posttoday

มูลนิธิหอศิลปฯต่ออายุ ระดมเงินบริจาคหาค่าน้ำ-ไฟ

03 ตุลาคม 2561

ปัจจุบัน"หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" กำลังประสบปัญหารายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ไม่มีเงินไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ จำนวน 9 ล้านบาท

ปัจจุบัน"หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" กำลังประสบปัญหารายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ไม่มีเงินไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ จำนวน 9 ล้านบาท

*******************

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

นับได้ว่า “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ถือเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่แสดงออกทางภูมิปัญญา จิตวิญญาณ ที่ช่วยหล่อหลอมให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์ โดยจุดกำเนิดของหอศิลปฯ เกิดมาจากความตั้งใจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับเครือข่ายศิลปินจำนวนไม่น้อย ต้องการให้มีพื้นที่แสดงผลงานด้านงานศิลปะทุกแขนง อาทิ ภาพถ่าย รูปปั้น ไปจนถึงบทกวี เพราะศิลปะเกี่ยวข้องกับทุกศาสตร์ อาทิ อาหาร เครื่องนุ่งห่มรวมถึงที่อยู่อาศัย ฯลฯ

เป็นที่มาของหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นเมื่อปี 2554-2564 โดย กทม.เป็นเจ้าของที่ดินใจกลางเมืองย่านทำเลทอง เขตปทุมวัน ขนาดพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ใช้งบประมาณก่อสร้างตัวอาคาร ค่าครุภัณฑ์ และระบบป้องกันทรัพย์สิน รวมทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวนกว่า 563 ล้านบาท มอบให้ผู้รับสิทธิ์ คือ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการนับตั้งแต่นั้น

ทว่าปัจจุบันหอศิลปฯ ภายใต้การบริหารของ ประวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปฯ กำลังประสบปัญหารายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย กำลังทำให้ไม่มีเงินไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ จำนวน 9 ล้านบาท อาจทำให้ในไม่ช้าห้องน้ำในหอศิลปฯ จะไม่มีน้ำและไฟฟ้าให้ประชาชนได้ใช้

ประวิตร เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้ กทม.แก้ไขหนังสือสัญญาปี 2554 ข้อ 8 ที่ระบุว่า บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษีใดๆ ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการหอศิลปฯ ตกเป็นความรับผิดชอบของผู้รับสิทธิ์ และผู้รับสิทธิ์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ทันตามเวลาที่กำหนด โดยให้เปลี่ยนเป็น กทม.เข้ามารับผิดชอบแทน

ทั้งนี้ หอศิลปฯ กำลังไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ทำให้ต้องตัดงบจัดนิทรรศการบางส่วนและดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด จากการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ถึงกลางปี 2562 เท่านั้น อาจต้องลดเวลาเปิดให้บริการ จากเดิมเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. เปลี่ยนเป็นเวลา 11.00-20.00 น. เพื่อประหยัดค่าไฟและค่าน้ำ

“การแก้ไขปัญหาระยะสั้นจะขอรับบริจาคเงินสนับสนุนจากประชาชนที่เดินทางมาใช้บริการ ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากสภา กทม. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี ไม่ยอมอนุมัติงบประมาณอุดหนุนปี 2562 ให้กับทางหอศิลปฯ เหมือนที่เป็นมาตลอด” ประวิตร กล่าว

ด้าน ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้อุดหนุนงบประมาณต่อเนื่องให้กับหอศิลปฯ เช่น ในปี 2560 เป็นเงินราว 45 ล้านบาท อยู่ในหมวดรายจ่ายอื่นของสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ต่อมาปี 2561 ได้จัดสรรงบ 8-9 ล้านบาท เป็นค่าน้ำค่าไฟ

