เต็มที่ เขตไหนสู้ไม่ได้ก็สู้เต็มกำลัง เพราะว่าเป้าหมายของเราไม่ใช่พรรคขนาดใหญ่ คิดบนหลักคิดว่าได้หนึ่งคะแนน ทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศไทยก็ได้ผู้สมัคร 1 คนแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีความกดดัน เพราะฉะนั้นเมื่อวางคอนเซ็ปต์เราจะทำเพื่อชาติ ในฐานะกองเชียร์พรรคนี้จะดำเนินการทางการเมืองแบบสบายไม่กดดัน”

จตุพร กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัว ประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้อธิบายถึงคำว่า “ชนะแต่ปกครองไม่ได้” เกิดความวุ่นวายทางการเมืองไม่เคยหยุด มีการยึดอำนาจสองครั้ง ประเทศอยู่ท่ามกลางความบอบช้ำรุนแรง เพราะฉะนั้นเราก็จะทำการเมืองโดยการออกแบบการเมือง ชวนให้ทุกฝ่ายคุยกัน หาทางออกและพาประเทศ พ้นจากวิกฤต นี่เป็นความตั้งใจ ส่วนแนวทางพรรคเพื่อชาติจะมีนโยบายอย่างไร ในส่วนของพรรคก็จะแถลงต่อไป

ถามว่า เสื้อแดงบางส่วนยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย การแยกออกมาตั้งพรรคสะท้อนภาพแตกแยกภายใน นปช.หรือไม่ จตุพร กล่าวว่า คนที่อยู่เวทีเดียวกับคุณสุเทพ แยกไป 5 พรรคการเมืองก็ไม่เคยได้ยินว่าเขาทะเลาะกัน หรือแตกแยกกัน เมื่อคนใน นปช.ซึ่งไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองเอง ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือเพื่อชาติคนที่มีพื้นที่อยู่แล้วในเพื่อไทย ก็ไม่ต้องมา เหมือนกับคนที่อยู่เวทีเดียวกับคุณสุเทพ ในพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไม่มีพื้นที่และเป็นคนที่มีศักยภาพ และต้องการทำงานการเมืองยึดแนวทางประชาธิปไตยไม่ว่าใครก็มาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อแดง ประตูพรรคเพื่อชาติเปิดกว้าง นปช.ก็ยังอยู่ตรงกลาง คิดแบบนี้ไม่ใช่ความแตกแยกแต่เป็นการทำตามบริบทของรัฐธรรมนูญ

ยงยุทธ เสริมว่า “ยืนยันว่าไม่ใช่การฮั้วนะ พรรคอื่นก็มาได้ พรรคอื่นที่ไม่มีที่ยืนก็มาที่นี่ได้”

จตุพร กล่าวว่า ไม่ใช่การแยกกันเดินร่วมกันตี แต่กรอบรัฐธรรมนูญมันออกแบบมา คือ “รวมกันแพ้ แยกกันชนะ” กำนันสุเทพเลยแยกไป 5 พรรค ส่วนเรานั้นมาทีหลัง ดังนั้นบรรดาคนอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย ต่อสู้มายาวนาน แต่ละฝ่ายมีจุดยืนเรื่องประชาธิปไตย ตรงนี้เปิดกว้าง ไม่จำเป็นต้องสีใดสีหนึ่ง

“อีกทั้งไม่ใช่นอมินีใคร เวลาแข่งขันกันก็แข่งจริงๆ เป็นนอมินีกันไม่ได้อยู่แล้ว ส่ง 350 เขต ทุกพรรค ผมเชื่อว่า 5 พรรค จากฝั่งสุเทพ ก็เป็นนอมินีให้กันไม่ได้ เข้าสนามการแข่งขันต่างคนต่างทำหน้าที่ เมื่อวานยกตัวอย่างเลือก สว.เมืองชล แบ่งอำเภอนั้นเลือกคนนี้ อำเภอนั้นเลือกคนนี้ กกต.แจกใบเหลืองหมด ถ้าเราส่งไม่ครบเจอแน่ ข้อหาฮั้วสุดท้ายก็ไปกันทุกพรรค เพราะฉะนั้นเราส่งครบเต็มตามกฎหมายทุกประการ”

