posttoday

กทม.เปิดตัว"นักสืบตาสับปะรด" เพิ่มช่องทางจัดระเบียบสังคม

23 กันยายน 2561

"นักสืบตาสับปะรด" โครงการล่าสุดของกทม. ที่หวังดึงประชาชนร่วมจัดระเบียบเมือง พร้อมให้ส่วนแบ่งค่าปรับแก่ผู้แจ้งเบาะแส

"นักสืบตาสับปะรด" โครงการล่าสุดของกทม. ที่หวังดึงประชาชนร่วมจัดระเบียบเมือง พร้อมให้ส่วนแบ่งค่าปรับแก่ผู้แจ้งเบาะแส

***************************

โดย....นิติพันธุ์ สุขอรุณ

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงแห่งนี้ยังคงมีหลากหลายเรื่องราวความเดือดร้อนไม่เป็นระเบียบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางเท้าไม่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ปัญหาขยะ น้ำท่วมขัง ไปจนถึงต้นไม้ริมถนน แม้ว่าจะมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคลากรของ กทม. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยดูแลแก้ปัญหาให้กับประชาชนแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์

เป็นที่มาของการตั้งโครงการ “นักสืบตาสับปะรด” เพื่อต้องการให้กรุงเทพฯ มีความสะอาด เป็นระเบียบ แก้ปัญหาในทุกจุดที่เกิดขึ้นทั่วเมือง จึงดึงประชาชนเข้ามาร่วมเครือข่ายเป็นนักสืบ คอยสอดส่อง
ปัญหาและส่งเรื่องเข้ามาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าไปแก้ไข

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า นักสืบตาสับปะรด เป็นโครงการที่ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ที่เล่นเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นในโลกสังคมออนไลน์ เข้ามาสมัครเป็นนักสืบแจ้งเหตุความเดือดร้อนที่พบเห็น เช่น การก่อมลพิษ ทิ้งขยะในที่สาธารณะ การใช้พลังงานสิ้นเปลือง หลอดไฟไม่ติด พื้นที่เปลี่ยวรกร้าง สถานที่ล่อแหลมเสี่ยงอาชญากรรม และการขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า หรือเห็นใครทำความดีสามารถแจ้งข่าวเข้ามาเพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำดีได้อีกด้วย

“ผมอยากให้คน กทม.มาช่วยกันสอดส่อง เป็นหูเป็นตา เพื่อทำให้เมืองสะอาดเป็นระเบียบ ปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ใช้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่แสดงออกถึงการทำความดี และช่วยเหลือดูแลสังคม หากสมาชิกคนไหนส่งข่าวสารและทำความดีอย่างสม่ำเสมอ กทม.จะส่งใบประกาศเกียรติคุณทำความดีบนโลกดิจิทัลไปยังหน้าเฟซบุ๊กของสมาชิกดีเด่นด้วย” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการ กล่าวว่า โครงการนักสืบอาศัยหลักพฤติกรรมศาสตร์คือ ผู้ที่คอยดูแลสอดส่อง ตรวจสอบการกระทำผิดของผู้อื่น แต่ที่สำคัญคนคนนั้นจะต้องไม่กระทำผิดเสียเอง จึงเชื่อว่าจะมีประชาชนคอยดูแลปกป้องบ้านเมืองขยายออกไปเป็นวงกว้าง โดยเริ่มต้นจากดึงกลุ่มนักเรียน โรงเรียนในสังกัด กทม. จำนวน 437 แห่ง กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพเข้ามาลงทะเบียนเป็นสมาชิก

กทม.เปิดตัว"นักสืบตาสับปะรด" เพิ่มช่องทางจัดระเบียบสังคม

ขั้นตอนการสมัครเป็นนักสืบ เริ่มที่พิมพ์ค้นหา “นักสืบตาสับปะรด” บนหน้าเฟซบุ๊ก แล้วกดไลค์ กดลงทะเบียน กรอกข้อมูลออนไลน์ แล้วรอรับรหัสสมาชิก เมื่อได้รหัสสมาชิกแล้วสามารถส่งข้อมูลข่าวสาร ระบุพิกัดจุดเกิดเหตุ รูปภาพความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เช่น การทิ้งขยะมูลฝอย การก่อมลพิษ ฯลฯ เข้ามาทางช่องแชตเฟซบุ๊ก จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานเรื่องราวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจ้งผลการแก้ไขปัญหากลับมาให้สมาชิกทราบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การประเมินผลของโครงการนักสืบตาสับปะรด คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่มีสมาชิกแล้วกว่า 5,000 คน เพื่อชี้วัดผลสำเร็จด้วยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น และจำนวนเรื่องที่ถูกส่งเข้ามา

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวอีกว่า นักสืบตาสับปะรดถือเป็นการเพิ่มช่องทางการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน แตกต่างตรงที่กลุ่มผู้แจ้งสายด่วน 1555 หรือไลน์แอด “อัศวินคลายทุกข์” ส่วนใหญ่เป็นผู้ประสบความเดือดร้อนหรือมีทุกข์ แต่โครงการนักสืบตาสับปะรดเป็นการร่วมสอดส่อง เพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมของสังคม เช่น ไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อนโดยตรง แต่ผ่านไปเห็นปัญหา ซึ่งกระทบส่วนรวม สามารถแจ้งเข้ามาในเพจเฟซบุ๊กได้ทันที

ขณะที่สถิติการใช้บริการแจ้งเบาะแสเรื่องร้องเรียนเพื่อรับเงินรางวัลนำจับผ่านไลน์แอด “รางวัลนำจับ” มีประชาชนเข้าร่วมแล้วจำนวน 107,537 ราย ในส่วนนี้มีการแจ้งเบาะแสและได้รับแจ้งเป็นคดีแล้ว 7,919 คดี เปรียบเทียบปรับแล้ว 506 คดี รวมยอดค่าปรับ 170,540 บาท โดยมีประชาชนผู้แจ้งเบาะแสติดต่อขอรับส่วนแบ่งแล้ว 395 คดี เป็นเงิน 137,640 บาท และยังคงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่า กทม.ไม่ต้องการจับปรับใคร แต่ต้องการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับผู้คนในสังคม