posttoday

โลกออนไลน์ พื้นที่อันตรายของผู้ป่วยซึมเศร้า

25 กันยายน 2561

กระแสข่าวด้านลบของโลกโซเชียลที่มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ข้อมูลทางวิชาการที่พบว่าปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดโลกโซเชียลมีมากขึ้นเรื่อยๆ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กระแสข่าวด้านลบหรือด้านมืดของโลกโซเชียลที่มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ทั้งกรณีไลฟ์สดการฆ่าตัวตาย ข้อมูลทางวิชาการที่พบว่าปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดโลกโซเชียลมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าในหมู่เด็กวัยรุ่นหญิง

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาแสดงความห่วงใยพฤติกรรมโพสต์ภาพเซลฟี่โดยใช้แอพเติมแต่งความสวย สดใส ก่อนโพสต์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากยอดไลค์ ที่จะทำให้เสี่ยงเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง เกิดความกังวล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ระบุว่า แม้โลกออนไลน์จะมีด้านดีหรือด้านบวกมากกว่าด้านลบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าภาวะซึมเศร้านั้นถูกพบร่วมกับอาการติดเกมหรือติดโลกออนไลน์

“แม้เด็กที่ติดเกมหรืออินเทอร์เน็ตจะเลิกไม่ได้ แต่ลึกๆ พวกเขาก็รู้สึกผิด ซึ่งนำไปสู่โอกาสที่ทำให้เกิดโรคร่วมอย่างโรคซึมเศร้า ที่กลายเป็นปัจจัยภายในที่ยิ่งซ้ำเติมให้มีอาการมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถหามาตรการป้องกันเด็กกลุ่มนี้ก็คือ การวางกติกาการใช้งานอินเทอร์เน็ตร่วมกัน การกำหนดช่วงเวลาในการทำงานร่วมกันเป็นกติกา จะส่งผลให้เราใช้สมองในส่วนคิดมากกว่าส่วนอารมณ์ การสร้างจุดแข็งในการอยู่ร่วมกับอินเทอร์เน็ต โดยครอบครัวนั้นนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก”

นพ.ยงยุทธ บอกว่า ครอบครัวต้องยึดหลักปฏิบัติ 3 ต้อง 3 ไม่คือต้องกำหนดเวลาเล่น ต้องตกลงโปรแกรมให้กับลูก ต้องเล่นกับลูกบ้าง ไม่เป็นตัวอย่างที่ผิด ไม่เล่นในเวลาครอบครัว เช่น เวลาทานข้าว และไม่ใช้ในห้องนอน

“สาเหตุที่ควรจะห้ามไม่ให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตในห้องนอน เพราะเด็กกลุ่มติดเกมสารภาพเองว่าการท่องโลกออนไลน์ในห้องนอนนั้นทำให้เข้าสู่ภาวะควบคุมตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องกำหนดขอบเขตเหล่านี้ในครอบครัว”

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า แม้การดูแลลูกจะเปลี่ยนไปจากเดิมในหลายเรื่อง แต่ชีวิตเด็กวัยรุ่นก็ยังต้องการการดูแลจากผู้ปกครอง การปล่อยให้พวกเขาอยู่ตามลำพังกับโลกออนไลน์ทำให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มเด็กเปราะบางที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาและภัยรูปแบบต่างๆ ในโลกออนไลน์

นพ.ยงยุทธ บอกว่า การเสพติดอินเทอร์เน็ตแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ 1.การเสพติดการพนัน 2.เสพติดสังคมออนไลน์ 3.ติดเกม 4.เสพติดข่าวและการหาข้อมูลเสพข่าวซ้ำไปมาไม่สามารถควบคุมตนเองได้ 5.ความบันเทิงรูปแบบต่างๆ

“ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้กำหนดการเสพติดโลกออนไลน์เป็นปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งอาการเสพติดนั้นพิจารณาได้จากใช้เวลากับการเล่นที่มากและหลายชั่วโมง ไม่สามารถควบคุมตนเองจนเสียหน้าที่การงาน ซึ่งการคาดการณ์ในอนาคตพฤติกรรมนี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และหากพบหรือสงสัยว่ามีอาการเสพติดโลกออนไลน์จนเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ก็จำเป็นที่จะต้องพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษาที่ถูกต้อง” นพ.ยงยุทธ กล่าว

ด้าน สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักวิชาการด้านจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การใช้โลกออนไลน์สำหรับเด็กวัยรุ่นทั่วไป ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนักหรือเสี่ยงต่ออาการป่วยนัก โดยเฉพาะหากผู้ใช้ไม่ได้หมกมุ่นหรือให้ความสำคัญกับตัวตนของตัวเองในโลกออนไลน์ ต้องการการยอมรับมากเกินไป

“ส่วนที่น่ากลัวไม่ใช่โลกออนไลน์เสียทีเดียว แต่เป็นกลุ่มคนที่ใช้โลกออนไลน์ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ในโลกออนไลน์ เด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสหลงทาง ไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ กลายเป็นคนที่นึกเอาเอง จากโลกที่เขาเห็นในโลกออนไลน์ ที่สุดก็ไปลอก หรือมีพฤติกรรมเลียนแบบสิ่งที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมา โดยที่หลงลืมไปว่า วิธีการดังกล่าวจะสร้างปัญหาอะไรตามมาบ้าง และกลายเป็นคนที่นึกถึงแต่สิทธิของตัวเอง ไม่สนใจสิทธิของคนอื่น พร้อมที่จะแสดงตัวตนกลั่นแกล้งคนอื่นๆ ในโลกออนไลน์ ก็ยิ่งทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” นักวิชาการด้านจิตวิทยา กล่าว

นี่คือประเด็นข้อห่วงใยสำคัญของการเสพติดโลกออนไลน์ ซึ่งแม้ว่าจะส่งผลเสีย แต่โลกออนไลน์ก็มีประโยชน์อย่างมากเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องหาวิธี ต้องดึงเยาวชนให้ถอยห่างออกมาในระยะที่เหมาะสม เพื่อให้ใช้โลกออนไลน์ได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์