อย่างไรก็ตาม สถานะเวลานี้ส่วนตัวหากเข้าไปในสนามฟุตบอลก็เป็นผู้เล่นไม่ได้ แต่จะเป็นกองเชียร์ อาจเป็นกองเชียร์ที่เสียงดัง แต่ก็เป็นกองเชียร์ที่อยู่บนอัฒจันทร์ อยู่ในบทนี้ คอยดูว่าสิ่งที่พรรคเพื่อชาติเขาคิดว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย รวมทั้งฟังความเห็นจากประชาชนมาเสนอต่อพรรคเพื่อชาติ

ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนตัวจะทำหน้าที่เป็น “ภารโรง” แล้วแต่เขาใช้ ใช้มาก็ทำให้ ไม่ใช้ก็นั่งรอ เป็นกองเชียร์ จุดขายที่สำคัญคือหนึ่งการสร้างพื้นที่ให้คนทุกฝ่ายที่ขัดแย้ง อยู่คนละฝ่าย สามารถมายืนอยู่ร่วมกัน สองพลังชาติที่หายไปสิบกว่าปี นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ พ่อค้า อยู่ฝั่งเสื้อแดงก็ไม่อยากไปฝั่งเสื้อเหลือง อยู่ฝั่งเสื้อเหลืองก็ไม่อยากไปฝั่งเสื้อแดง รัฐบาลจะตั้งใครก็ไม่ได้ตั้งจากวิชาชีพ หรือความรู้ ความสามารถ แต่เอาคนไว้ใจได้เพราะเป็นความมั่นคงทางการมือง

“แต่ถ้าทุกฝ่ายมีความรัก เข้าใจ และความเชื่อมั่น ก็จะสามารถรับกันมาทำงานได้ ทำให้แข็งแรง เขมรเองจะมีรถไฟฟ้า ตึกสูงสุดในอาเซียน เพราะมีความเห็นต่างกันได้ แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ บ้านเราเห็นต่างป็นศัตรูกันเลย ต้องสร้างวัฒนธรรม สร้างพื้นที่ให้คนอยู่ร่วมกันได้ สร้างโอกาสให้คนมาอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เลิกวัฒนธรรมแห่งความอิจฉาริษยา คิดแต่เรื่องตัวเองมันยากหมด แต่ถ้าคิดถึงส่วนรวมอะไรก็ง่าย”

จตุพร เสริมว่า พรรคเพื่อชาติจะเป็นพรรคที่รวมความแตกต่าง คนคิดต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ ที่ผ่านมาใครคิดต่างเป็นศัตรูกัน เลยนำไปสู่ความล้าหลังของชาติ เพราะเราไม่แยก ประชาธิปไตยนั้นความสวยงามอยู่ที่ความแตกต่าง สิบกว่าปีที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยมีความล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ทั้งที่เราอยู่ในแถวหน้าแล้ว

“พรรคการเมืองควรจะเป็นพื้นที่รวมของคนที่มีความเห็นที่แตกต่างกันและมาหาจุดร่วมกัน อะไรที่เป็นไปได้ การเปิดประตูให้กับคนต่างพรรคได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ พรรคการเมืองมาพูดคุยกัน ผู้มีอำนาจพูดคุยกัน กำหนดกติกาเป็นสัญญาประชาคม ไม่ว่าเราจะแพ้หรือชนะก็อยู่ร่วมกันได้ เราต้องเริ่มเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรค”

จตุพร กล่าวเสริมว่า รอบสิบปีที่ผ่านมากลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างกันนั้น ในอดีตก็คือคนที่เคยเห็นด้วยกันในปี 2535 แทบทั้งสิ้น แต่ว่าสิบปีนี้แยกไปคนละทิศละทาง ในสังคมไทยชวนให้คนดีกันเป็นเรื่องยาก แต่ชวนให้คนทะเลาะกันเป็นเรื่องง่าย เพราะฉะนั้นต้องมีพรรคการเมืองหนึ่งเปิดประตูภายใต้หลักการประชาธิปไตยอยู่ด้วยกันท่ามกลางความแตกต่าง