ขณะที่การเสนอแผนเพื่อขอรับเงินอุดหนุนจากทางหอศิลปฯ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน มีเพียงตัวเลขที่เสนอเข้ามาเท่านั้น ทำให้ปี 2562 สภา กทม.มีข้อท้วงติงถึงความสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย หากมอบเงินอุดหนุนให้กับทางหอศิลปฯ เนื่องจากแผนงานขอเงินจากหอศิลปฯ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่านำเงินไปใช้เรื่องอะไรบ้าง จึงเป็นที่มาของการไม่สามารถอุดหนุนงบได้ อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่นิ่งนอนใจ มีการจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการว่า กทม.ต้องทำอย่างไรบ้าง

มูลนิธิหอศิลปฯต่ออายุ ระดมเงินบริจาคหาค่าน้ำ-ไฟ

เฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. ชี้แจงว่า โดยหลักแล้ว กทม.มีหน้าที่ให้เงินสนับสนุนในช่วงแรกเท่านั้น คือ 5 ปีแรกตามหนังสือสัญญาที่จัดตั้งหอศิลปฯ ขึ้นมา และเมื่อหอศิลปฯ ตั้งตัวได้เองแล้ว กทม.ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสนับสนุนอีก ยิ่งถ้าหอศิลปฯ ได้กำไรต้องคืนเงินทุกบาททุกสตางค์กลับมาให้ กทม.ด้วย แต่ที่ผ่านมาทางมูลนิธิหอศิลปฯ แจ้งว่าเงินกำไรหรือเงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะขอเก็บไว้ใช้จ่ายเองต่อไป ซึ่งตลอดมาที่ประชุมสภา กทม.ทุก
ยุคสมัยก็อนุญาตให้มาตลอด

ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มักเสนอเรื่องมาขอเงิน กทม.ปีละกว่า 70 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านกระบวนการพิจารณาของสภา กทม.แล้วมีมติให้เงินสนับสนุนปีละ 40 ล้านบาท เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยหอศิลปฯ แจ้งว่ามีรายจ่ายปีละประมาณ 70-80 ล้านบาท แต่ส่วนหนึ่งทางมูลนิธิฯ หาเงินมาได้เองปีละ 30 กว่าล้านบาท เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนของ กทม.อีก 40 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหารหอศิลปฯ ไปสรุปเอาเองว่ามีรายรับเพียงพอต่อรายจ่าย และไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ กลับมารายงานให้ กทม.รับทราบเลย

สำหรับผลจากการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญ ศึกษาการดำเนินการของหอศิลปฯ จำนวน 11 คน โดยมี คำรณ โกมลศุภกิจ รองประธานสภา กทม. เป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว พบว่า หอศิลปฯ อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ ซึ่งมูลนิธิฯ ต้องดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ได้รับมอบเสมอกับวิญญูชนพึงใช้และรักษา ส่วนบรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษี ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการหอศิลปฯ เป็นความรับผิดชอบของมูลนิธิฯ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ผู้รับสิทธิ์ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ดังนั้น กทม.จึงไม่สามารถตั้งงบประมาณไปอุดหนุนการดำเนินการของหอศิลปฯ ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ

ผลศึกษายังระบุว่า มูลนิธิฯ ต้องยอมจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายปีให้แก่ กทม. โดย กทม.จะคำนวณและแจ้งให้มูลนิธิฯ ทราบภายในเดือน มี.ค.ของทุกปี แต่ปรากฏว่ามูลนิธิฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดแห่งสัญญา เนื่องจากมูลนิธิฯ ได้นำพื้นที่ภายในหอศิลปฯ และพื้นที่หลายแห่งภายในอาคารไปให้บุคคลอื่นเช่าและเก็บค่าธรรมเนียมที่จอดรถ โดยไม่แจ้งให้ กทม. เพื่อขอความเห็นชอบจากสภา กทม. อีกทั้ง กทม.ไม่เคยมีการคิดคำนวณค่าตอบแทน เรียกเก็บจากทางมูลนิธิฯ

ฝั่ง กทม.สรุปชัดว่า มูลนิธิฯ ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ลงนามร่วมกับ กทม.ไว้ตั้งแต่ต้น จึงเป็นที่มาของการเสนอขอให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงปี 2554 ดังนั้นหากหอศิลปฯ ต้องการงบอุดหนุนจาก กทม. จำเป็นต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะรอดพ้นจากภาวะไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้