posttoday

กฎเหล็กเลือกตั้งท้องถิ่น ทุจริตตัดสิทธิ 10 ปี

01 ตุลาคม 2561

เปิดสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันที่ 4 ต.ค.นี้

เปิดสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันที่ 4 ต.ค.นี้

*****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 4 ต.ค. จะมีการพิจารณารับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในวาระที่ 1 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่บทเฉพาะกาลในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 141 ที่กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด โดยถ้า คสช.ตัดสินใจได้แล้ว มีหน้าที่ต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบ
จากนั้น กกต.จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป

ที่สำคัญภายหลัง กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ประกาศและคำสั่งของ คสช.จำนวน 6 ฉบับ ในส่วนที่เกี่ยวกับการงดการจัดให้มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และกำหนดวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นสิ้นผลบังคับ

กลิ่นไม่ดีเลือกใหม่ทันที

ขณะที่บททั่วไปเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ตามร่างกฎหมายยังคงให้อำนาจหน้าที่แก่ กกต.ในการควบคุมการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตและความยุติธรรม

มาตรา 16 กำหนดให้ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

แต่ถ้าในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนกล่าวโทษหรือไม่ ให้ กกต.ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนให้แล้วเสร็จ หรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วแต่กรณีโดยเร็ว

กำหนดคุณสมบัติเข้ม

ส่วนการกำหนดเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น มาตรา 18 ได้แบ่งหลักเกณฑ์พอสังเขปดังนี้

1.การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้ถือเขตเป็นเขตเลือกตั้งถ้าเขตใดมีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเกิน 1.5 แสนคน ให้ กกต.แบ่งตั้งเลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่จะพึงมี

2.การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้ถือเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่อำเภอใดมีสมาชิกได้เกินกว่า 1 คน ให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เท่ากับจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีในอำเภอนั้น

นอกจากนี้ การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามร่างกฎหมายดังกล่าว ยังได้นำมาตรฐานแบบเดียวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.มาใช้ด้วย

เช่น ต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือลงโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำทุจริตเลือกตั้ง เป็นต้น

ทุจริตตัดสิทธิ 10 ปี

ขณะที่การกำหนดพฤติกรรมที่เป็นความผิดฐานทุจริตเลือกตั้งของการเลือกตั้งท้องถิ่นก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับการเลือกตั้ง สส.เช่นกัน

มาตรา 63 บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ไม่เพียงเท่านี้ ห้ามไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมใหม่ที่มีลักษณะเป็นการชักจูงใจให้มาลงคะแนนให้แก่ตนเองภายใน 90 วัน ก่อนวันครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือก่อนการลาออกจากตำแหน่ง เว้นแต่เป็นโครงการบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติสาธารณะ หรือเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องปกติอยู่แล้ว หรือเป็นโครงการที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

การฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี