posttoday

ขึ้นภาษีบุหรี่ดีต่อประเทศ! อุปสรรคอยู่ที่บริษัทต่างชาติ

08 ตุลาคม 2561

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ชี้ขึ้นภาษีบุหรี่ช่วยทำให้จำนวนนักสูบลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ชี้ขึ้นภาษีบุหรี่ช่วยทำให้จำนวนนักสูบลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

***********************************

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

พิษภัยจากการสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้หลายชนิด ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังต้องจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ ยารักษาด้วยอีกทาง จึงเป็นที่มาของหนทางในการช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้น้อยลง

ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้มาตรการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการรณรงค์ให้ความรู้กับเยาวชน ครอบครัว มาตรการห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามโฆษณา ไปจนถึงความพยายามทำให้นักสูบในปัจจุบันหาซื้อบุหรี่ได้ยากลำบากมากขึ้น นั่นคือการเพิ่มภาษีบุหรี่ซองละ 2 บาท ผลการสำรวจของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบว่าปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้น สามารถทำให้จำนวนนักสูบลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังเป็นการช่วยระดมเงินเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้อีกด้วย

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า การยกร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากการขึ้นภาษีบุหรี่ช่วยลดจำนวนนักสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะเยาวชนจะมีกำลังซื้อบุหรี่มาสูบไม่พอ รวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานที่ยอมลด ละ เลิกไปเอง เพราะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน

ทั้งนี้ ในต่างประเทศใช้มาตรการแก้ปัญหาบุหรี่โดยขึ้นภาษีทุกปี เรียกว่ามาตรการ “ทริปเปิลวินส์” คือ 1.ลดจำนวนผู้สูบลงได้ 2.รัฐได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น และ 3.รัฐไม่ต้องจ่ายเงินในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งตามหลักการแล้วต้องขึ้นภาษีให้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อแต่ละปี ฉะนั้นหลายประเทศอย่าง ออสเตรเลีย อังกฤษ จึงได้ปรับภาษีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นที่มาของการใช้เรื่องภาษีเพื่อควบคุมยาสูบ และที่ผ่านมาประเทศไทยมีการขึ้นภาษีมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปี 2560 ขึ้นภาษีมาแล้วจำนวน 12 ครั้ง รวมกับมาตรการณรรงค์ต่างๆ จึงทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงได้แล้ว 7 ล้านคน

“แต่ละปีมีการจำหน่ายบุหรี่ประมาณ 2,000 ล้านซอง หากเก็บภาษีเพิ่มอีกซองละ 2 บาท จะได้เงิน 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินกองทุนบัตรทองที่ต้องใช้เงินจำนวนกว่า 1.4 แสนล้านบาท จึงยังถือว่าเป็นเงินจำนวนเล็กน้อยมาก ก่อนหน้านี้ทุกรัฐบาลยังไม่ค่อยเห็นถึงปัญหา แต่เมื่อมีหลักประกันสุขภาพทำให้รัฐบาลเริ่มรู้สึกว่า เวลาคนป่วยด้วยโรคที่เกิดจากบุหรี่ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายแพง สะท้อนให้ต้องรีบควบคุมปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค เพราะยาสูบทำคนตายปีละ 5 หมื่นคน แต่ต้องนอนพักรักษาตัวเฉลี่ยรายละ 3 ปีก่อนเสียชีวิต ต้องใช้เงินประกันสุขภาพไปรักษา ทำให้รัฐเสียเงินจำนวนมหาศาล” นพ.ประกิต กล่าว

นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ถึงกระนั้นความพยายามแก้ปัญหาบุหรี่ยังคงมีอุปสรรคที่ต้องค่อยๆ แก้ไปทีละขั้น เช่น ทุกครั้งที่มีการเพิ่มภาษีจะทำให้บริษัทผู้ผลิตทำสินค้าชนิดใหม่ออกมาในราคาถูกกว่า เป็นการชดเชยตัวสินค้าที่ราคาสูงขึ้น จึงสะท้อนว่าเรื่องระบบภาษียังมีจุดอ่อน เพราะภาษีที่ดีต้องไม่ทำให้ราคาแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ซึ่งแก้ได้โดยเก็บภาษีตามจำนวนมวนจากผลสำรวจพบว่า ผู้สูบในแต่ละวันจะสูบเฉลี่ย 10 มวน ขณะที่ยาเส้นราคาซองละ 10 บาท นำมาสูบจะได้ประมาณ 20 มวน แต่กฎหมายยังไม่มีการเก็บภาษีในส่วนของยาเส้น ดังนั้นต้องทำให้ราคายาเส้นไม่แตกต่างจากบุหรี่มากเกินไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้นเฉลี่ย 2 แสนคน/ปี ทว่าจำนวนผู้เลิกสูบและผู้เสียชีวิต รวมทั้งสิ้นลดลงจาก 12 ล้านคน เหลือ 10 ล้านคน โดยปัจจัยที่ยังทำให้มีนักสูบหน้าใหม่อยู่ คือ บุหรี่บางยี่ห้อราคาถูก ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ยังคงสูบเป็นจำนวนมาก ทำให้เยาวชนเลียนแบบ และอีกปัจจัยคือประเทศไทยมีร้านจำหน่ายบุหรี่ต่อประชากรสูงที่สุดในอาเซียน ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายเกินไป เป็นเพราะใบอนุญาตจำหน่ายราคาถูกเพียง 100 บาท แตกต่างจากประเทศสิงคโปร์ที่ใบอนุญาตจำหน่ายราคา 1 หมื่นบาท ถ้าประเทศไทยขึ้นราคาใบอนุญาตเกินกว่า 1,000 บาท ก็จะทำให้ร้านโชห่วยจำใจต้องเลิกขาย

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงงานยาสูบคัดค้านการขึ้นราคาใบอนุญาต เนื่องจากร้านค้าโชห่วยมีมากถึง 8 แสนร้านค้าขายปลีก โดยร้านโชห่วยขายบุหรี่ได้วันละ 8-10 ซอง ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตยาสูบจึงวิ่งเต้นไม่ให้ขึ้นค่าใบอนุญาต จึงเป็นความยากของการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลง ถ้าเทียบกับประเทศบรูไน กำหนดให้รัศมี 1 ไมล์ อนุญาตให้มีร้านจำหน่ายบุหรี่เพียงร้านเดียว จึงทำให้คนเลิกสูบเพราะสร้างความยากลำบากในการหาซื้อแต่ละครั้ง

นพ.ประกิต กล่าวว่า เคยพบกับอุปสรรคเรื่องการห้ามใส่กลิ่นเมนทอลลงในยาสูบ แต่สุดท้ายบริษัทผลิตยาสูบก็เข้ามาขัดขวางอีก จึงทำให้ทุกวันนี้ยังคงมีการจำหน่ายบุหรี่กลิ่นเมนทอล จากนั้นนายทุนบริษัทผู้ผลิตพยายามยื่นฟ้องร้องว่าประเทศไทยละเมิดเครื่องหมายการค้า วิ่งเต้นทุกทางเพื่อขัดขวาง แม้ศาลจะพิพากษาให้บริษัทผลิตยาสูบเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่สามารถทำให้การรณรงค์เลิกบุหรี่หยุดชะงักลงได้อย่างน้อย 5 ปี ซึ่งระหว่างนั้นสามารถจำหน่ายบุหรี่ได้เงินกำไรมหาศาลไปนานแล้ว

ดังนั้น รัฐบาลทุกสมัยต้องมีความมุ่งมั่นทำให้คนเลิกบุหรี่ให้ได้ อีกทั้งหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมมือด้วย เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในโรงเรียน แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการไม่เคยเข้ามาช่วย เพราะมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง หรือแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ คิดว่าเรื่องบุหรี่เป็นงานของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

“ภาพรวมของเงินภาษีที่เก็บได้นั้น ยังไม่พอต่อค่ารักษาพยาบาลที่รัฐต้องจ่าย ฉะนั้นบางประเทศที่การเมืองเข้มแข็งจะควบคุมเรื่องนี้ได้ดี แต่นักการเมืองไทยบางคนที่เคยมาเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ไม่เคยเข้าร่วมประชุมนโยบายยาสูบเลยสักครั้ง เพราะตัวเขาเองยังสูบบุหรี่อยู่ ดังนั้นสิ่งที่มูลนิธิฯ ต้องพยายามทำต่อไป คือ ผลักดันให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่ เพราะรู้มาจากเอกสารลับของบริษัทผลิตบุหรี่ พบว่าเรื่องของการขึ้นภาษีได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมาก จึงเป็นหนทางที่จะป้องกันไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำร้ายประเทศไทยได้อีกต่อไป” นพ.ประกิต กล่าว