posttoday

ธปท.ยันศก.ไทยเติบโตสูงสุดในรอบ10ปี

03 ตุลาคม 2561

ผู้ว่าการ ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3 ไตรมาส และกระจายตัวมากขึ้น ด้านตลาดเงินยังผันผวนจากปัจจัยเสี่ยง

ผู้ว่าการ ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3 ไตรมาส และกระจายตัวมากขึ้น ด้านตลาดเงินยังผันผวนจากปัจจัยเสี่ยง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการสัมมนาประจำปี ฟิทช์ เรทติ้งส์ 2018 ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกันและกระจายตัวมากขึ้น การเติบโตในภาคการส่งออกเริ่มส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามจากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น โดย ธปท.คาดการณ์จีดีพีปี 2561 ขยายตัว 4.4% และปี 2562 ขยายัว 4.2% เป็นอัตราเติบโตสูงสุดตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

"ธปท.พยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจ บางครั้งอาจเข้าไปดูแลเพื่อลดความผันผวนของตลาดบ้าง แม้ว่าเสถียรภาพจะแข็งแกร่งทุนสำรองอยู่ระดับสูงเช่นเดียวกับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 7% ของจีดีพี" นายวิรไท กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มภาวะตลาดการเงินมีความผันผวนอย่างมากจาก 4 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับปกติ สงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงในประเทศจากการคงดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน

ทั้งนี้ ทั่วโลกมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับปกติภายในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทำให้มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายประเทศในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน คาดว่าจะมีผลกระทบในปี 2562 โดยเฉพาะประเทศที่เป็นห่วงโซ่การผลิตทั่วภูมิภาค ผลจากการส่งออกชะลอตัวอาจกระทบกับการลงทุนภาคเอกชนเช่นกัน ทำให้ไม่เกิดการจูงใจให้เอกชนลงทุนยกระดับเทคโนโลยี

สำหรับปัจจัยในประเทศ การคงดอกเบี้ยต่ำมีความเสี่ยง แม้ระบบการเงินไทยจะมีความแข็งแกร่ง แต่มีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแสวงหาผลตอบแทนสูงและการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรเพราะการคงดอกเบี้ยต่ำ

ด้านนายเจมส์ แมคคอร์แมก กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายประเมินความเสี่ยงความน่าเชื่อถือระดับประเทศและระหว่างประเทศ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้มากกว่า 4% จาก 2 ปัจจัยหลักได้แก่ การบริโภคในประเทศและการส่งออกที่เติบโตได้ดี ส่วนการจัดอันดับเรตติ้งของประเทศไทย ในเรื่องปัจจัยการเมืองไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่นำมาพิจารณา ดังนั้นแม้การเมืองไทยจะมีเสถียรภาพดีขึ้น ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะพิจารณาปรับอันดับ ซึ่งการจัดอันดับ เรตติ้งของบริษัทจะเน้นเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นและการเมืองมีเสถียรภาพก็จะทำให้การจัดอันดับเครดิตของไทยดีขึ้นไปด้วย.