“เรายื่นให้เขาจับ ส่วนใครจะมายื่นมือจับด้วยเป็นเรื่องอนาคต เราต้องเริ่มต้นจากตัวเราต้องเป็นผู้ยื่นมือให้” จตุพร กล่าว

จตุพร กล่าวว่า เนื่องจากพรรคเพิ่งเป็นที่รับรู้ไม่ถึงสัปดาห์ เชื่อว่าอีกสักระยะหลังทอดไมตรีก็จะมีคนที่เห็นตรงกันยื่นมือมา เราวางหลักการเรื่องประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง แต่หากบางทีเป็นนักประชาธิปไตย แต่ชอบปิดประตูใส่คนอื่นมันก็เริ่มต้นไม่ได้ ซึ่งคุณจะเป็นใครมาก็ตาม หากยึดมั่นแนวทางประชาธิปไตยก็เป็นมิตรร่วมทางกันได้

ถามว่า หลายพรรคที่ตั้งขึ้นมาก็ชูเรื่องปรองดอง พรรคเพื่อชาติจะมีอะไรพิเศษ ยงยุทธ กล่าวว่า ความต่างที่ชัดเจน คือ เมื่อคุณไปอยู่ฟากใดฟากหนึ่งก็เป็นกลางไม่ได้ แต่ฟากนี้เป็นกลาง การจะเป็นกลางได้ต้องมายืนอยู่ตรงกลาง และทอดไมตรีเหมือนที่จตุพรพูด ต้องยื่นแขนให้เขา ใครจะมาไม่มาเราก็รอจนมือล้าก็ไม่เป็นไร

จตุพร กล่าวเสริมว่า ต้องเป็นแนวประชาธิปไตยที่ไม่ปิดกั้น ที่ผ่านมาประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ ใครเชื่อมุมไหนก็อธิบายมุมนั้น แต่ถ้าประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เชื่อว่าทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้กฎเกณฑ์ประชาธิปไตย พรรคเพื่อชาติเมื่อเปิดประตูให้กับทุกฝ่ายที่มีความศรัทธาประชาธิปไตยไม่ว่าคุณจะเคยเป็นใครก็ตาม เราไม่สนอดีต สนใจปัจจุบันยึดแนวทางประชาธิปไตย เราจะเดินหน้าไปได้

ถามว่า พรรคเพื่อชาติจะประกาศจุดยืนทางการเมืองร่วมรัฐบาลกับพรรคไหน ไม่ร่วมกับพรรคไหนบ้าง ยงยุทธ กล่าวว่า เราคุยกันก่อนแล้วว่า เราไม่ต้องรีบบอกว่าจะได้ 50 เสียง 100 เสียง ต้องเป็นรัฐบาล หรืออะไร แค่มีเจตนามายืนอยู่ร่วมกัน ด้วยความหลากหลายของคนก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

“ส่วนผลคะแนนจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะเป็นคนตัดสินในอนาคต เมื่อถึงเวลาประชาชนไว้ใจให้เป็นอะไร แค่พรรคไม้ประดับในสภาหรืออะไรก็ว่าไป เราก็ค่อยพัฒนา ถ้าจะเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลก็ต้องเตรียมความพร้อม” ยงยุทธ กล่าว

จะสามารถประกาศเลยไหมไม่ร่วมรัฐบาลกับฝั่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จตุพร กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบ ประชาชนจะเป็นผู้กำหนด พรรควางหลักการประชาธิปไตยอยู่แล้ว ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดเองว่าให้พรรคเพื่อชาติไปในทิศทางใด

ถามว่า ผู้นำของพรรคเพื่อชาติจะต้องมีลักษณะอย่างไร จตุพร กล่าวว่า เป็นมิตรกับทุกฝ่ายไม่ใช่มาถึงชี้หน้าด่ากัน เพราะต้องสร้างบรรยากาศปรองดอง และต้องเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังความคิดเห็นประชาชน ไม่ใช่คนประเภท “น้ำเต็มแก้ว” หากชำนาญเรื่องเศรษฐกิจยิ่งดีใหญ่ มีความคิดเรื่องประชาธิปไตยกินได้